อัยการเคลียร์‘คดีบอส’ขึงพืดตร.


เพิ่มเพื่อน    

 

อัยการแถลงอุ้ม “เนตร นาคสุข” สั่งไม่ฟ้องคดี "บอส" ตามพยานหลักฐานที่เห็นในสำนวนถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ ทิ้งบอมบ์ ตร. ไม่ปรากฏเรื่องความเร็วรถ 170 กม./ชม. ของ "ดร.สธน" ในสำนวน พฐ.มีกระดาษแผ่นเดียว ผลตรวจโคเคนในเลือดก็ไม่แจ้งข้อหา ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่เสนอ อสส.แจ้ง พงส.ดำเนินคดีต่อไป นายกฯ ขอให้ใจเย็น รอผลสอบ กก.ทั้ง 3 ชุด "ปกรณ์" ชี้หากอัยการ-ตร.ใช้สำนวนชุดเดียวกัน ผลสอบต้องตรงกัน ย้ำดึง ปปง.สอบเส้นทางการเงินทุจริตด้วย

    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม ที่ห้องประชุม 120 ปี ชั้น 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีกรณีไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิต แถลงข่าวผลการตรวจสอบพิจารณา โดยผู้แถลงประกอบด้วย นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน, นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี คณะทำงาน, นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เลขานุการคณะทำงาน, นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา คณะทำงาน และ น.ส.เสฏฐา เธียรพิลากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนตอบคำถามสื่อต่างประเทศ
    โดยนายประยุทธกล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด แล้วมีความเห็นว่านายเนตรได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติมซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจ รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อพิจารณา อันเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ต่อมา ผช.ผบ.ตร.ได้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คณะทำงานเห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตรเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว
    "แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว คณะทำงานฯ พบว่าคดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้ โดยคณะทำงานมีความเห็นว่าคณะทำงานตรวจพบในสำนวนสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 ในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี (อายุความ 10 ปี)"
     รองโฆษก อสส.กล่าวอีกว่า ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 และ ผบ.ตร.ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว อันเป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีกก็ตาม แต่ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญ คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อ ว่าขณะเกิดเหตุ ดร.สธนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยาน ที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ โดย ดร.สธนได้ทำรายงานการคิดคำนวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่าขณะเกิดเหตุรถของผู้ต้องหาที่ 1 แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน  
ชงสอบเพิ่มความเร็ว-โคเคน
     “นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อจากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคิด คำนวณหาความเร็วของรถ และตนได้คิด คำนวณ พร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาที่ 1 ได้ ตามบทบัญญัติ ป.อาญา มาตรา 147 ทั้งสองประเด็นดังกล่าวคณะทำงานจึงมีความเห็นและนำกราบเรียนอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป” นายประยุทธกล่าว
     ขณะที่นายชาญชัยกล่าวว่า การสั่งคดีของอัยการเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน เรื่องความเร็วของรถ นายเนตรสั่งเนื่องจากพยานให้การความเร็วรถไม่เกิน 80 กม./ชม. โดยพยานผู้เชี่ยวชาญครั้งแรกให้การความเร็วรถที่ 177 กม./ชม. แต่ภายหลังพยานคนเดียวกันอ้างว่าไม่สมบูรณ์ ไม่ชัดเจน เมื่อทดสอบใหม่แล้วไม่เกิน 80 กม./ชม. เมื่อไม่ปรากฏเรื่องความเร็วเกิน ย่อมถือได้ว่าข้อเท็จจริงเปลี่ยน และพยานทุกคนบอกความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. รวมถึงนายจารุชาติ มาดทอง พยานผู้ขับรถปิกอัพในกล้องวงจรปิด ก็ระบุว่าตนขับรถมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. การสั่งคดีทำได้แค่ข้อเท็จจริงในสำนวน ส่วนการหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป ไม่ใช่เรียกว่าการรื้อฟื้นคดี แต่เป็นพยานหลักฐานใหม่
     นายชาญชัยกล่าวถึงกรณีนายวรยุทธเสพโคเคนและเมาหรือไม่ ว่าขณะตรวจวัดแอลกอฮอล์ ผู้ต้องหาที่ 1 ตรวจเลือดพบมีปริมาณแอลกอฮอล์ 69 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคำนวณอัตราแอลกอฮอล์ที่ลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ย้อนไปเวลาขณะเกิดเหตุจะได้ 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมาจนไม่มีสติขับรถได้ แต่ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าขับรถในขณะเมาสุรา ส่วนประเด็นสารที่พบในเลือดมาจากการที่ร่างกายได้รับโคเคนนั้น จะเกิดจากการที่เสพยาเสพติดหรือเกิดจากกรณีอื่นก็ได้ ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนสอบทันตแพทย์ระบุว่าได้ให้ยาผู้ต้องหารักษาฟัน จึงไม่ดำเนินคดีข้อหาเสพยาเสพติด ซึ่งคณะทำงานไม่เห็นด้วย จึงขอให้สอบสวนว่าสารดังกล่าวมาจากการเสพโคเคนหรือยาปฏิชีวนะ  
    "เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นปัญหาเชิงระบบจากดุลพินิจของพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว เราควรจะร่วมกันเข้าไปสอบสวนอย่างทันท่วงที ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดควรจะมีกรอบระยะเวลาให้ยุติได้ด้วยความเป็นธรรม ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ร้องครั้งเดียว และกรณีความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่แตกต่างกันแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ควรให้มีการตรวจพิสูจน์กันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง จะต้องเช็กบาลานซ์กันอย่างไร" นายชาญชัยกล่าว
พฐ.ส่งกระดาษใบเดียว
    ด้านนายอิทธิพรกล่าวว่า คณะทำงานไม่มีอำนาจพิจารณาในส่วนของตัวบุคคล เราจึงมีความเห็นเสนอไปยัง อสส.พิจารณาดำเนินตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ พ.ศ.2553 ว่าเรื่องนี้จะมีความบกพร่องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ อสส.ต้องดำเนินการ
     เมื่อถามว่า การพิจารณาดำเนินคดีจะต้องใช้พยานหลักฐานเรื่องความเร็วและเรื่องโคเคน นำไปให้ตำรวจสอบสวนใหม่ใช่หรือไม่ และเมื่อสอบสวนแล้วจะนำมาพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาใหม่ได้หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า พนักงานสอบสวนจากกองพิสูจน์หลักฐานมีเพียงกระดาษใบเดียว ไม่มีวิธีคิดหรืออธิบายสูตรความเร็ว เหมือนตอนที่คิดและเปิดเผยสูตรต่อสื่อมวลชน แต่ปรากฏว่าภายหลัง ดร.สธนอธิบายโดยมีตัวเลขพร้อมหลักฐานการคิดคำนวณแต่ไม่มีในสำนวน ถ้ามีเรื่องนี้ในสำนวนอย่างที่สื่อมวลชนลง และ ดร.สธนจะช่วยงานในเรื่องความเร็วต่อในคดีนี้
    ส่วนนายปรเมศวร์ตอบคำถามเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมเป็นช่องทางการประวิงเวลา จะเป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ว่าในการร้องขอความเป็นธรรม มีการร้องเข้ามาจนอัยการไม่รับ ฝ่ายผู้ต้องหาก็ไปร้อง กมธ.ที่สภา นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และ กมธ.ก็ส่งเรื่องกลับมาอัยการ แต่อัยการก็ยังไม่เชื่อและสั่งสอบสวน พยานที่ร้องในชั้น กมธ.เป็นพยานเก่าเกือบทั้งหมด มีพยานปากใหม่เป็นทหารอากาศ 2 นายที่เพิ่มเข้ามา มีเพียงพยานปากนายจารุชาติที่เป็นพยานปากเดิมหลังจากเกิดเหตุ 5 วัน ว่ารถของผู้ตายขับอยู่ด้านหน้าและเบียดไปช่องทางเดียวกับรถเฟอร์รารี แต่ตอนแรกที่ให้การไม่ได้แจ้งความเร็ว
     เมื่อถามถึงประเด็นการเพิกถอนหมายจับนายวรยุทธ นายปรเมศวร์กล่าวว่า ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนสามารถไปยื่นเรื่องขอเพิกถอนหมายจับนายวรยุทธต่อศาลได้ แต่หากว่าอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเรื่อง พ.ร.บ.ยาเสพติด และข้อหาขับรถโดยประมาทจากพยานหลักฐานใหม่ พนักงานสอบสวนก็สามารถยื่นขออนุมัติหมายจับจากศาลได้ใหม่
    ทางด้านนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะมีการเสนอให้ อสส.มีคำสั่งในประเด็นที่ปรากฏจากสื่อถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคดีตามที่ปรากฏหน้าสื่อมวลชน ก็ต้องอยู่ที่ อสส.พิจารณาว่าจะตั้งคณะทำงานหรือสั่งพนักงานสอบสวนดำเนินการ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า ต้องรอฟังการสอบสวนของอัยการ ตำรวจ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ว่าจะพิจารณาดำเนินการตรงไหนได้บ้าง เพราะเป็นอำนาจ 3 ฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ โดยขอให้ใจเย็นสักนิดหนึ่ง คณะกรรมการชุดนายวิชาได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะ ก็จะตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อหาความบกพร่องว่าอยู่ตรงไหร เพื่อจะได้หาวิธีปฏิบัติต่อไป
ขอปปง.สอบเส้นทางการเงิน
    ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบด้านกฎหมายฯ  เปิดเผยว่า คณะทำงานชุดนี้จะแยกกันในส่วนข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย ขณะที่ข้อเท็จจริงคณะกรรมการฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูเรื่องของอัยการ ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้อง ส่วนคณะทำงานของตนจะดูข้อกฎหมายมาประกอบ เพื่อดูว่ามีช่องโหว่อย่างไร ซึ่งจะต้องดูทุกสำนวนของคดีประกอบกัน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วถึงจะเข้าการสู่พิจารณาในข้อกฎหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับอยู่แล้ว คือ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ.... ซึ่งก่อนหน้านี้มีการพูดแค่พนักงานสอบสวน จากนี้ต้องมาดูว่าอาจจะขยายข้อกฎหมายเพิ่มไปถึงการสั่งคดีของอัยการหรือไม่ ส่วนการแถลงผลการตรวจสอบของอัยการนั้นตนยังไม่เห็น แต่ว่าไปตามหลักการ
    เมื่อถามว่า หากสุดท้ายแล้วผลการตรวจสอบของอัยการและผลการตรวจสอบของตำรวจออกมาไม่ตรงกันจะทำอย่างไร นายปกรณ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วถ้าใช้สำนวนชุดเดียวกันก็ต้องตรงกัน แต่ถ้ามาไม่เหมือนกัน เรามีหน้าที่ไปดูว่า คนนี้ว่าอย่างไร และอีกคนว่าอย่างไร ส่วนการตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วยนั้น คงจะต้องตรวจสอบทั้งหมดว่ามีกระบวนการเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่  
    เมื่อถามว่าจะมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงอัยการและตำรวจด้วยใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ใช่ ทั้งหมดเลย นายวิชาจะขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต่อไป ทั้งนี้ ตนไม่มีธง ไม่กดดัน เพราะข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.วันที่ 5 ส.ค.นี้ ได้เชิญหลายฝ่ายมาชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่ม เช่น กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), อัยการ, ตำรวจ ซึ่งตรเชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือกับ กมธ.กฎหมาย เพราะการดำเนินการในครั้งนี้ กำลังสร้างบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งในคดีนี้และคดีต่างๆ ในอนาคต เชื่อมั่นใน กมธ.กฎหมายว่าจะเป็นแกนหลักในการหาคำตอบเรื่องนี้ให้กับสังคมและประชาชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"