"บิ๊กตู่" เผยพบกับทูตทุกประเทศ ต่างก็บอกว่าประเทศไทยน่าอยู่ อากาศดี อาหารอร่อย ธรรมชาติสวยงาม ระบบการแพทย์ดีเยี่ยม อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลาย แต่คนไทยหลายคนกลับไม่อยากอยู่ วอนวันนี้ต้องช่วยกันคิดว่าประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหน ชี้เด็กหลายคนมีปัญหา ต้องเปิดโลกทัศน์ "วิษณุ" ยอมรับรัฐบาลมีธงแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ย้ำแก้ ม.256 ต้องทำประชามติ ใช้งบ 3 พันล้าน
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พลิกฟื้นประเทศไทย : ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง” ว่าช่วงที่ผ่านมาหลายอย่างก็มีปัญหามากพอสมควร จึงได้ให้นโยบายปรับปรุงและแก้ไขให้ได้โดยเร็วที่สุด ระหว่างนี้เราต้องให้เด็ก ให้ผู้ปกครอง ได้รับทราบว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง สิ่งที่ได้รับฟังมา เด็กหลายคนมีปัญหา เพราะเด็กของเรามักจะถูกสอนแต่เรื่องในตำราและหลักสูตร จึงทำให้เด็กไทยคิดได้ช้ากว่าประเทศอื่น คนไทยไม่ใช่ไม่เก่ง
“ในการเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็ก จะต้องหาเวลาให้เขาได้ออกมาพูดคุยพบปะหารือ มีการถกแถลงแสดงความคิดเห็นกันบ้าง ในชั่วโมงที่มีเวลาบ้าง ให้เวลาเขาได้ออกไปดูพื้นที่นอกโรงเรียน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวบ้าง เด็กก็จะมีความรักในแผ่นดินและพื้นที่ของเขา ได้รู้ถึงความยากลำบากของประเทศไทย ผมคิดว่าจำเป็นต้องปรับวิธีคิดของคน ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็ตาม เพื่อจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ไม่เช่นนั้นจะยืนอยู่ที่เดิมตลอด ติดกับปัญหาเดิมๆ ซึ่งทุกคนทราบดีว่าปัญหาเหล่านี้คืออะไร”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติต้องบอกว่า 20 ปี เราไม่มีใครอยู่แล้วในวันหน้า คนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ เป็นสะพานที่ทอดไว้ยาวให้เดินบนสะพาน ไม่ใช่เดินสะเปะสะปะไปกันคนละทาง 20 ปีก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ดังนั้นย้ำว่ายุทธศาสตร์ชาติไม่ได้ตีกรอบอะไรไว้มากมาย เพียงแต่กำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติ หลายคนก็บอกว่าบังคับกรอบเกินไป ไม่เป็นประชาธิปไตย นึกไม่ออกไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามสร้างความมีส่วนร่วมรวมไทยสร้างชาติ เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็งกว่านี้ และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราเหลือเวลาไม่มากแล้ว ถ้าเอาเวลาไปขัดแย้ง ไปมีปัญหา ถ้าล้มอีก เริ่มใหม่ ทุกอย่างก็กลับไปที่เดิม ก็ช่วยไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตนไม่โทษใคร ขอทุกคนร่วมมือ ทั้งความมั่นคงภายในภายนอก และเศรษฐกิจภายในภายนอก วันนี้ย้ำว่าประชาธิปไตยต้องฟังทั้งเสียงส่วนใหญ่ และเสียงส่วนน้อยก็ต้องแก้ปัญหา ถ้ารวมกันทั้งหมดก็ไปไม่ได้ทุกเรื่อง
"วันนี้ผมพบทูตทุกประเทศ ต่างก็บอกว่าบอกประเทศไทยน่าอยู่ อากาศดี อาหารอร่อย ธรรมชาติสวยงาม ระบบการแพทย์ดีเยี่ยม เขาอยากมาเกษียณ ใช้ชีวิตบั้นปลายที่ไทย แต่คนไทยหลายคนกลับไม่อยากอยู่ ผมก็ไม่เข้าใจ วันนี้อาจพูดเยอะ อะไรก้าวล่วงก็ต้องขอโทษ ไม่ได้มีเจตนาอะไร แต่วันนี้ต้องช่วยกันคิดว่า ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหน กฎหมายอยู่ตรงไหน รวมทั้งฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ซึ่ง 3 อํานาจก้าวล่วงกันไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในส่วนนี้จะต้องทำประชามติด้วยหรือไม่ว่า ใช่ เมื่อมีการทำประชามติ ก็ต้องใช้งบประมาณรวมแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท เกือบเท่ากับงบที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป “ที่พูดนี้ไม่ได้บ่น แต่เมื่อสื่อถามผมก็ตอบ ไม่ได้มาบ่นหรือบอกว่าเสียดาย ไม่ได้พูดอย่างนั้น”
รัฐบาลมีธงอยู่แล้ว
นายวิษณุกล่าวว่า ขั้นตอนนั้นตนเคยอธิบายไปแล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญแก้ได้ 2 อย่างคือ 1.แก้เป็นรายมาตราหรือรายเรื่อง ที่ไม่เกี่ยวกับหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ที่กระจายอยู่หลายหมวด หากจะแก้บทเฉพาะกาลที่แก้ไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นการแก้เป็นเรื่องๆ ซึ่งจะรวมไปถึงการแก้ไขวิธีการเลือกตั้งด้วย เช่นจะใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ หรือ 2 ใบ นี่คือประเภทที่หนึ่ง ซึ่งกระบวนการแก้ไขจะเดินตามมาตรา 256 ตามปกติคือนำเข้ารัฐสภา ผ่านวาระ 1-3 หากมีผู้สงสัยก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 เดือน แต่ถ้าไม่สงสัยก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ประกาศใช้ได้ทันที
ส่วนการแก้ประเภทที่ 2 คือถ้ามีการแก้หมวด 1 เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป หรือหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งกระจายอยู่หลายหมวด ก็ต้องนำเข้าสู่รัฐสภาผ่านวาระ 1-3 จากนั้นต้องนำไปทำประชามติ ซึ่งการทำประชามติยุ่งยากอยู่เรื่องหนึ่ง เพราะมีล็อกเอาไว้ว่าการทำประชามติต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งขณะนี้เรายังไม่มีกฎหมายนี้ และต้องใช้เวลาในกระบวนการออกกฎหมาย
นายวิษณุกล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 256 หรือการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือการแก้หมวด 15 ซึ่งเป็นการแก้แบบประเภทที่ 2 ที่ต้องลงประชามติ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงไม่ทันสมัยประชุมนี้ เพราะยังมีเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และกฎหมายการทำประชามติ ที่จะต้องมีการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ
เมื่อถามถึงข้อเสนอของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เสนอแนวทางของชุดดังกล่าวมาให้ทางรัฐบาลด้วย นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ได้ส่งมา รัฐบาลก็รออยู่ เพราะนายกรัฐมนตรีพูดกับคณะรัฐมนตรี ว่าอยากให้รอเพื่อจะได้รู้ว่าจะแก้เป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งหมด ตอนนี้รัฐบาลมีความคิดอยู่แล้วว่าจะทำอะไรในส่วนเหล่านี้ ขอให้รอฟัง
ซักว่านายกฯ จำเป็นต้องยืนตามความเห็นของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่จำเป็น นายกฯ เพียงอยากทราบว่าจะแก้ในประเด็นอะไรบ้าง ถ้าถามใจรัฐบาล ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลก็มีธงอยู่แล้วว่าอยากจะแก้อะไร
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดูเหมือนรัฐบาลไม่อยากให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพราะไม่อยากให้ไปแก้เกี่ยวกับที่มาของส.ว. รองนายกฯ ปฏิเสธว่า ไม่จริง ใครพูด รัฐบาลไม่เคยพูดในสิ่งนั้น เพราะรัฐบาลบริหารงานมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งคำว่ารัฐบาล ไม่ได้หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว แต่หมายรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ที่เห็นบ่นๆ อยากให้แก้ไขกันก็มีหลายเรื่อง เช่น มาตรา 144 ที่พูดกันมาหลายวัน เป็นต้น ซึ่งเสียงที่คิดอยากให้แก้มาตรานี้ก็มีท่วมท้น
ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) ดอนเมือง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่เป็นนิสิต นักศึกษาว่า ในส่วนของกองทัพอากาศ เราทำมาโดยตลอด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงต่อกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง โดยการสร้างความเข้าใจในบริบทของกำลังพลในแต่ละช่วงอายุ พร้อมทั้งเคารพในความคิดเห็นและให้โอกาสในการแสดงฝีมือ เนื่องจากเราต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังพลของกองทัพอากาศไปตลอดเพราะบริบทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาคนรุ่นเก่าอย่างเราตามไม่ทัน อย่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราก็จะปล่อยให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ เพราะเขาจะรับรู้และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะในโลกดิจิทัล
เราจะไม่มีอะไรเหลือเลย
ผบ.ทอ.กล่าวว่า การปลูกฝังเรื่องสถาบันนั้น ประเทศไทยอยู่ได้ด้วยสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์เดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร และเราก็อยู่ดีมีสุขด้วยบริบทตรงนี้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในสังคมมีความหลากหลาย ต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน วิธีคิดจึงไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นความเห็นต่าง แต่เราต้องเคารพในความเห็นต่าง แต่โดยพื้นฐานแล้วก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้
"หากเปรียบเทียบก็ให้ดูสงครามโลกระบาดโควิด ในปัจจุบันที่ล้อมกรอบประเทศไทยเอาไว้ทั้งหมด แต่เราก็อยู่กันได้ด้วยความสงบ แม้อาจจะมีความลำบากอยู่บ้าง ถือว่าโควิดเป็นกระจกส่องหน้าที่ดีที่สุด เราได้เห็นต้นทุนของประเทศไทยว่ามีเหลือเท่าไร ในยามที่เกิดสงคราม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างต้นทุนตรงนี้ จึงเกิดความขาดแคลน หากเป็นสงครามรบขนาดใหญ่เราจะไม่มีอะไรเหลือเลย" ผบ.ทอ.กล่าว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก กล่าวกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บอกโรคชังชาติรักษาไม่หาย ว่าหลายภาคส่วนสำคัญที่สุดคือนักการเมือง ออกมาถล่มว่าการพูดแบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ส่วนตัวในฐานะคนที่ให้คำจำกัดความว่าชังชาติ อยากเรียกร้องให้ฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลที่มีพฤติกรรมชังชาติจริงหรือไม่ บางคนบอกไม่ได้ชังชาติ เขาชังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตนคิดว่าต้องแยกแยะให้ดี สิ่งที่จะให้ตรวจสอบดังต่อไปนี้เข้าข่ายหรือไม่ ถ้าเข้าข่าย 1 ใน 5 ข้อนี้ ถือว่ามีพฤติกรรมชังชาติ
1.มีพฤติกรรมจงใจละเมิด จาบจ้วงให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.มีพฤติกรรมบ่งบอกชัดเจนว่าไม่เอาศาสนาและนำศาสนามาสร้างความขัดแย้ง เช่น เอาพุทธกับอิสลามมาสร้างความขัดแย้ง 3.จะไม่เอาจารีตประเพณีวัฒนธรรม ที่สำคัญที่สุดคือชอบด่าประเทศตัวเอง 4.พวกชอบชักศึกเข้าบ้าน มีปัญหาอะไรก็ไปบอกคนต่างชาติให้เข้ามาเกี่ยวข้อง 5.หลังจากที่ศาลมีคำตัดสินแล้วไม่เคารพคำตัดสินของศาล พยายามตีโพยตีพายว่าถูกกลั่นแกล้งรังแก ดังนั้นคำว่าชังชาติ ต้องเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรม 1 ใน 5 ข้อดังกล่าว
"ผมทราบว่าที่มีทนายขึ้นเวทีปราศรัยให้ร้ายจาบจ้วง ล่าสุดก็มีทนายอีกท่านไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว บ้านเมืองต้องเคารพกฎหมาย ท่านกำลังกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ทำสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อมีคนไปฟ้องร้องท่านต้องเคารพกฎหมาย กฎหมายคือหลักของระบอบประชาธิปไตย" นพ.วรงค์กล่าว
ที่จังหวัดขอนแก่น มีกลุ่มชาวขอนแก่นรักสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมตัวแสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยการร่วมกันร้องเพลงสดุดีจอมราชา เพลงสดุดีพระแม่ไทย และเพลงรักพ่อไม่มีวันพอเพียง พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นดำเนินการอย่างเด็ดขาด กรณีที่มีบุคคล กลุ่มบุคคล รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการของแผ่นดิน ได้มีพฤติกรรมและการกระทำอันถือเป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งในการชุมนุมของกลุ่มการเมือง ซึ่งอยู่เบื้องหลังเด็กและเยาวชน โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเท็จต่อเด็กและเยาวชน ยุยงปลุกปั่นเด็กและเยาวชนให้ออกมาชุมนุม และมีพฤติกรรมก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุม การกระทำดังกล่าวมีความชัดเจน และน่าห่วงกังวลขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในพื้นที่ขอนแก่น
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าการจัดซื้ออาวุธของกองทัพเป็นเรื่องราวอันน่าชังที่เกิดขึ้นในกองทัพ ยังมีอีกมากมาย จะได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในภายภาคหน้า พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมจับตาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และงบต่างๆ ของกองทัพ เพราะเม็ดเงินทุกเม็ดคือหยาดเหงื่อ คราบน้ำตาจากภาษีประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |