7 ส.ค. 63 - เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ITAทางออกประเทศไทย สู่การยกระดับ CPI” ของนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) โดยมีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน พร้อมบรรยายพิเศษตามหัวข้อดังกล่าว โดยระบุว่า ที่ผ่านมารัฐกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะ 3 ปี 60-64 ภายใต้วิสัยทัศน์สร้างธรรมาภิบาลและการยอมรับจากทุกภาคส่วน ด้วยการปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์ และส่งเสริมภาคีการมีส่วนร่วมต่อต้านทุจริต จากนโยบายดังกล่าวป.ป.ช.ได้จัดหลักสูตรนยปส. โดยหวังให้ผู้ผ่านการอบรมกลายเป็นผู้นำต้นแบบ“ซีโร่คอรัปชั่น” บรรลุจุดประสงค์การเป็นผู้มีจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
พล.ต.อ.วัชรพล เผยถึงค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยในปี 62 ได้คะแนนอยู่ที่ 36 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ระยะ 3 และแผนแม่บทของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 20 ปี จึงต้องมีกำกับและติดตามรายงานของรัฐในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตของรัฐบาล โดยใช้เครื่องมือประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ (ITA) เพื่อยกระดับคะแนน CPI ซึ่งปี 65 ตั้งเป้าหมายได้คะแนนไม่น้อยกว่า 50 คะแนน มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐลดลง 10% ต่อปี การทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลดลง 25% และเหลือ 10% ขณะที่ในปี 80 ตั้งเป้าได้ 100 คะแนนเต็ม แม้ยากแต่นับเป็นเรื่องท้าทาย
นอกจากนี้ ยังวางเป้าหมายขยับอันดับติด 1 ใน 20 ประเทศที่มีความโปร่งใสการบริหารจัดการปัญหาทุจริตภายใน 15 ปีหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสถิติที่ผ่านมาประเทศไทยได้คะแนน 30 กว่าไม่เคยถึง 40 คะแนน ทำให้ยังมีข้อท้วงติงความเป็นไปได้ที่จะติด 1 ใน 20 แต่ก็เป็นภารกิจใหญ่ที่ท้าทายว่าประเทศไทยจะยกระดับคะแนน CPI ได้มากแค่ไหน ทั้งนี้ บริบทการทำงานของ ป.ป.ช.ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และตามรัฐธรรมนูญมอบภารกิจ“ตรวจรับคำกล่าวหา”ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและการทุจริตต่อหน้าที่ โดยในปี 2562 ให้ป.ป.ช.รับเรื่องกล่าวหาการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 13,082 เรื่อง ป.ป.ช.รับไว้พิจารณาเอง 3,258 เรื่อง มีการกล่าวหาการทำงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรวม 236,000 ล้านบาท แม้จะมีมูลเพียงร้อยละ 25-50 แต่ก็ตอกย้ำคะแนน CPI ที่ได้ 36 จาก 100 ซึ่งยังน่าเป็นห่วง
พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวถึงรายละเอียดย่อยในแผนแม่บทว่าต้องเน้นการพัฒนา 2 ด้าน คือ การพัฒนาคน โดยการปรับพฤติกรรมทุกกลุ่มให้มีจิตสำนึกต่อต้านการทุจริต ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้เครื่องมือ ITA เน้นส่งเสริมการมีธรรมาภิบาล การจัดการภาครัฐเพื่อแยกประโยชน์ส่วนตัวจากประโยชน์ของรัฐ ส่วนกลุ่มนักการเมืองจะต้องประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนก่อนเข้ารับตำแหน่ง อีกด้านคือการพัฒนาระบบแก้ไขปัญหาทุจริต ส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใส โดยหลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลจะมุ่งเน้นการปราบปรามทุจริตให้องค์กรอื่นสามารถเข้ามาตรวจสอบคุณธรรมและความโปร่งใสได้ด้วย ซึ่งในปีนี้มีผู้ทำการประเมิน ITA มากกว่า 1.1 ล้านรายแล้ว ในจำนวนนี้ครอบคลุมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอก คาดว่าจะแถลงคะแนน ITA ของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ภายในเดือนก.ย.นี้
“สิ่งที่กดดันป.ป.ช.คือพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมปี 61 มาตรา 48 เรื่องการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ให้ไต่สวนคดีให้เสร็จภายใน 2 ปี และสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 1 ปี หากดำเนินการไม่เสร็จสิ้นอาจถูกพิจารณาความผิดทางวินัยว่ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายถึงการยุติคดีหรือไม่ไต่สวนต่อ คดียังสามารถไต่สวนได้ตามอายุความ ขณะนี้ใกล้ครบ 3 ปีแล้วมีเรื่องที่ป.ป.ช.รับไว้ก่อนปี 61 และยังไม่ได้ชี้มูลความผิด 1,800 เรื่อง ปกติป.ป.ช.สามารถพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้เพียงปีละ 400 เรื่อง ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อลดจำนวนคดีให้ทันตามกรอบเวลาของกฎหมาย”
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า หากต้องการให้การประเมิน ITA ตอบโจทย์ได้จริงจำเป็นต้องมีการสังเคราะห์ข้อมูลให้เห็นปัจจัยความสำเร็จ หรือข้อด้อยที่ต้องปรับปรุง โดยการปรับปรุงควรเน้นจำแนกให้เห็นหน่วยงานที่ทำให้คะแนน CPI ต่ำลง เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก มีผลต่อการลงทุนในประเทศ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ BOI
ทั้งนี้ ในการสัมมนามีการเชิญตัวแทนของสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และกรมศุลกากร ร่วมอภิปรายหัวข้อ “องค์กรคุณธรรม...โปร่งใสยุค 4.0” โดยแต่ละหน่วยงานยอมรับว่าในช่วงแรกที่มีการประเมินเพื่อให้คะแนนส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ แต่มองว่าเป็นการสร้างแรงผลักดันให้องค์กรพยายามพัฒนา และยกระดับความโปร่งใสให้มากขึ้น โดยนำแบบประเมิน ITA ผนวกเข้ากับยุทธศาสตร์แต่ละหน่วยงาน จนทำให้คะแนนในปีต่อๆมาดีขึ้นอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ยกตัวอย่าง กรมศุลกากร เริ่มใช้แบบประเมินเมื่อปี 58 และพบว่าคะแนนอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เริ่มมีการลดขั้นตอน ละระยะเวลาการดำเนินการงานและใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งพัฒนาจริยธรรมของบุคคลากรให้ตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ คะแนนที่สูงขึ้นไม่ได้หมายถึงความสำเร็จแต่ถือว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว
นอกจากนี้ ในการสัมมนามีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คุณธรรม โปร่งใสยุค 4.0” กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 สะท้อนภาพธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติของประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะไทยถูกยกย่องว่าแม้เจอวิกฤติเศรษฐกิจแต่ไม่มีวิกฤติทางสังคม เนื่องจากสภาพสังคมไทยที่เกื้อหนุน เอื้อเฟื้อและมีน้ำใจต่อกัน เมื่อตกงานยังกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ได้ต่างจากสภาพสังคมของต่างประเทศ เมื่อครั้งการประชุมอาเซียนตนเคยให้ความเห็นในสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จ เพราะความมีเมตตา มีน้ำใจของคนไทยที่ไม่มีในข้อกำหนดของยูเอ็น จึงเสนอให้มีการเพิ่มเติมหลักการดังกล่าวอีกหนึ่งข้อ เพราะการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จไม่ได้ใช้แค่เงินเท่านั้น เช่นเดียวกับงานด้านสาธารณสุขที่ไทยถูกยกย่องว่ามีระบบที่มีประสิทธิภาพรวมถึงบทบาทของบุคลากรที่มีจิตอาสา เช่น อสม. ที่ยึดถือตามพระราชดำรัสของพระบิดาทางการแพทย์ว่าให้ยึดถือประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง
หลักธรรมาภิบาลถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งผลของธรรมาภิบาลในวิกฤติต้มยำกุ้งที่กระทบกับประชาชน มาจากการประกาศลดค่าเงินบาทซึ่งมีคนนอกอยู่ในที่ประชุมด้วย ทำให้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว จึงถือว่าไม่มีธรรมาภิบาล ตนเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดีแต่ตกเป็นเหยื่อของการเมืองเพราะความเกรงใจ ซึ่งเห็นตัวอย่างหลายกรณีที่นักการเมืองรวมถึงข้าราชการระดับสูงต้องติดคุกเพราะความเกรงใจ โดยใช้อำนาจแก้ไขระเบียบเอื้อประโยชน์ ทั้งนี้ หลักธรรมาภิบาลทั้ง 7 ข้อเชื่อว่าทุกคนจำได้หมดแต่ที่ยังมีปัญหาเพราะภาคปฏิบัติยังไม่ได้ปฏิบัติ
นอกจากนี้ นายชวน ยังระบุถึงกรณีที่ ส.ส.หลายคนจองตั๋วเครื่องบินแล้วไม่จ่ายเงินค่าตั๋ว อ้างว่าไม่ได้เดินทาง ทำให้สายการบินได้รับความเสียหายยื่นขอล้มละลาย และมีการติดตามทวงหนี้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีส.ส.จำนวนมากที่จองตั๋วแต่ไม่เดินทาง ซึ่งจากที่ดูรายชื่อแล้วก็น่าตกใจเพราะดูบางคนมีฐานะไม่น่าเชื่อว่าจะไม่จ่ายเงิน เช่นเดียวกับกรณีการจองตั๋วรถไฟแต่ไม่เดินทาง ทำให้รถทั้งขบวนกลายเป็นรถว่าง คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าการรถไฟไม่ขาดทุนเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่จริงรัฐได้รับความเสียหายและควรต้องมีการทวงเงิน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว และตนได้พยายามกำชับว่าหากไม่เดินทางก็ควรแจ้งยกเลิกล่วงหน้าเพื่อทางสายการบินหรือการรถไฟสามารถนำตั๋วไปหายต่อได้ รวมทั้งแจ้งไปทางสายการบินนกแอร์ว่ากรณีดังกล่าวสายการบินต้องติดตามทวงหนี้กับลูกหนี้เอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |