สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาพรวมการค้าและเศรษฐกิจโลกในปี 2563 หลายประเทศต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก สะท้อนจากตัวเลขการค้า การลงทุน และตัวเลขของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่ง “ประเทศไทย” ก็หนีไม่พ้นแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวด้วยเช่นกัน
โดยตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยก็ชะลอตัวลง หลักๆ เป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ถือเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นในการดำเนินการ แต่ก็มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะ “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างเป็นกอบเป็นกำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ได้ระบุถึงสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงเดือน มิ.ย.2563 ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
ขณะที่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS RESEARCH) ประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 2/2563 จะเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของผู้ประกอบการโรงแรม ด้วยผลขาดทุนจำนวนมากถึง 6.6 พันล้านบาท เพราะเป็นไตรมาสที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลก รวมถึงการสั่งห้ามเที่ยวบินพาณิชย์ทุกเที่ยวบินเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วงเวลาดังกล่าวเลย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนี้ทำให้คาดว่าอัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมจะอยู่ในระดับต่ำเพียง 5-6% และจะส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องปรับลดลงถึง 91-94% จากปีก่อน
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ จนทำให้โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง รวมถึงได้มีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้
แต่ในขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการลดต้นทุนเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน แม้ว่าจะมีการประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2563 จะเป็นจุดต่ำสุด และเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากแรงสนับสนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากโรงแรมต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการ แต่ก็เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการลดต้นทุนอย่างจริงจัง เพื่อลดจุดคุ้มทุนลง และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรท่ามกลางอุปสงค์ที่เปราะบาง
ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองภาพมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐว่า จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีการออกแบบที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมผู้ประกอบการในห่วงโซ่ของภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขนส่งและธุรกิจท่องถิ่นอย่างร้านขายของที่ระลึก หรือร้านอาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ มองว่ามาตรการยังจะมีผลทางจิตวิทยากระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางบวกเพิ่มเติมต่อทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเดิมที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินว่า ตลาดท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกันต่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นตอนไหน เพราะนั่นหมายถึงการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อภาพรวมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกด้วย.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |