ช่วงนี้...เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicles : EV กำลังมาแรง หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจ บางรายถึงขึ้นประกาศแผนการลงทุนเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ จนทำให้หลายๆ คนเข้าใจว่า กำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนถ่ายจากยุคน้ำมันสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผ่านมา ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เล่าประสบการณ์ตรงจากการเข้าร่วมประชุม The Eight IEA -IEF – OPEC Symposium on Energy Outlooks ณ กรุงริยาด เมืองหลวงของประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่ง สนพ.ในฐานะตัวแทนของกระทรวงพลังงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านพลังงานจึงได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะได้เข้าร่วมประชุมแล้ว ยังมีโอกาสศึกษาดูงานที่ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียอีกด้วย
สำหรับบริษัท Saudi Aramco นั้นประกอบธุรกิจน้ำมันแบบครบวงจร เป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันและร่วมทุนกับต่างประเทศรวม 9 แห่ง สามารถผลิตน้ำมันดิบได้กว่า 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีมูลค่าธุรกิจรวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 64 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าทางธุรกิจสูงกว่าบริษัทระดับต้นของโลกอย่างกูเกิล, ไมโครซอฟท์ และแอปเปิล รวมกันเสียอีก
สำหรับมุมมองที่น่าสนใจของบริษัทน้ำมันยักษ์แห่งนี้ เกี่ยวกับการเข้ามาของพลังงานรูปแบบใหม่ที่จะมาใช้กับรถยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ คือ โลกยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากยุคของน้ำมัน ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้า และเชื่อมั่นว่าน้ำมันดิบยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ถึงแม้ว่าสำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (ไอรีนา) จะออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน มีแผนลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ หลังจากประสบปัญหามลพิษในเมืองใหญ่มาเป็นเวลานาน จนทั่วโลกต้องหันมามองตามคำพูดที่ว่า เมื่อจีนขยับ โลกก็ต้องขยับด้วย หรือแม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นเอง ที่ถูกมองเป็นม้ามืดในการพัฒนาเทคโนโลยีจนติด 1 ใน 3 ศูนย์กลางพลังงานสะอาดจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่หันมาใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าน้ำมัน แต่ก็เชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศก็ยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับกันว่า เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังถือเป็นเรื่องใหม่ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่องสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการเติบโตของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ถึงกับเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย และยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ยังไม่พร้อมต่อการใช้งานทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ และระบบพื้นฐานในการรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว ประกอบกับเทคโนโลยีพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ ยังมีต้นทุนสูง ดังนั้น จะมีประโยชน์อย่างไร เมื่อทั่วโลกหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังต้องใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่
ดังนั้นการที่การเปลี่ยนถ่ายจากยุคน้ำมันไปสู่ยุคไฟฟ้า ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าประเทศนั้นๆ ต้องมีความพร้อมรอบด้านที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วย ไม่ใช่แค่มีเงินซื้อรถ มีเงินซื้อไฟฟ้า ก็จะสามารถใช้ได้ เพราะถ้าหากทั้งประเทศหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาพลังงานมาป้อนให้ประเทศ จะเอาอะไรมาผลิตไฟฟ้า ถ้าไม่ใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ
สิ่งสำคัญในขณะนี้ ที่ควรพัฒนาและส่งเสริมควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) คือการส่งเสริมให้ประชาชนรู้และเข้าใจถึงการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการซื้อเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า และถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะผลักดันให้การใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีความสมดุลและประหยัด เกิดคุณค่าสูงสุด ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระอย่างเสียไม่ได้
และที่ขาดไม่ได้คือ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะร่วมมือเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้น อะไรมีความเหมาะสมและคุ้มค่า อะไรที่เพิ่มต้นทุน ไม่ใช่แค่คนแค่ขยิบมือมาคัดค้านไม่เอาถ่านหิน แค่นั้นรัฐบาลก็เฮโลพร้อมที่จะไม่เอากับเค้าไปด้วย ทั้งๆ ที่ขั้นตอนต่างๆ เดินหน้าจนเกือบจะสุดทางเดิน ต้องหันกลับไปเริ่มต้นใหม่ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา
และเมื่อเริ่มต้นใหม่แล้วก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะได้สร้างหรือชะลอเวลากันไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |