เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาและคานาดาได้ไม่นาน (เสด็จฯ ไประหว่างวันที่ ๖ เมษายนและวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเรื่องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกฉบับหนึ่ง หลังจากฉบับที่พระยากัลยาณไมตรีเคยร่างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สองนี้ภายใต้ชื่อว่า “An Outline of Changes in the Form of Government”หรือ “เค้าโครงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการปกครอง” มีนายเรมอนด์ บี.สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาการต่างประเทศในขณะนั้นและพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ร่าง นายสตีเวนส์นั้นเป็นนักกฎหมายและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนของสหรัฐอเมริกา ส่วนพระยาศรีวิสารวาจาสำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ
ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นภาษาอังกฤษนี้ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ (ซึ่งก็คือต้น พ.ศ. ๒๔๗๕ ตามปฏิทินปัจจุบัน) ในช่วงเวลาซึ่งระลอกสุดท้ายของความขัดแย้งในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจกำลังเริ่มขึ้น และนายสตีเวนส์เป็นบุคคลหนึ่งที่ทรงปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนั้น
เมื่อนำสภาพการณ์ดังกล่าวซึ่งกำลังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลของพระองค์อยู่ ดังปรากฎเป็นบทวิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ และการที่เมื่อเสด็จฯ ถึงสหรัฐอเมริกา พระองค์ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์อเมริกันว่ากำลังจะมีกฎหมายให้สิทธิเลือกตั้งในระดับเทศบาลแก่ราษฎรมาพิจารณาด้วยแล้ว เห็นได้ว่าต้องพระราชประสงค์ที่จะเร่งกระบวนการของการที่จะทรงจัดให้มีการปกครองโดยตัวแทน (representative government) เกิดขึ้น ก่อนที่อาจมีการก่อการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องล่างซึ่งก็ได้รับสั่งเล่าทำนองนี้พระราชทานพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรและผู้แทนคณะราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (๖ วันหลังการยึดอำนาจของคณะราษฎร) ดังข้อความใน“บันทึกลับ”การเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้นของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ราชเลขาธิการ ที่ว่า “ทรงเห็นว่าควรจะต้องให้Constitution มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ แล้ว และเมื่อได้ทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่า เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ” และ “เมื่อเสด็จกลับมา (จากสหรัฐอเมริกา –ผู้เขียน) ยิ่งรู้สึกแน่ใจว่าจะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้...
พระยาศรีวิสารวาจา
สาระของร่าง
เอกสารของนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจา เกริ่นนำว่าเป็น เค้าโครงของรัฐธรรมนูญใหม่ “ซึ่งทูลเกล้าฯ ถวาย “ตามพระราชประสงค์” เพื่อเป็น “จุดเริ่มต้นของรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภา” แม้ว่า “ในทางทฤษฎีพระมหากษัตริย์จะยังคงทรงเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและผู้ทรงนิติบัญญัติ” แต่พระองค์จักได้ทรงเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อพระองค์ และพระองค์ทรงถอดออกจากตำแหน่งได้ นายกรัฐมนตรีจักเลือกรัฐมนตรีของเขาเองเป็นคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหาร แต่ก็โดยมีสภานิติบัญญัติใช้อำนาจบางประการกำกับอยู่ ในทำนองระบบรัฐสภา
สภาใหม่นี้ ในระยะเริ่มแรก ควรมีสมาชิกประเภทแต่งตั้งและประเภทเลือกตั้งจำนวนเท่ากัน ที่น่าสนใจคือ ในประเภทแต่งตั้ง จะมีข้าราชการประจำเกินกึ่งหนึ่งไม่ได้ เท่ากับว่าร่างนี้ แม้ว่าจะเห็นว่าสมาชิกประเภทเลือกตั้งจะยังต้องมี “พี่เลี้ยง” แต่ก็ต้องการจะป้องกันมิให้ข้าราชการครอบงำ ลักษณะเช่นนี้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ (๒๗ มิถุนายน) ซึ่งคณะราษฎรเป็นผู้ร่างและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป ที่ไม่มีบทบัญญัติ หรือจำนวนข้าราชการประจำที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ไม่ว่าประเภทแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง
ในร่างสตีเวนส์-ศรีวิสาร การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจักเป็นโดยอ้อม ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (voters) ในอำเภอผู้ซึ่งต้องมีสัญชาติสยามและพำนักอยู่ในประเทศ และเสียภาษีจักเลือกตั้งผู้เลือกตั้ง (electors) ผู้แทนมณฑล ซึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ เข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งมีอำนาจออกกฎหมายตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน และออกเสียงลงคะแนนไว้วางใจในรัฐบาล หากสองในสามของสภาฯ ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีต้องกราบถวายบังคมทูลฯ ลาออก
สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งนั้น ทั้งนายกรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติมีวาระเท่ากันโดยดำรงตำแหน่งในขณะเดียวกันเป็นเวลา ๔-๕ ปี พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทรงยับยั้ง (veto) กฎหมาย แต่ต้องทรงอธิบายเหตุผล นอกจากนั้นยังทรงมีอำนาจในการออกกฎหมายในภาวะฉุกเฉินซึ่งส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อความมั่นคง โดยไม่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติ ทั้งยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการยุบสภานิติบัญญัติ
พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)
บทวิเคราะห์ร่างฯ
แม้ว่าร่างใหม่นี้จะมีความแตกต่างอย่างสำคัญจากร่างของพระยากัลยาณไมตรีตรงที่เปิดช่องทางให้มีการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติโดยทางอ้อมก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้เป็นในรูปแบบของการปกครองในระบบรัฐสภาประชาธิปไตย เพราะพระมหากษัตริย์จะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี รวมทั้งในการยุบสภา หากแต่ว่า พลังขับเคลื่อนทางการเมืองที่ร่างนี้จะปลดปล่อยออกมาน่าจะเป็นไปในทางต้านทานการทรงใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ หรือตามอำเภอพระราชหฤทัย
ข้อต่างอีกประการหนึ่งคือ การเน้นย้ำว่าอภิรัฐมนตรีสภาจักต้องเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาในนโยบายทั่วไปเท่านั้น และอภิรัฐมนตรีจักต้องไม่เป็นรัฐมนตรีในขณะเดียวกัน หรือเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ความข้อนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความมุ่งหมายคือการถ่ายโอนงานบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวงออกไปจากพระมหากษัตริย์และอภิรัฐมนตรีสภาให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อีกทั้งเป็นการทอนอำนาจอภิรัฐมนตรีสภาไปโดยปริยาย ส่วนประเด็นที่ว่า เป็นการมุ่ง “ถวายพระราชอำนาจคืน” แด่พระมหากษัตริย์หรือไม่นั้นเป็นที่ถกเถียงกัน นักวิเคราะห์บางคนผู้ซึ่งติดใจกับการที่ท้ายที่สุดอำนาจยังกระจุกอยู่ที่พระมหากษัตริย์ได้มีข้อสรุปว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งที่จะค้ำจุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรืออำนาจเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์
ในที่นี้จะวิเคราะห์ไปทางตรงกันข้ามว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปูทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบที่ผู้เขียนขอเรียกว่าระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ด้วยเหตุที่ว่า ในขณะนี้การให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลกันในระดับหนึ่งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติแสดงให้เห็นลักษณะบางอย่างของระบบแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers system) แต่การที่ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียงในการประชุมสภานิติบัญญัติ ทำให้เห็นได้ชัดว่าจุดมุ่งหมายอยู่ที่การนำระบบการหลอมอำนาจ (fusion of powers system) อย่างของอังกฤษ มาเป็นแม่แบบ
ในประเทศนั้น กษัตริย์ทรงอยู่ (และยังทรงคงอยู่อย่างน้อยในเชิงสัญญลักษณ์) ณ จุดตัดระหว่างอำนาจ ๓ ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ หน้าที่ของกษัตริย์ในพระราชสถานะประมุขของรัฐและชาติ คือการเกื้อหนุนให้ระบอบการปกครองมีความเป็นเอกภาพและได้ดุล แต่ก็มิใช่ว่าจะทรงปลอดจากแรงผลักดันทางการเมืองในขณะที่ต้องทรงทำหน้าที่ดังกล่าว ในประเทศอังกฤษ ระบบนี้ได้ค่อยๆ แปรสภาพเป็นระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาในปัจจุบัน
หากวิเคราะห์จากมุมมองนี้ เห็นได้ว่าโครงการในสยามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมุ่งสู่ระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ และต่อไปในทิศทางของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ดังนั้น ในระยะเปลี่ยนผ่าน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒ นี้ จึงได้ขยับพระมหากษัตริย์ให้ห่างจากการปฏิบัติการบริหารราชการแผ่นดิน และมีการจำกัดอำนาจของพระองค์อยู่บางประการ
สำหรับการที่พระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่ง “อำนาจที่มีเผื่อไว้”(reserve power) ในอันที่จะกระทำการถอดออกจากตำแหน่งบุคคลผู้ที่เห็นจากการปฏิบัติแล้วว่าเขาไร้ความเหมาะสมที่จะคงทำการบริหารต่อไป อำนาจที่มีเผื่อไว้นี้มีไว้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องก่อการปฏิบัติ (revolution) เพื่อที่จะขับไล่เขา อำนาจเช่นนี้มีในทุกประเทศ “และในประเทศเฉกเช่นสยามโดยตรรกแล้ว ย่อมมีไว้ให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้” ดังที่พระยากัลยาณไมตรีอธิบายไว้แล้วแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙
อีกทั้ง แม้ในปัจจุบันในอังกฤษซึ่งมีสภาสามัญชนจากการเลือกตั้งเป็นใหญ่ในรัฐสภา ท้ายที่สุดแล้ว กษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญก็ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทรงใช้ดุลยพินิจของพระองค์เอง (personal prerogative) ในการทรงเลือกนายกรัฐมนตรีและในการไม่ทรงเห็นชอบกับคำขอยุบสภาของนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีผู้นั้นย่อมรู้สึกว่าต้องลาออก ทั้งนี้แม้ว่าเมื่อ ๒-๓ ปีมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการยุบสภาให้ต้องทรงใช้พระวิจารณญาณน้อยลง)
นอกจากนั้น กษัตริย์อังกฤษยังทรงพระราชอำนาจในการยับยั้งการออกกฎหมายในกรณีที่กฎหมายนั้นอาจกระทบต่อประโยชน์ของชาติ (the national interest) แม้ว่าจะไม่มีการทรงใช้พระราชอำนาจนี้มาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ในค.ศ. ๑๙๑๔ (พ.ศ. ๒๔๕๗) ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จกลับจากการทรงศึกษา ณ ประเทศนั้น พระเจ้าจอร์จที่ ๕ เกือบจะทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งกฎหมายว่าด้วยการปกครองตนเองของไอร์แลนด์ (Irish Home Rule Bill) แต่ท้ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องทรงใช้ เพราะนายกรัฐมนตรีโอนอ่อนผ่อนตามคำทรงทักท้วง (the right to warn) อันเป็นหนึ่งใน “องค์สามพระราชสิทธิ์”(the trinity of rights) ของกษัตริย์ หากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบถึงเหตูการณ์ดังกล่าว ย่อมไม่ทรงเห็นว่าการคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจยับยั้งกฎหมายในร่างรัฐธรรมนูญของสตีเวนส์/ศรีวิสารเป็นของแปลก หรือขัดต่อพระราชประสงค์ที่จะเคลื่อนสู่ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ
วิเคราะห์ตามหลักวิชาการได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งที่จะสร้างระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพื่อค้ำจุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ความเห็นของผู้ร่าง
สิ่งที่นับว่าแปลกก็คือทั้งนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารฯ ผู้ร่าง เห็นว่ายังไม่ควรที่จะใช้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นอย่างเต็มรูปในเวลานั้น วัลย์วิภา จรูญโรจน์แสดงความฉงนว่า ถ้าเช่นนั้น เหตุใดจึงได้ร่างขึ้น เธอวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเป็นพระราชประสงค์ และให้ความเห็นของเธอว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าบรรดาที่ปรึกษาของพระองค์
นายสตีเวนส์เห็นว่าการตั้งนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้โดยไม่มีผลกระทบ แต่การที่จะสถาปนาสภานิติบัญญัติที่มีสมาชิกจากการเลือกตั้งเป็นบางส่วนและใช้อำนาจทั้งนิติบัญญัติและบริหารนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอื้อต่อการที่สมาชิกประเภทเลือกตั้งจะมีอำนาจเพิ่มพูนขึ้นเป็นเงาตามตัว เขาจึงเตือนว่า “เป็นการยากยิ่งที่จะเอาอำนาจที่ให้แก่ประชาชนแล้วคืนมา” เขาจึงเห็นว่ายังไม่ควรที่จะสถาปนาสภานิติบัญญัติในขณะนั้น
ทั้งนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจาเห็นว่าประชาชนยังไม่มีความพร้อมที่จะรับ “การกระจายอำนาจ” สู่เขา นายสตีเวนส์วิเคราะห์ว่าความระส่ำระส่ายที่มีอยู่ในขณะนั้น “มีที่มาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพราะรูปแบบการปกครอง” ดังนั้น จึงไม่น่าจะแก้ไขโดยการเปลี่ยนแปลงเชิงรัฐธรรมนูญ พระยาศรีวิสารฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นจะทำให้อำนาจของรัฐบาลอ่อนลง จึงควรประวิงเวลาไปอย่างน้อยจนกระทั่งวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งสองเห็นควรมุ่งไปที่การจัดให้ประชาชนได้รับการฝึกหัดและมีประสบการณ์ในการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นก่อนอื่นใด ส่วนการสถาปนาสภานิติบัญญัตินั้นควรคอยไว้ก่อน แต่การตั้งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้เลย
ความเห็นของอภิรัฐมนตรี
แม้ว่าหลักฐานจดหมายเหตุจะมีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบัน แต่พอจะสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ (พ.ศ. ๒๔๗๕ ตามปฏิทินปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งร่างรัฐธรรมนูญพร้อมบันทึกความเห็นของผู้ร่างทั้งสองไปยังอภิรัฐมนตรีเป็นรายพระองค์ และอาจจะได้มีการประชุมอภิรัฐมนตรีสภาหลังจากนั้นในเดือนนั้น โดยต้องพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในช่วงของการเฉลิมฉลองพระบรมราชจักรีวงศ์ และกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปีในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕
เอกสารอภิรัฐมนตรีที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงอย่างเดียวคือของสมแด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจะทรงคัดค้านการประกาศใช้ นักการทูตอังกฤษรายงานว่ากรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ทรงยืนยันกับเขาว่าอภิรัฐมนตรีส่วนใหญ่คัดค้าน แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงคาดว่าจะมีการยึดอำนาจและเผด็จการทหารตามมา
พระราชดำริที่ตามมา
เกี่ยวกับการเข้าเฝ้าฯ ของพระยามโนฯ และผู้แทนคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าพระยามหิธรได้จดบันทึกการเข้าเฝ้าฯ ไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ทรงรู้สึกว่า “ได้แก้ไขช้าไปบ้างและอ่อนไปบ้าง...เพราะ...จะดันทุรังไปก็ไม่ใคร่ได้ ด้วยมีผู้ใหญ่ผู้ที่ชำนาญการห้อมล้อมอยู่” รับสั่งต่อไปว่าการที่ผู้ร่างทั้งสอง “ขัดข้องเสียดั่งนี้ การก็เลยเหลวอีก ต่อมาได้เตรียมว่าจะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปีแล้ว เพราะจะเป็นขี้ขลาด รอว่าพองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอที่ประชุมอภิรัฐมนตรี...ที่ประชุมก็ขัดข้องว่ากำลังเป็นเวลาโภคกิจตกต่ำ” รับสั่งต่อไปว่าทรงพระราชดำริสืบเนื่องว่าทางหนึ่งคือแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยมีสภาตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีและเสนอให้ถอดออกจากตำแหน่งได้ รวมทั้งให้มี “ผู้แทนจากหัวเมือง” อีกทางหนึ่งคือให้เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร (ราชเลขาธิการ) เป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดีแทนพระองค์ และขยายจำนวนกรรมการองคมนตรีทำหน้าที่อย่างรัฐสภา ทรงนำ ๒ แผนนี้ติดพระองค์ไปหัวหินด้วย เพื่อจะทำบันทึกเสนอเสนาบดีสภา แต่ก็ได้เกิดการยึดอำนาจเสียก่อน พระองค์ “เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทำความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก” ทั้งหมดแสดงว่ามิได้ทรงละความพยายามที่จะทรงขับเคลื่อนพระราชประสงค์จำนงหมายที่จะให้เกิดมีระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นให้ได้ สอดคล้องกับการที่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ทรงแสดงความเห็นว่าการที่จะเอาอย่างการจัดการศึกษาให้คนไทยนิยมการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนกับอิตาลีสมัยมุสโสลินีสอนให้คนของเขานิยมการปกครองแบบฟาสซิสต์ (เผด็จการเบ็ดเสร็จชนิดหนึ่ง) นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ จึงทรงเสนอแนะให้การศึกษาไปในทางที่เอื้อแก่การเตรียมการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)
สรุป
ทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งในขณะนั้นทรงสมบูรณาญาสิทธิ มิได้แต่เพียงทรงแสวงหาระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งเข้าพระราชหฤทัยว่าในโลกสมัยใหม่เป็นระบอบประชาธิปไตยประเภทหนึ่ง การที่ทรงเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยประเภทนี้น่าจะมีความเหมาะสมกับสังคมไทย ก็เพราะจะเป็นการผสมผสานธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิมเข้ากับธรรมเนียมใหม่อย่างมีโอกาสลงตัว ทั้งนี้ ด้วยเป็นพระราชปณิธานตั้งแต่ต้นรัชกาลที่จะทรงดูแลให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปโดยราบรื่น และเพื่อให้ระบอบใหม่ที่จะสร้างขึ้นนั้นมีความยั่งยืน
อนึ่ง ศาสตราจารย์เวอร์นอน บ็อกดานอร์ (Vernon Bogdanor) ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญอังกฤษชี้ให้เห็นว่า ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญเอื้อต่อการมีความต่อเนื่องในความเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นรูปการของการแก้ไขความขัดกันระหว่างแนวคิดการมีกษัตริย์กับแนวคิดการมีประชาธิปไตย ทั้งยังไม่ได้เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย หากแต่สามารถช่วยในการประกันความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากกษัตริย์ผู้สืบสายเลือดที่เป็นประมุขไม่มีภูมิหลังทางการเมือง จึงมีโอกาสที่จะไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองกว่าประมุขประเภทอื่น.
---------
ข้อมูล:สถาบันพระปกเกล้า.รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |