8 ส.ค.63-นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่าสำหรับประเด็นที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะมีการเรียบผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ กลับมาทดสอบความพร้อมในการขับขี่นั้น เป็นเรื่องที่ภาควิชาการพูดถึงกันนานแล้ว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการระวังป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน
นายสุเมธ กล่าวว่าที่ผ่านมาจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันนี้ทั่วโลก ไม่มีการออกใบอนุญาตในลักษณะตลอดชีพแล้ว รวมทั้งประเทศที่เคยออกใบอนุญาตตลอดชีพ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ เมื่อผู้ถือใบขับขี่เข้าสู่วัยสูงอายุ ประเทศญี่ปุ่นมีการรณรงค์ให้บุคคลเหล่านี้ คืนใบอนุญาตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม เนื่องจากที่ผ่านมา การออกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพนั้น ต้องยอมรับว่าเมื่อผู้ถือใบอนุญาตเข้าสู่ช่วงสูงวัย แน่นอนความสามารถในการขับขี่ยอมลดลง รวมทั้งโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ ที่ไม่เคยเป็นก็อาจจะเกิดมีโรคเหล่านี้ขึ้นได้
อย่างไรก็ตามในการจัดทำโครงการของกรมการขนส่งทางบก ทีดีอาร์ไอ. เห็นว่าควรเริ่มจากการจัดชั้นอายุผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่นอายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มแรก เพื่อนำข้อมูลมาประเมินผลการทดสอบ หลังจากนั้นอาจจะขยับอายุลงมาตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพที่อายุยังไม่ถึง 60 ปีนั้น อาจยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการก็ได้ เนื่องจาก ส่วนหนึ่งก็จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการทดสอบจำนวนมากตามมา
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดในการเปลี่ยนใบขับขี่ตลอดชีพจากบัตรแบบกระดาษมาเป็นแบบสมาร์ทการ์ด มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ฐานข้อมูลผู้ถือใบขับขี่มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบันมากขึ้น เพราะผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและอยู่ในฐานข้อมูลระบบเดิม โดยหากมาเปลี่ยนเป็นแบบสมาร์ทการ์ดที่มี QR Code แล้ว กรมการขนส่งทางบกจะมีฐานข้อมูลผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปต่อยอดพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยครอบคลุมทุกมิติ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ
ทั้งนี้ในส่วนการทดสอบสมรรถภาพผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพใหม่ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน เพราะการกำหนดให้กลับมาทดสอบเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามที่มาของแนวคิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่ของประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีความพร้อมเพียงพอ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงต้องหารือกับทุกฝ่ายทีเกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อให้มีความรอบเหมาะสมในการดำเนินการ
นายจิรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้กรมการขนส่งทางบก มีความเข้มข้นในกระบวนการก่อนออกใบอนุญาตขับรถ ด้วยการให้มีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ประกอบด้วย การทดสอบความสามารถในการมองเห็นสัญญาณไฟจราจร ความสามารถในการใช้สายตาทางลึก ความสามารถในการใช้สายตาทางกว้าง และปฏิกิริยาในการใช้เบรก
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกเห็นถึงความสำคัญในการใช้รถร่วมกันกับผู้สูงอายุ แนวทางการอบรมได้เพิ่มเนื้อหาอบรมให้ทราบถึงลักษณะและสภาวะการใช้รถของผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีในการใช้รถร่วมกันระหว่างวัยที่แตกต่างกัน และในอนาคต กรมการขนส่งทางบกยังได้จัดทำแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ 7 มิติด้วยกัน โดยเฉพาะมิติที่ 1 ในเรื่องการกำหนดสภาวะของโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ และมิติที่ 2 การประเมินสภาวะของร่างกายที่มีผลต่อการขับรถ (Medical Fitness to Drive) ซึ่งทั้งสองมิติดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและแพทยสภา โดยเฉพาะเมื่อผู้ขับขี่สูงอายุมากขึ้น สภาวะของโรคที่เกิดตามมาและสภาวะร่างกายอาจเป็นอุปสรรคต่อการขับรถได้ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกที่ดีการใช้รถที่ปลอดภัยร่วมกันในท้องถนน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |