ไม่พลิกอัยการอุ้ม"เนตร-รองอสส." เอาผิดสอบสวนใหม่ "บอส-เรดบูล"


เพิ่มเพื่อน    

            สรุปประเด็นหลักๆ ในคำแถลงของ "คณะทำงานฝ่ายอัยการที่ตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีกรณีไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง-Red bull" ที่คณะทำงานฯ แถลงไว้เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา

            คณะทำงานฯ ที่นำการแถลงโดย ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด-อิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นต้น

            ไล่เรียงประเด็นตามเนื้อหาการแถลงสรุปให้เข้าใจพอสังเขปได้ว่า หลังคณะทำงานฯ พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน เห็นว่า  

            1.การพิจารณาสั่งคดีที่สั่งไม่ฟ้องของ "เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด"

            คณะทำงานได้ข้อสรุปว่า การส่งยุติคดีดังกล่าวเป็นการดุลยพินิจไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจ รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้วได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต่อมา ผช.ผบ.ตร. (พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ) มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คณะทำงานเห็นว่าการสั่งคดีของเนตร รองอัยการสูงสุด จึงเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

            อย่างไรก็ตาม "อิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา หนึ่งในคณะทำงานฯ" บอกไว้ตอนแถลงข่าวว่า การที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัยในคำสั่งของพนักงานอัยการ น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคล แต่เนื่องจากคณะทำงานฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาในส่วนของตัวบุคคล คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ พ.ศ.2553 ว่าเรื่องนี้จะมีความบกพร่องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่อัยการสูงสุดต้องดำเนินการ เพราะ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ กำหนดวิธีการในการพิจารณาในเรื่องของวินัยเอาไว้แล้ว และตาม พ.ร.บ.ฯ ก็มีทั้งเรื่องวินัยและอีกหลายเรื่อง อำนาจหน้าที่เป็นของคณะกรรมการอัยการที่จะเป็นผู้พิจารณา

            ประเด็นนี้ต้องดูว่า สุดท้าย "วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด" จะมีท่าทีอย่างไร กระนั้นเมื่อคณะทำงานของอัยการที่วงศ์สกุลตั้งมากับมือ สรุปชี้ชัดว่าการสั่งคดีของเนตร-รองอัยการสูงสุด เป็นการสั่งคดีโดยชอบ ทางวงศ์สกุล-อสส.ก็อาจไม่ขยับอะไร เช่น อาจไม่นำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ที่มี "อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด" เป็นประธาน ก็เป็นไปได้

            หากเป็นแบบนี้ ยังไงก็ยากที่จะหยุดกระแสสังคม วิพากษ์วิจารณ์ว่าอัยการอุ้มอัยการ

            2.คดียังไม่สิ้นสุด วิบากกรรม "บอส-เรดบูล" ยังมีอยู่ ยังต้องหลบหนีคดีในต่างประเทศอีกยาว

            หลังคณะทำงานอัยการชี้ว่า แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง-บอส-วรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทฯ ไปแล้ว แต่เรื่องยังไม่จบ คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะการสอบสวนเอาผิดคดีอาญา เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้

            โดยประเด็นที่คณะทำงานอัยการชี้ช่องไว้ก็เป็นไปตามที่หลายคนทราบก่อนหน้านี้คือ พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อส่งตัวนายบอสไปให้คณะแพทยศาสตร์ มหิดล รพ.รามาฯ ตรวจหาสารแปลกปลอมในร่างกาย แล้วมีการทำรายงานมาให้ตำรวจว่าพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่ตำรวจกลับไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนนายวรยุทธในข้อหาเสพยาเสพติดขณะขับรถ คณะทำงานอัยการจึงเห็นว่าสามารถใช้ประเด็นดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานใหม่เอาผิดนายวรยุทธตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ได้ เพราะเป็นข้อหาที่มีอายุความ 10 ปี

            และอีกประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การสอบสวนตามพยานหลักฐานใหม่ ก็คือเรื่อง "การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด” คณะทำงานของอัยการรอบนี้ให้ความสำคัญกับความเห็นทางนิติวิทยาศาสตร์ของ “ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่พบว่าขณะเกิดเหตุ ดร.สธนที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และต่อมาทำรายงานส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยระบุว่ารถของนายวรยุทธขับด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความเห็นดังกล่าวกลับไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน

            รวมถึงคณะทำงานได้พิจารณาคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.-อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ประชาธิปัตย์ ที่จบการศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ที่ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า จากการคำนวณหาความเร็วของรถที่นายวรยุทธขับขี่ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

            ทั้งสองความเห็นข้างต้นคือ “ดร.สธน-ดร.สามารถ” คณะทำงานอัยการจึงเห็นว่าเรื่องความเร็วรถและการตรวจพบสารเสพติดนายวรยุทธถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และมีน้ำหนักที่จะทำให้ศาลลงโทษนายวรยุทธได้ จึงทำความเห็นส่งอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป

            เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับคดีบอส-วรยุทธ จึงเป็นหนังยาว คดียังไม่สิ้นสุด และจะถูกสอบสวนเอาผิดเพิ่มเติมในข้อหาเสพยาเสพติดขณะขับรถ ที่มีบทลงโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี

            การสอบสวนคดีนายวรยุทธรอบใหม่ คนที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจและอัยการ ที่ต้องมารับไม้ทำสำนวนคดีนายวรยุทธ คาดการณ์ไว้ว่าเมื่อคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศสนใจ-เฝ้าติดตามเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างใกล้ชิด ย่อมทำให้การทำคดี-สั่งคดีของตำรวจและอัยการน่าจะพลิกได้ยาก คงไม่มีใครกล้าทำอะไรนอกลู่นอกรอยเพื่อช่วยนายวรยุทธ นอกเสียจากฝ่ายทนายความของนายวรยุทธมีพยานหลักฐานเด็ดจริงๆ มาหักล้างข้อกล่าวหา ซึ่งเท่าที่สังคมเห็นพบว่ายังไม่มี

                ทำให้มีโอกาสสูงไม่น้อยที่อาจมีการสั่งฟ้องนายวรยุทธในการสอบสวนรอบใหม่ และนั่นจะทำให้นายวรยุทธคงหนีคดีอยู่ต่างประเทศอีกหลายปีหรือตลอดชีวิต.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"