ประกาศ70สุดยอด หนังไทยในสมัยร.9


เพิ่มเพื่อน    

    วธ.ประกาศ 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ 9 นำร่องเผยแพร่ 10 เรื่อง จัดฉายให้ประชาชนชมฟรี ที่โรงหนังสกาลา หอภาพยนตร์ฯ เผยหมดยุคฟิล์ม เร่งอนุรักษ์มรดกชาติ-ขอแรงประชาชนค้นหาตัวหนังที่สูญหาย 
    ที่ห้องดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันที่ 18 เมษายนนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แถลงข่าวโครงการเผยแพร่สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 ว่า คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ ได้มีมติเห็นชอบรายชื่อภาพยนตร์ไทย 70 เรื่อง เป็นสุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อวงการภาพยนตร์ไทย โดยพิจารณาจากภาพยนตร์เรื่องยาวที่จัดฉายและเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ของไทย ในช่วงเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี คือตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2489-13 ต.ค.2559 จำนวนรวมกว่า 5,000 เรื่องที่มีความโดดเด่น เช่น ได้รับรางวัลระดับประเทศหรือนานาชาติ ทำสถิติรายได้การขายบัตรชมสูงสุด 5 อันดับแรกของปี สร้างแรงบันดาลใจต่อผู้ชม สะท้อนถึงชีวิตคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 และทรงคุณค่าทางศิลปะ
    นายวีระกล่าวว่า การคัดเลือกครั้งนี้มีประชาชนร่วมเสนอรายชื่อภาพยนตร์เข้ามาถึง 29,844 คน จำนวน 359 เรื่อง โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการภาพยนตร์และศิลปินแห่งชาติได้ร่วมกันคัดเลือก และนำเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเห็นชอบประกาศเป็นสุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 จำนวน 70 เรื่อง อาทิ สันติ-วีณา พ.ศ.2497 กำกับโดย มารุต (ทวี ณ บางช้าง) เล็บครุฑ พ.ศ.2500 กำกับโดย สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ เรือนแพ พ.ศ.2504 กำกับโดย พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ พ.ศ.2517 กำกับโดย สมโพธิ แสงเดือนฉาย วัยอลวน พ.ศ.2519 กำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ น้ำพุ พ.ศ.2527 กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ด้วยเกล้า พ.ศ.2530 กำกับโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล บางระจัน พ.ศ.2543 กำกับโดย ธนิตย์ จิตนุกูล โหมโรง พ.ศ.2547 กำกับโดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ.2550 กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พี่มาก...พระโขนง พ.ศ.2556 กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล พระมหาชนก พ.ศ.2557 กำกับโดย เกรียงไกร ศุภรสหัสรังสี ธัญชนก สุบรรณ ณ อยุธยา นพ ธรรมวานิช และเพลงของข้าว พ.ศ.2558 กำกับโดย อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ เป็นต้น
    โดยหลังจากนี้จะมีการจัดพิมพ์หนังสือ จัดนิทรรศการและจัดฉายให้ประชาชนได้รับชมฟรี แบ่งเป็นส่วนกลางจัดฉาย 10 เรื่อง ที่โรงภาพยนตร์สกาลา สยามสแควร์ วันที่ 24-27 เม.ย.นี้ ส่วนภูมิภาค 9 เรื่อง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต และโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 7 พ.ค.-23 มิ.ย. รวมทั้งเผยแพร่ในเทศกาลภาพยนตร์ไทยต่างประเทศ  
    ด้าน น.ส.ชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) อนุกรรมการพิจารณาคัดเลือก กล่าวว่า หนังไทย 70 เรื่องที่ผ่านการกลั่นกรอง สะท้อนหนังในความทรงจำตลอด 70 ปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ ทุกเรื่องเป็นหนังทรงคุณค่าทางศิลปะและเนื้อหาน่าสนใจ ทั้งนี้ จะมี 10 เรื่องที่จัดฉายนำร่อง ณ โรงภาพยนตร์สกาลา สยามสแควร์ โรงหนังคลาสสิกสุดๆ ของประเทศไทยอย่าง เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ฉายเมื่อ 20 ปีก่อน หนังได้เปลี่ยนทัศนคติคนไทย เดิมมีอคติหนังไทยโปรดักชั่นสู้หนังฮอลลีวูดไม่ได้ แต่เรื่องนี้เปิดศักราชใหม่ให้วงการหนังได้อย่างสวยงาม ทำรายได้สูงกว่า 70 ล้านบาท คนหันกลับมาดูหนังไทย นักแสดงหน้าใหม่แจ้งเกิดและกลายเป็นพระเอก ดาราดังจนทุกวันนี้ อีกเรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ของผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล แม้ตอนฉายจะทำรายได้น้อย แต่ได้รับยกย่องเป็นหนังคลาสสิกทรงคุณค่า เป็นงานดีของบัณฑิต ซึ่งไม่ได้สร้างแต่หนังคอมิดีเรื่องบุญชู ฟิล์มเรื่องนี้อยู่ในสภาพที่ดีมาก ภาพยนตร์อีกเรื่องคือ สุดสาคร กำกับโดย ปยุต เงากระจ่าง เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย เบื้องหลังเป็นผลงานจากหยาดเหงื่อและน้ำตาของผู้สร้าง ขมขื่นกับคำถามว่า ทำไมการ์ตูนต้องแพง ตัวการ์ตูนไม่ต้องกินข้าว ซึ่งหอภาพยนตร์ฯ มีแผนงานบูรณะให้หนังเรื่องนี้อยู่ในสภาพที่ดีในระบบดิจิตอล ส่วนสุดยอดภาพยนตร์ที่เหลือจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดฉายให้ครบภายในปีนี้
    “หนัง 70 เรื่อง หลายเรื่องไม่มีตัวฟิล์ม อย่างเรื่องเล็บครุฑ นกน้อย ลูกทาส ส่วนเรื่องสุภาพบุรุษเสือไทย มีเบื้องหลังการสร้าง เป็นหนังยุค 16 มิลลิเมตร อาจจะสูญหายหรือเสียหายไปแล้ว ส่วนเรื่องแม่นาคพระโขนง เป็นหนังที่บูรณะแต่แรก ก็ยังคงมีร่องรอยความชอกช้ำหลายอย่าง ปัจจุบันฟิล์มกำลังหมดยุคไป ไม่มีโรงหนังรองรับการฉายด้วยฟิล์มแล้ว หากประชาชนพบเจอหนังไทยให้ติดต่อหอภาพยนตร์ฯ เพื่ออนุรักษ์เป็นมรดกของชาติ ไม่แน่อาจเป็นหนังหลายๆ เรื่องที่กำลังตามหา" นางสาวชลิดากล่าว.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"