โควิด-19 พ่นพิษ คลังทรุดหนัก จัดเก็บรายได้ 8 เดือน งบ 63 วืดเป้า 1.89 แสนล้านบาท ขณะที่ กนง.สั่งคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 0.50% ต่อปี ด้าน กกร.ผุดคณะทำงานปฏิรูปเศรษฐกิจขับเคลื่อนแผนฟื้นฟู 4เรื่อง
เมื่อวันพุธ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-พ.ค.63) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.5 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.89 แสนล้านบาท หรือ 11.2% โดยเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปเป็นภายในเดือนก.ค.-ก.ย.2563 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผลการจัดเก็บรายได้
"ทั้งนี้ กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 1.08 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.39 แสนล้านบาท หรือ 11.3%, กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 3.62 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7.09 หมื่นล้านบาท หรือ 16.4% และกรมศุลกากรเก็บภาษีได้ 6.43 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,516 ล้านบาท หรือ 11.7% รวมการเก็บภาษี 3 กรม ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.51 แสนล้านบาท หรือ 12.6 ล้านบาท" นายลวรณระบุ
นายลวรณกล่าวว่า ในส่วนของฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1.47 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 3.92 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค.2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.65 แสนล้านบาท
วันเดียวกัน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะ กนง. เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2563 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันได้ลดต่ำมามากเมื่อเทียบกับในอดีต ต่ำเป็นประวัติการณ์ และถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในภูมิภาค
"โดยทิศทางของเศรษฐกิจหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การดูแลเศรษฐกิจให้เกิดการฟื้นตัว เน้นเรื่องการจ้างงาน จำเป็นต้องประสานนโยบายทั้งมาตรการด้านการคลัง ควบคู่กับมาตรการด้านการเงินที่ต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยในส่วนนโยบายการเงิน ยืนยันว่ายังมีกระสุนเพียงพอ และพร้อมที่จะนำออกมาใช้ตามความจำเป็น" นายทิตนันทิ์ระบุ
นายทิตนันทิ์ระบุด้วยว่า คณะกรรมการ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากโอกาสในการเกิดการระบาดระลอกที่ 2 โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด แต่การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ กนง.เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/2563 ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม แต่ก็ยังหดตัวอยู่ ส่วนตัวเลขคงต้องรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ชี้แจงในช่วงกลางเดือนนี้
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง.เห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้า จำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
“กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังจากการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์” นายทิตนันทิ์กล่าว
สำหรับสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ต้องเร่งดำเนินการกระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทยังผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทกลับมาแข็งค่าตามกรอบการอ่อนค่าของดอลลาร์ โดยคณะกรรมการ กนง.เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงควรติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.2563 จะหดตัวน้อยลง แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวมก็ยังอ่อนแออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยคงจะหดตัวในอัตราเลขสองหลัก ที่ประชุมจึงมีความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้า ซึ่งยังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาฯ กำลังจะสิ้นสุดลง และสถานการณ์การจ้างงานยังเปราะบาง
“ในช่วงที่เหลือของปี 63 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงฉุดหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยหลังการระบาดของโควิดยังเพิ่มสูงขึ้น และบางประเทศพบจำนวนผู้ติดเชื้อรอบใหม่ ที่จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฮ่องกง เป็นต้น ส่งผลให้การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศคงยากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ขณะเดียวกัน เงินบาทที่ผันผวนและเริ่มมีทิศทางแข็งค่า ก็ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก นอกจากนี้ กำลังซื้อครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนในตลาดการจ้างงาน ยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายกลินท์กล่าว
นายกลินท์กล่าวด้วยว่า กกร.จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน กกร. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อร่วมกันจัดเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยจะมีการผลักดันแผน 4 เรื่องเพื่อให้เกิดผลได้จริง ได้แก่ 1.การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง Wellness 2.การยกระดับการเกษตรมูลค่าสูง 3.การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในธุรกิจเป้าหมาย และ 4.การยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค
"ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว จะนำไปหารือและเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ กกร.ได้ตั้งคณะกรรมการภาษีเพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการทางภาษี (ภาษีสรรพากร) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจะนำข้อเสนอดังกล่าวนำเสนอรัฐบาลให้ได้พิจารณาต่อไป" นายกลินท์ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |