“บอส เรดบูล” ยังลอยชายเข้าไทยไม่ได้ “วิชา” เผยหมายจับยังอยู่ เพราะ “รสนา” ไปร้องศาล และตำรวจถอนเรื่อง เตรียมเรียกพยานทุกฝ่ายเข้าให้ข้อมูล เพราะทำงานไม่มีวันหยุดเพื่อไขข้อสงสัยสังคมทุกเรื่อง แย้มอาจต้องมีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน “พีระพันธุ์” ดุซัด “ตำรวจ-อัยการ” กำลังเอาเกียรติยศ 2 องค์กรมาอุ้มชูคนแค่ 2 คน “อรรถพล” เลกเชอร์อัยการสูงสุด บอกไม่ต้องรื้อคดีใหม่เพราะของเก่ายังไม่ยุติสั่งฟ้อง
เมื่อวันพุธที่ 5 สิงหาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) พร้อมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตำรวจสั่งไม่แย้งคำสั่งอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ได้ร่วมประชุมเป็นครั้งที่ 7 โดยได้เน้นไปที่การสอบสวนข้อเท็จจริงการมีคำสั่งไม่แย้งอัยการว่ามีการใช้ความเห็นในทางคดีอย่างไร และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามการประมวลผลที่สำนักงานกฎหมายและคดีเสนอมาว่าอย่างไรบ้าง ซึ่ง พล.ต.ท.จารุวัฒน์ยังไม่มีการแถลงความคืบหน้าแต่อย่างใด
ส่วนคณะทำงานอัยการที่ได้แถลงผลสอบกรณีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธที่จะมีการเสนอความเห็นไปให้ อสส.สั่งการ 2 ประเด็น คือเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมข้อหาเสพยาเสพติด และให้สอบสวนพยานใหม่เพื่อพิสูจน์ความเร็วรถนั้น ต้องรอให้ อสส.สั่งการมายังตำรวจอย่างชัดเจนก่อนจึงดำเนินการต่อไปได้ ส่วนการพิจารณาเรื่องผลตรวจสารโคเคนในเลือดตำรวจก็ยังอยู่ระหว่างรอคำยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ขณะเดียวกัน ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำเนียบรัฐบาล นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ได้มีการนัดประชุมครั้งที่ 2 โดยก่อนประชุมนายวิชาให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงผลสอบของอัยการว่า ก็ว่ากันไปในคณะกรรมการแต่ละชุด แต่เราจะดูทั้งหมดว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ส่วนการเรียกพยานที่เคยสอบปากคำมาแล้วมาให้ข้อมูลหรือไม่นั้น เราจะพิจารณาว่าจะเรียกพยานเหล่านี้มาให้ข้อมูลเมื่อไหร่ บางทีอาจต้องสอบกันในวันหยุดด้วยเพื่อให้เสร็จเร็วขึ้น
โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจในการเรียกพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
เมื่อถามว่า ปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากความบกพร่องของอัยการ นายวิชากล่าวว่า ในส่วนนี้ยังไม่พูด เพราะเราพูดไม่ได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนก่อน
เมื่อถามว่า ระบบตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้มีกี่หัวข้อและอะไรบ้าง นายวิชากล่าวว่า ในวันนี้เราจะพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบกฎหมาย จะเสนอในวันนี้ ต่อข้อถามว่า ข้อกฎหมายที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอนั้น จะรวมไปถึงอำนาจในการสั่งรื้อคดีของนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า
“เราจะดูในกรอบของกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ และจะหารือว่าเราจะใช้หลักอะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตลอดจนถึงข้อบกพร่อง หากมีข้อบกพร่องก็ต้องดูว่าจะแก้ไขอย่างไร สุดท้าย อย่าไปคาดเดาว่าจะเสนอหรือไม่เสนอ เมื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วคดีไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะตั้งหาประโยชน์อะไร มันไม่มีประโยชน์ ก็ต้องทำให้เป็นมรรคเป็นผล ส่วนจะเสร็จก่อนกำหนด 30 วันหรือไม่เราก็ไม่รู้ แต่เราจะทำอย่างเร็วที่สุด” นายวิชาชี้แจงถึงกรอบการทำหน้าที่และผลสรุปของคณะกรรมการฯ
หมายจับบอสยังอยู่
ภายหลังการประชุมใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง นายวิชากล่าวถึงผลการประชุมว่า ได้ข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะการประสานไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ เกี่ยวกับเรื่องหมายจับที่ตำรวจบอกว่าขอถอนหมายจับนายวรยุทธ ซึ่งทราบว่าวันนั้นตำรวจไปขอถอนหมายจับจริง แต่มีกลุ่มมวลชนนำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ไปยื่นคำร้องขอศาลอย่าเพิ่งถอนหมายจับ ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นต้องไต่สวนก่อน เมื่อมวลชนไปมากๆ จึงบอกพนักงานสอบสวนให้ถอนคำร้องไปดีกว่าหรือไม่ พนักงานสอบสวนจึงถอนคำร้องไปแล้ว จึงยืนยันว่าขณะนี้หมายจับยังอยู่
“เหตุที่หมายจับยังอยู่ เนื่องจากคดียังไม่ยุติ ยังเป็นปัญหาอยู่ อัยการก็เพิ่งแถลงไปเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ว่าจะนำข้อมูลเข้าใหม่และสั่งคดีใหม่ ซึ่งอาจสั่งคดีใหม่หรือไม่ก็ไม่ทราบ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ถอนหมายจับยังไม่ได้ ขณะนี้หมายจับยังอยู่ ขอแจ้งให้ประชาชนสบายใจว่าคดีนายวรยุทธยังไม่จบ ส่วนเรื่องหมายจับขององค์การตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล เรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจน และเราไม่สามารถไปแทรกแซงอินเตอร์โพลได้ เพราะมันอยู่นอกอำนาจเรา แต่ต่อไปคงขอรายละเอียดอีกที” นายวิชากล่าว
นายวิชายังกล่าวถึงการเรียกพยานมาสอบว่า ในวันที่ 6 ส.ค. จะเรียกทีมอัยการ โดยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด จะนำสำนวนที่อัยการตรวจสอบมาให้ถ้อยคำกับคณะทำงานตรวจสอบอัยการ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนสำนวนจากทุกฝ่าย ทั้งตำรวจ อัยการ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการชี้มูลพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวว่ามีความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง เราจะทำหนังสือขอมาทั้งหมด พร้อมกันนี้จะเรียกอัยการที่รวบรวมสำนวนและมีข้อโต้แย้งต่างๆ มาให้ข้อมูลในวันที่ 9 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันว่าเราทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หยุดแม้วันอาทิตย์
“อะไรที่เป็นประเด็นที่ประชาชนสงสัย หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เรารับฟังทั้งหมด หลังจากนี้จะเปิดอีเมลรับข้อมูลเพื่อตรวจสอบในทุกด้าน แต่เบื้องต้นส่งมาที่อีเมลผมก่อน คือ [email protected] ใครคับข้องใจสามารถส่งมาได้” นายวิชากล่าว
นายวิชากล่าวอีกว่า ขณะที่ในส่วนคณะทำงานตรวจสอบบุคคลทั่วไปที่มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน จะเชิญผู้ที่ตรวจสอบเรื่องความเร็วรถคือ นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ข้อมูล รวมถึงประเด็นสารโคเคนจะเชิญ นพ.วิชาญ เบี้ยวนิ่ม หัวหน้าสาขาวิชานิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีมา ส่วนคณะทำงานตรวจสอบตำรวจที่มีนายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธานนั้น ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงการเรียกพยาน อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเชิญใครบ้าง แต่อย่างน้อยสัปดาห์หน้า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คงต้องมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นวันอังคารหรือวันศุกร์
ตรวจสอบการเงินแน่
เมื่อถามว่า นายกฯ ได้ฝากอะไรมายังคณะกรรมการบ้าง นายวิชาตอบว่า ไม่มี เพียงแต่บอกให้เราให้ทำเต็มที่ ให้ประชาชนสบายใจ ทุกเรื่องกระจ่าง ไม่มีลับลมคมใน ส่วนการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้น เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน แต่ขณะนี้ยังเริ่มตรวจสอบไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้เป็นคดีที่ประพฤติมิชอบ หรือคดีที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบเส้นทางการเงิน แต่หากต้องตรวจสอบก็ต้องลิสต์รายชื่อไป เพราะต้องมีความแน่นอน
ด้านนายมุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวถึงกรณีอัยการแถลงว่า ไม่มีผลต่อคณะกรรมการ โดยข้อมูลที่แถลงมาเรานำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เชื่อผลการสอบสวนของใคร เพราะเรามีหน้าที่ต้องสอบหาความจริง ในส่วนของเราเองจึงต้องดูทุกสำนวน หลักฐานทั้งหมด และใช้ดุลพินิจ
“ข่าวดีของคดีนี้คือ อย่างน้อยที่สุดก็มีทางออก ทั้งเรื่องพยานหลักฐานใหม่ เรื่องการพบสารเสพติด ซึ่งอาจเป็นคดีแยกออกมาต่างหาก และหากคิดในแง่ดี คณะกรรมการชุดนี้ว่าอาจช่วยอัยการในการเข้าไปดูว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ ช่วยให้การทำงานรอบด้านมากขึ้น เพราะข้อพิรุธที่สังคมยังคลางแคลงใจ เราต้องนำไปดูให้หมดและอธิบายให้สังคมได้รู้” นายมุนินทร์ระบุ
วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐ วิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญนายเนตร นาคสุข รอง อสส.ที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำคดีนี้ของฝ่ายอัยการ นำโดยนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี, นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา และนายฤชา ไกรฤกษ์ อธิบดีอัยการ เจ้าของสำนวน พร้อมนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ตรวจวัดความเร็วรถของนายวรยุทธ 76 กม./ชม. มาชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งนายเนตรไม่ได้มาชี้แจงต่อ กมธ.แต่อย่างใด
โดยนายประยุทธกล่าวว่า การสั่งไม่ฟ้องของนายเนตรครั้งนี้มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งนายวรยุทธมีการร้องขอความเป็นธรรมอยู่หลายครั้ง รวมถึงการร้องต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้มีพยานยืนยันสอดคล้องตรงกันว่าความเร็วรถของนายวรยุทธไม่ถึง 80 กม./ชม.
ส่วนนายสายประสิทธิ์ยืนยันว่า เป็นการคำนวณตามหลักการทางวิชาการ โดยวิเคราะห์จากภาพที่เกิดขึ้น ตรวจสอบความเร็วจากหน้าปัดนาฬิกาที่โชว์บนคลิป และใช้สูตรปกติคือ ระยะทางหารด้วยเวลา สมมติฐานที่เกิดขึ้นเป็นการทำตามหลักการ และจะใช้หรือไม่ขึ้นอยู่ดุลพินิจของ กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.
ไม่ต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์
นายฤชา ในฐานะหนึ่งในอัยการที่มีความเห็นให้ฟ้องนายวรยุทธกล่าวว่า การสั่งคดีดำเนินการในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน โดยสั่งฟ้อง 4 ข้อหา ซึ่งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พบการตรวจความเร็วจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งบริเวณที่เกิดเหตุ และความเห็นส่วนตัว นอกจากการคำนวณความเร็วจากกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้ช่วยจะสอนน้องๆ เสมอว่า บางครั้งพยานนิติวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็น 100% ถ้าเราวินิจฉัยได้จากพยานวัตถุที่โกหกไม่ได้ หรือบิดเพี้ยนไม่ได้ กรณีนี้ดูกระจกหน้ารถยนต์ของผู้ต้องหาว่าแตกเป็นใยแมงมุมละเอียดเลย ดูความเสียหายของรถและสภาพศพของผู้ตายหลังเกิดเหตุน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุนายวรยุทธขับรถด้วยความเร็วสูงมาก ซึ่งพยานนิติวิทยาศาสตร์บางครั้งอาจไม่จำเป็นที่ต้องนำมาใช้ในกรณีนี้เลย
ส่วนประเด็นข้อหายาเสพติด นายฤชากล่าวว่า หลักทำงานเมื่อรับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เราจะพิจารณาข้อกล่าวหาจากที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ซึ่งข้อหาโคเคน ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหามา และเมื่อฟังคำชี้แจงพบว่าผลการตรวจร่างกายไม่พบสารโคเคนโดยตรง
ทั้งนี้ นายฤชาปฏิเสธชี้แจงประเด็นที่ก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานอัยการคนอื่นหลังจากรับสำนวนต่อ เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียงองค์กร
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า คดีนี้ผิดปกติตั้งแต่เริ่มจนถึงวินาทีนี้ โดยเฉพาะพยานบุคคลที่ไม่เคยมีใครพูดเลยว่าพยานแต่ละคนมีที่มาอย่างไร ทุกคนพูดเพียงแต่คำบอกเล่าของพยานเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายพยานบอกเล่าไม่สามารถรับฟังได้ ซึ่งอัยการพูดเองว่าอะไรที่เป็นความเห็นส่วนตัวย่อมฟังไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่วินิจฉัยทั้งฝ่ายอัยการและตำรวจกลับไม่ออกมาพูดข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
“หากคดีนี้เป็นคดีปกติจริง เหตุใดทั้ง 2 องค์กรจึงไม่นำคนที่วินิจฉัยเรื่องนี้มาชี้แจงต่อสังคม เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่ละองค์กรกลับให้คนนั้นคนนี้มาอธิบายเหตุผลแทน ดังนั้น สิ่งอัยการกำลังชี้แจงในวันนี้เป็นการให้ความเห็นส่วนตัวใช่หรือไม่ ว่านายเนตรสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ใช้ดุลพินิจอย่างไร เช่นเดียวกับตำรวจที่มาในวันนี้ก็ไม่ใช่ความเห็นโดยตรงของ พ.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจกลับมานั่งอธิบายในสิ่งที่คนอื่นทำ ส่วนคนที่ทำไม่ต้องพูด แบบนี้มันปกติหรือไม่ ซึ่งความผิดปกติเรื่องนี้คือ คนในองค์กรทั้ง 2 องค์กรต่างพร้อมใจกันเอาเกียรติยศขององค์กรมาเสี่ยงเพราะคนเพียง 2 คน ทั้งที่เป็นองค์กรสำคัญ และเป็นหลักค้ำจุนประเทศอยู่” นายพีระพันธุ์กล่าว
ด้านนายสิระกล่าวว่า ได้ขอมติที่ประชุมให้เชิญนายเนตร, พล.ต.ท.เพิ่มพูน, นายวรยุทธ และนายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความของนายวรยุทธอีกครั้ง หากไม่มาจะใช้พระราชบัญญัติคำสั่งเรียก เพราะได้เชิญมา 2 ครั้งแล้ว พร้อมกันนี้ยังมีมติให้เชิญนายธนิต บัวเขียว ทีมผู้ช่วยนายวรยุทธมา และนายธานี อ่อนละเอียด รวมทั้ง กมธ.กฎหมาย สนช. มาให้ข้อมูล
ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) จ.นครราชสีมา นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เดินทางมาสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ประมวลวิธีพิจารณาคดีอาญาเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2477 ซึ่งการทำงานตามระเบียบดังกล่าวเปรียบเสมือนตราชู ส่วนที่กล่าวกันว่าตราชูเอียง ตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ระบบ เพราะระบบกฎหมายดีอยู่แล้ว แต่ตราชูจะเอียงนั้นอยู่ที่คนชั่งตราชู ตรงนี้จึงต้องไปดูตรงบุคลากรว่าได้สั่งคดีตามกฎหมายและระเบียบถูกต้องโดยชอบหรือไม่
อรรถพลลั่นคดียังไม่จบ
นายอรรถพลกล่าวว่า ตนเองเป็นประธาน ก.อ. เปรียบเสมือนผู้คุมกฎ ซึ่งในสำนวนนี้ประชาชนยังเข้าใจผิดจากคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องตามที่ทราบกันนั้น เป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือไม่ อยากให้ไปดูข่าวที่นำเสนอถึงอัยการสูงสุด แล้วจะทราบว่าคดีนี้ยังไม่จบ เพราะเราไม่มีการแบ่งแยกคนจนคนรวย การร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของนายวรยุทธนั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส.ขณะนั้นได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธแล้ว ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย คือคำสั่งของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ที่สั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้
ส่วนประเด็นเรื่องที่นายเนตรมากลับความเห็นได้ชี้แจงต่อนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อสส.ปัจจุบัน ว่าหากมีกรณีร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการอีก การที่พนักงานอัยการคนใดจะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคำสั่งใดๆ ใหม่ ต้องมีคำสั่งจาก อสส.ก่อนจึงดำเนินการได้ กรณีนี้จึงเป็นกรณีที่ อสส.ได้วินิจฉัยไว้แล้ว และให้ยุติกรณีร้องขอความเป็นธรรม หากพนักงานอัยการผู้ใดหยิบคำร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคำสั่งให้ดำเนินการเพิ่มเติมโดยมิได้ขออนุญาตหรือความเห็นชอบต่ออัยการสูงสุด ซึ่งคดีนี้ทราบว่าไม่มีการขอ ขั้นตอนต่อไปหลังออกคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวไม่อาจมีผลใช้บังคับ
“คำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ยังมีผลอยู่ นั่นคือตอนนี้อัยการมีคำสั่งฟ้องอยู่ ที่บอกว่าต้องไปรื้อ ไม่ต้องไปรื้อ เพราะคำสั่งฟ้องเดิมยังใช้ได้อยู่ ซึ่งได้ทำหนังสือถึง อสส. ในฐานะประธาน ก.อ. อยากชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า จนหรือรวยติดคุกได้หมด คนรวยติดคุกหลายคนแล้ว บางคนตายในคุกด้วย”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายอรรถพลได้ทำหนังสือบันทึกข้อความถึงนายวงศ์สกุล โดยอธิบายในข้อกฎหมายต่างๆ รวม 6 ข้อในเรื่องดังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |