18เม.ย.61- วธ.จับมือ มธ.-กองทุนสื่อปลอดภัยฯ ถอดบทเรียนละครบุพเพฯ ชี้เป็นจุดเปลี่ยนละครไทย ยกเป็นต้นแบบละครน้ำดี สนุก-มีสาระ ไม่ต้องมีอิจฉาริษยา- เพศ-ความรุนแรง ‘วีระ’ ชวนผู้จัดทำเป็นภาพยนตร์ แนะควรหยิบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยพ่อขุนรามคำแหงฯ-ยุครัตนโกสินทร์ ทำเป็นหนัง-ละคร ‘หน่อง-อรุโณชา’ ขานรับ เผยเตรียมทำหนังสือถ่ายทอดเบื้องหลัง-รวบรวมคำฮิต อโยธาเสร็จพ.ค.นี้
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกระทรวงวัฒนธรรม จัดการเสวนาวิชาการ ‘ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส’ โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม บรรยายพิเศษ ตลอดจนวิทยากรจากทีมงานละครร่วมเสวนา
นายวสันต์ ภัยหลักลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า จัดเสวนาครั้งนี้เพื่อสรุปบทเรียนละครบุพเพสันนิวาสที่ทำให้คนไทยทั่วประเทศรู้สึกฟินกัน รวมถึงคนไทยในต่างแดนและชาวต่างชาติที่ติดตามละครเรื่องนี้ เป็นปรากฏการณ์สำคัญ เพราะไม่เพียงแต่เรตติ้งถล่มทลาย แต่วันที่ละครฉายคนกลับบ้านเฝ้าหน้าจอ และที่ยิ่งใหญ่คนไทยหันมาสนใจเรียนรู้รากวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากขึ้น จำเป็นต้องไขรหัสความสำเร็จของละคร และต้องการเห็นละครเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนละครไทย จากเดิมที่เห็นว่าล้าหลัง ซ้ำซากจำเจ น้ำเน่า แต่ไปชื่นชอบละครเกาหลีเพราะมีการศึกษาวิจัยทุ่มเทการสร้าง แต่ละครบุพเพสันนิวาสมีความสร้างสรรค์ และเป็นละครน้ำดี สามารถถอดองค์ความรู้การผลิตและสร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ที่เป็นต้นแบบของสื่อบันเทิงไทยที่ประสบความสำเร็จ ทั้งด้านให้ความบันเทิงและสร้างสรรค์พัฒนาสังคมให้เกิดการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
นายวีระ กล่าวว่า วธ. มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมการผลิตละครและหนังของไทยที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างภาพลักษณ์เกียรติภูมิและรายได้ให้แก่ประเทศ ซึ่งละครบุพเพสันนิวาสเป็นตัวอย่างที่ดีของละครไทยที่สอดแทรกและเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต อาหาร ภาษา และการแต่งกายของไทยครบถ้วน จุดเด่นของละครเลือกเหตุการณ์สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรไว้จำนวนมาก คัดเลือกนักแสดงก็มีหน้าตาคล้ายกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่สืบค้นได้ ฉากสุดท้ายของพระนารายณ์ก็สมจริง ซึ่งคนไทยในปัจจุบันไม่เคยเห็นมาก่อน อีกทั้งงานกราฟฟิกฉากวัดไชยวัฒนารามฯ และสภาพบ้านเรือนในอดีต ทำให้ฉากในละครดูสมจริง ช่วงเวลาที่ออกฉายเข้ากับกระแสความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงการแต่งกายชุดไทยในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว นับเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ยอดเยี่ยม ไม่ใช่ละครตบตีกัน
นอกจากนี้ ละครยังส่งผลให้เกิดการตามรอยแม่การะเกดไปวัดไชยวัฒนาราม จนคนล้นวัด รวมถึงชาวต่างชาติ เพิ่มจากไม่ถึง 1,000 คนต่อวัน เป็น 8,000-10,000 คนต่อวัน นำมาสู่การขยายเวลาเข้าชมวัดไชยฯ จนถึง เวลา 22.00 น. โดยตนสั่งการกรมศิลปากรหากผู้เข้าชมเกิน 20,000 คนต่อวัน ให้ขยายเวลาเปิดถึง 24.00 น. ยิ่งไปกว่านั้น หนังสือประวัติศาสตร์ขายดิบขายดี หนังสือที่เกี่ยวกับอยุธยาหมดหลายรายการ หนังสือจินดามณีขายดีจนขาดตลาดที่บูธกรมศิลปากร ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ คนสนใจการอ่านมากขึ้น
“ ก่อนหน้านี้ วธ.จัดประชุมสัมมนาผู้ประกอบการหนังและละครเพื่อร่างแผนปฏิบัติการสนับสนุนการสร้างหนังและละคร ผมเห็นว่า มีหลายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ควรส่งเสริมผลิตหนัง อย่าง สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่นอกจากประดิษฐ์อักษรไทยแล้ว ยังมีการสร้างเครื่องสังคโลก มีประเพณีลอยกระทง เทศกาลที่ยิ่งใหญ่อันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ร.4 – ร.5 มีการปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้า และการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ การเสด็จประพาสยุโรปของ ร.5 ประวัติศาสตร์ช่วงนี้สง่างาม ตัวละครสำคัญก็เยอะ คนไทยน่าจะมีโอกาสได้เรียนรู้ ตอนนี้ละครบุพเพสันนิวาสจบแล้ว ภาคสองต้องให้เวลา แต่อยากเสนอให้นำเรื่องราวจากละครมาตัดต่อใหม่จัดทำเป็นภาพยนตร์ฉายในโรงภาพยนตร์ อยากให้คนรู้สึกต่อเนื่องเรื่องประวัติศาสตร์ “ นายวีระ กล่าว
ด้านนางสาวอรุโณชา ภาณุพันธ์ ผู้บริหาร บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ผู้จัดละครบุพเพสันนิวาส กล่าวว่า แนวทางที่ รมว.วธ. มอบไว้ให้จัดทำบุพเพสันนิวาสในรูปแบบภาพยนตร์ มีความเป็นไปได้ ตนจะนำไปหารือผู้ใหญ่ของช่อง 3 และถ้ามีเสียงเรียกร้องมา ตนเห็นว่า ภาพยนตร์ที่ไม่มีโฆษณาคั่นจะได้อรรถรสการชม แต่นาทีนี้มีแต่คนเฝ้ารอภาคต่อเรื่องพรหมลิขิต ซึ่งมาแรงมาก ในการทำละครเรื่องนี้ ตอนแรกก็เป็นห่วงเพราะไม่มีตัวร้าย มีเรื่องราวอิจฉาริษยา แต่ดำเนินเรื่องตามบทประพันธ์ของรอมแพง และบทละครโทรทัศน์ของอาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ทำให้การถ่ายทอดและร้อยเรียงได้อย่างสนุกสนาน สอดแทรกประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาหารไทย ผ้าไทย อย่างง่าย รู้สึกดีใจที่ละครมีประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น ทำให้เราเข้าใจผู้ชมมากขึ้น ซึ่งอยากจะเห็นอีกมุมมอง ได้เห็นความงดงามของวัฒนธรรม พิธีแต่งงานสาดน้ำ คนไม่เคยเห็น สะท้อนความอบอุ่นของครอบครัวไทยเป็นครอบครัวใหญ่ ขอบคุณออเจ้าผู้ชมทำให้ผู้จัดมีกำลังใจ เป็นละครของครอบครัวดูได้ทุกเพศทุกวัย
“ ส่วนภาษาไทยวันละคำในละครบุพเพฯ เป็นสิ่งที่ทีมผู้สร้างคิดไว้แต่แรก เนื่องจากเป็นละครย้อนยุคสมัยอยุธยา คำไทยสมัยโบราณ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กรุ่นใหม่ไม่คุ้นหู ควรมีการอธิบายให้เข้าใจง่าย เหมาะสมกับยุคสมัย ทั้งคำว่า ออเจ้า เพลา อึดตะปือนัง ในเรื่องนี้มีคำไทยอีกเยอะมาก และมีแนวคิดจัดทำหนังสือเฉพาะกิจรวบรวมเบื้องหลังการถ่ายทำละครครอบคลุมทุกด้าน ตลอดจนภาษาไทยวันละคำ น่าจะเกิดประโยชน์ต่อคนทำละครและคนอ่าน คาดว่าสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้จะเผยแพร่ได้ “ นางสาวอรุโณชา กล่าว
ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ กล่าวว่า เนื้อหาจากการเสวนาครั้งนี้ มธ. จะทำการสรุปมาจัดทำเป็นชุดองค์ความรู้ไปเผยแพร่แก่วงการสื่อและประชาชน โดยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ส่งผลในด้านบวกกับวงการละครโทรทัศน์ไทย จากเดิมที่สังคมทั่วไป มองว่าละครส่วนใหญ่มุ่งตอบสนองเพียงความบันเทิง อีกทั้งยังแฝงเนื้อหาเรื่องเพศ ความรุนแรง และไม่เหมาะสมต่อเยาวชน แต่ละครเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์ใหม่เปรียบเสมือนละครน้ำดีที่สามารถเป็นต้นแบบการเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์ทั้งสนุกบันเทิงและมีสาระที่เป็นประโยชน์แก่สังคม
“ ละครเรื่องนี้สะท้อนแนวทางการปรับตัวที่ดีเยี่ยมของละคร ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ ใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่ดี และใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาฐานผู้ชมไว้ได้ในยุคที่ผู้ชมหันไปเปิดรับข่าวสารสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อเดิม ตลอดจนสื่อที่ดีเป็นเสมือนครูของสังคม กระตุ้นการเรียนรู้ ทำให้สังคมหันมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งยังสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม วิถีชีวิต ประเด็นสังคมและการเมืองในอดีตและปัจจุบันได้กลมกลืน เป็นหน้าที่ของแวดวงวิชาการและวิชาชีพต้องร่วมมือกันถอดบทเรียนความรู้นี้ไปพัฒนาเป็นตัวแบบของการผลิตละครพัฒนาสังคมต่อไป” ผศ.ดร. อัจฉรา กล่าวทิ้งท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |