เศรษฐีหมื่นล้านเดินตลาดสด ตะลึง!คนจน คนหาเช้ากินค่ำ อยู่คนละโลกกับคนรวย


เพิ่มเพื่อน    

7 ส.ค.63 - นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์รูปภาพขณะเดินตลาดสด พร้อมข้อความลงบนเฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาดังนี้

"ความจริงของสภาพเศรษฐกิจ : ตลาดสด vs ตลาดหุ้น" 

“ผักผลไม้ราคาแพงขึ้น แต่พี่ขึ้นราคาไม่ได้ เดี๋ยวลูกค้าจะหนีไป ลูกค้าน้อยลงเยอะ แค่นี้ก็แย่อยู่แล้ว” แม่ค้าแผงผักผลไม้บอกกับผม

“หมูราคาขึ้น เป็ดราคาก็ขึ้น ผมพยายามขึ้นราคาให้น้อยที่สุด โรงงานที่ไปรับมาเขาบอกว่ายอดขายเขาน้อยลง เลยต้องขึ้นราคา” เสียงบอกเล่าจากพ่อค้าเนื้อ

“อยู่ไม่ไหวแล้ว ถึงเวลาจ่ายค่าห้อง ค่าแผงทีไรเหนื่อยใจทุกที ราคาไข่ก็ขึ้น เราขึ้นราคาเต็มก็ไม่ได้ ลูกค้าประจำทั้งนั้น ลูกสาวที่มาช่วยขาย บางทีนั่งร้องไห้ ไม่รู้จะไปยังไงต่อ เมื่อก่อนมีข้าวของขายเต็มแผง วันนี้แผงมีของวางไม่ถึงครึ่ง เงินหมุนลดลงทุกวัน ไม่มีทุนไปซื้อของมาวาง” แม่ค้าขายไข่และของชำเล่าให้ผมฟังด้วยแววตาเศร้าๆ

“ผมขายเสื้อผ้ามาสิบปี แต่ก่อนขายได้เดือนละแสนกว่า เดี๋ยวนี้เหลือห้าหมื่น เพิ่งส่งลูกกลับไปเรียนต่างจังหวัดที่บ้าน รับผิดชอบค่าเรียนในเมืองไม่ไหว กำลังจะขายโละร้าน เอาเงินไปจ่ายหนี้ แล้วกลับบ้านที่ใต้ โชคยังมี ที่บ้านยังมีสวนปาล์มอยู่” พ่อค้าแผงเสื้อผ้าบอกกับผมด้วยน้ำเสียงที่ข่มขื่น

ในรอบเดือนที่ผ่านมา ผมไปเดินพบปะพี่น้องประชาชนในตลาดสดหลายแห่งทั่วประเทศไทย เสียงบอกเล่าและเรื่องราวต่างๆ ที่ได้รับฟังปัญหาความทุกข์ของพี่น้องประชาชนมันช่างน่าหดหู่ ยิ่งตอกย้ำความเป็นจริงว่าเศรษฐกิจปัจจุบันเลวร้ายกว่าตัวเลขจีดีพีที่เห็นมาก

ขณะที่หลายสำนักประมาณการเศรษฐกิจติดลบ 7-10 % ความเห็นส่วนใหญ่ของพ่อค้าแม่ขายในตลาดสดที่ผมพบเจอบอกว่ายอดขายพวกเขาลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง พวกเขามีลูกต้องเลี้ยงดู, ห้องต้องเช่า, ค่าน้ำค่าไฟต้องจ่าย ขณะที่ราคาข้าวของแพงขึ้นทุกวัน

ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2557 สถานการณ์มีแต่เลวร้ายลง และตกต่ำสุดเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

จนประชาชนหมดหวัง มองไม่เห็นทางที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตัดภาพกลับไปที่ตลาดหุ้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นปีด้วยดัชนี 1,575 จุด ปัจจุบันยืนอยู่ที่ 1,342 จุด หรือลดลง 14.8 % ตลาดหุ้นไทยตื่นตระหนกกับสถานการณ์โควิดเพียงสั้นๆ ช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคมที่ดัชนีตกลงเหลือ 1,000 จุดก่อนจะค่อยๆ ไต่ระดับมาถึงปัจจุบัน

เมื่อตลาดตื่นตระหนก รัฐบาลได้ออกมาตรการในรูปแบบพระราชกำหนดมาสองฉบับ ฉบับแรกเพื่อพยุงเสถียรภาพตลาดหุ้นกู้ และฉบับที่สองเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้เพิ่มเติมได้

รัฐบาลออกมาตรการตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดหุ้นกู้ หรือที่เรียกว่า Bond Stabilization Fund เป็นจำนวน 4 แสนล้านบาท ตลาดหุ้นกู้ทั้งหมดมีมูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท หุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนจากมาตรการนี้ 8.9 แสนล้านบาท จาก 8.9 แสนล้านบาทของหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุน เป็นหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ 4 บริษัทถึง 42 เปอร์เซนต์ ได้แก่ ไทยเบฟ, ซีพี, เอสซีจี และ ช.การช่าง

ขณะที่กองทุนเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดมีขนาด 5 แสนล้านบาท สินเชื่อทั้งหมดในระบบธนาคารมีมูลค่า 15.3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีมูลค่า 5.1 ล้านล้านบาท

กองทุนเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีขนาดเพียง 10 เปอรเซนต์เมื่อเทียบกับสินเชื่อเอสเอ็มอีในระบบธนาคาร ขณะที่กองทุนพยุงหุ้นกู้มีขนาด 45 เปอร์เซนต์ของหุ้นกู้ที่เข้าเงื่อนไข ตลาดหุ้นกู้ได้รับการพยุงเป็นสัดส่วนมากกว่าตลาดเงินกู้เอสเอ็มอีอย่างมีนัยยะสำคัญ

กองทุนเงินกู้เอสเอ็มอียังให้เฉพาะธุรกิจที่มีสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว ธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ที่ลำบากจริงๆ และไม่มีเงินกู้อยู่กับธนาคารเข้าไม่ถึงกองทุนนี้ นอกจากนี้รัฐยังรับประกันเงินต้นให้กับธนาคารในกรณีที่เอสเอ็มอีไม่สามาถจ่ายคืนได้ถึงร้อยละ 70 ประชาชนจึงสงสัยว่ากองทุนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่ออุ้มธนาคารหรืออุ้มเอสเอ็มอีกันแน่?

สองมาตรการนี้ บวกกับการกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้ตลาดหุ้นสามารถรักษาระดับดัชนีปัจจุบันประมาณ 1,300-1,400 จุดได้

แต่มันแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้

เงินส่วนหนึ่งที่ถูกอัดฉีดเข้ามา ในระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาด ย้อนกลับไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม

เงินอีกส่วนหายไปเพราะการเปิดรับการเข้ามาของจีนอย่างไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศ เงินไหลจากตลาดจริงสู่ตลาดออนไลน์, จากข้าวของในประเทศสู่ข้าวของจากจีน, จากภาคที่จ่ายภาษีสู่ภาคที่ไม่จ่ายภาษี

เงินอีกส่วนหายจากภาคการผลิตจริงสู่ตลาดทุน ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 2.3 แสนล้านบาทจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน นักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันเข้าซื้อในจำนวนเท่ากัน เมื่อไม่มีโอกาสทางธุรกิจให้ลงทุนเพิ่ม เงินจึงไหลเข้าซื้อทรัพย์สินทางการเงิน พยุงราคาของหุ้นไว้ไม่ให้ตกลง

เมื่อนำปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน ความเป็นจริงของตลาดสดจึงหดหู่กว่าความเป็นจริงของตลาดหุ้น

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกับคนจนมากกว่าคนรวย แต่มาตรการที่ออกมาอุ้มคนจนน้อยเกินไป ช้าเกินไป และกระมิดกระเมี้ยนเกินไป ไม่สมสัดส่วนความเดือดร้อน

ขณะที่มาตราการที่ออกเพื่อกลุ่มทุนรวดเร็วฉับไว เสมือนหนึ่งพวกเขาประกอบธุรกิจโดยไม่มีความเสี่ยงเลย

การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยลดค่าเช่าและค่าสัมปทานให้กับ บริษัท คิงเพาเวอร์ ทำให้รายได้ที่รัฐสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้ลดลงไปอีก กองทัพยังซื้ออาวุธต่อไปไม่หยุด ไม่มีความพยายามใดๆ จากรัฐบาลที่จะดึงเงินสดที่เหลืออยู่มากในรัฐวิสาหกิจและกองทุนต่างๆ ภายใต้การดูแลของรัฐบาลส่งคืนกลับรัฐเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงที่เงินเยียวยาประชาชนก้อนสุดท้ายกำลังหมดลง

ในสังคมเดียวกัน คนรวยและคนมีอำนาจดูเหมือนอยู่คนละโลกกับคนจนที่หาเช้ากินค่ำ วันที่ประชาชนกู่ร้องก้องตะโกนถึงความลำบากของพวกเขา รัฐบาลกลับบอกให้พวกเขาทำตามกฏหมาย ข่มขู่ คุกคามด้วยคดีความ ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยมีภาระชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย หนี้สินที่ต้องแบกรับไปจนสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

ในขณะที่คนรวยและคนมีอำนาจ ได้รับสิทธิประโยชน์ ได้รับการชดเชยเยียวยา ก่อนใคร

ความเจ็บปวด ความไม่พอใจของประชาชนที่ส่งเสียงออกมา ไม่ใช่เพราะใครอื่น นอกจากการกระทำของรัฐบาลประยุทธ์เอง 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"