พรรครัฐบาล-ฝ่ายค้านติดเครื่องเร่งแก้ รธน. เพื่อไทยมีมติลุยเต็มสูบให้ ส.ส.ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เปิดช่องให้มี ส.ส.ร. เสนอเข้าสภา 4 ส.ค.หรือช้าสุดไม่เกินสัปดาห์นี้ ประชาธิปัตย์เอาด้วย "เทพไท" ขอยืมลายเซ็น ส.ส.ภูมิใจไทยเสนอญัตติประกบ "ก้าวไกล" ชงทำประชามติสองรอบ อ้างต้องแก้เพื่อถอดสลักระเบิดเวลา
ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะซีกพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่าเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจังเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน แถลงท่าทีของกรรมาธิการสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีการร่าง รธน.ฉบับใหม่
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ารับทราบข่าวแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งอะไรมา ถามย้ำถึงการแก้ไข ม.256 นายวิษณุไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด ก่อนขึ้นห้องทำงานทันที
ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหนึ่งใน กมธ.ชุดดังกล่าว ย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ต้น และในฐานะเจ้าของญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
"ผมจะเสนอร่างแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ 1.แก้ไขมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาตามมาตรฐานสากล และมีการลงประชามติจากประชาชนด้วย 2.ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ตัวแทนนักวิชาการทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในทุกจังหวัด 3.มีการกำหนดความชัดเจนเรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นการแก้ไขที่ไม่ให้มีการแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขการปลุกระดมในช่วงการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น"
นายเทพไทกล่าวอีกว่า จากบทบัญญัติเรื่องการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (2) ของ รธน.ฉบับปัจจุบัน จะต้องใช้เสียงของ ส.ส.จำนวนหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ คือประมาณ 100 คน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.อยู่ 52 คน จำเป็นต้องขอเสียงสนับสนุน จากพรรคการเมืองอื่นเพื่อลงชื่อในญัตติให้ครบ 100 คนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องแสวงหาแนวร่วมจากพรรคการเมืองอื่นๆ อีกด้วย ในเบื้องต้นส่วนตัวได้ประสานงานเป็นการภายในกับ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยไว้บ้างแล้ว และหวังว่าจะมีเสียงสนับสนุนครบ 100 คน สามารถยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน
ขณะที่ท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน ที่พรรคเพื่อไทยมีประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุมพร้อมด้วยแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน
จากนั้นคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวภายหลังประชุมว่า สถานการณ์ที่จะทำให้บ้านเมืองเดินไปได้คือการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเห็นด้วยกับ กมธ.ที่นำเสนอใน 2 เรื่องหลัก คือการให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น และทำให้เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น นอกจากนี้คณะกรรมการได้พิจารณาถึงเรื่องเงื่อนเวลา ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันทั้งปัญหาจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล สภาวะที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ถ้าต้องการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นทางออกทางรอดของประเทศไทย เงื่อนเวลาในการดำเนินการแก้ไขต้องใช้ไม่มากนัก
"เห็นว่าระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรเกิน 7-8 เดือน และกระบวนการทั้งหมดไม่ควรเกิน 1 ปี ซึ่งเรามองว่าระยะเวลาดังกล่าวสามารถทำได้ เพราะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นแบบ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ และหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ควรยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยยังกล่าวถึงกรณี ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.เพราะเป็นการตีเช็คเปล่าว่า มีการตีเช็คเปล่าโดยไม่ยึดโยงอำนาจของประชาชนมามากหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ 2560 อันมี ส.ว. 250 คน คือการตีเช็คเปล่าของจริง แต่การมี ส.ส.ร.จะมาจากประชาชน คืออำนาจอันชอบธรรมที่จะกำหนดทิศทางของประเทศ และกำหนดกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้นจึงไม่ใช่เช็คเปล่า แต่เป็นเช็คที่เขียนเต็มจำนวนในการให้อำนาจประชาชน และคนที่คิดว่าเป็นการตีเช็คเปล่าคือคนที่มองไม่เห็นความสำคัญของประชาชน จึงขอเรียกร้องความจริงใจจากนายกฯ เป็นลำดับแรก ซึ่งการเสนอแก้รัฐธรรมนูญไม่เกิน 1 ปีไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หากนายกฯ มีความจริงใจในการคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ชาติประชาชน นายกฯ ต้องสั่งการให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลร่วมสนับสนุน
"พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานหยุดการคุกคามนิสิตนักศึกษาในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในสถานศึกษาหรือที่พักอาศัย เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภา กล่าวเช่นกันในประเด็นเรื่องการทำประชามติร่าง รธน.หลัง ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่เสร็จสิ้นว่า ที่ห่วงว่าทำประชามติหลายครั้งจะใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งครั้งแรกคือฉบับปัจจุบันและอีกครั้งจะเป็นฉบับที่ ส.ส.ร.ร่างขึ้น มีคนบอกว่าจะใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาทนั้น หากจะต้องเสียเงิน 6 พันล้านบาทเพื่อให้มีโรดแมปของประเทศ คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แพงมากหรืออย่างไรกับที่เรานำเงินไปซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น
นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ส.ส.ร.อาจจะเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.ก็ได้ ดังนั้นวันนี้ขอ ส.ว.อย่าวิตก ซึ่งสามารถพูดคุยให้เหตุผลได้
ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ ซึ่งหลังประชุมเสร็จ แกนนำพรรคเพื่อไทยได้แถลงข่าวร่วมกัน อันประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน
นายสมพงษ์แถลงว่า พรรคเพื่อไทยมีมติเอกฉันท์ให้พรรคดำเนินการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยจะขมวดปมให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยจะเสนอสภาเร็วที่สุด 4 ส.ค. วันนี้ถือว่าเราได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกที่ควร เพราะถ้าหากเราดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่น เกรงว่าจะเกิดความล่าช้าและเปลืองงบในการทำประชามติ อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยเปิดโอกาสและยินดีหากพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล รวมถึง ส.ว.จะร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติในแนวทางเดียวกันนี้ ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทุกคนทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รูปแบบอาจจะแตกต่างกัน
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างการแก้ไขของเพื่อไทยจะได้เสนอเป็นญัตติต่อไป และเปิดกว้างให้ ส.ส.ทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาลมาลงชื่อร่วมกัน หรือพรรคใดประสงค์จะยื่นเป็นญัตติประกบก็สามารถทำได้ และหากเป็นญัตติที่มีแนวทางหลักการตรงกันก็สามารถร่วมลงชื่อได้
นายสุทินกล่าวว่า มติพรรคเพื่อไทยออกแล้ว วันที่ 4 ส.ค.จะมีการเข้าชื่อกันครบ ก็เป็นไปได้ที่จะเสนอต่อสภาเลย หรืออย่างช้าก็ยื่นได้ไม่เกินวันพฤหัสบดีที่ 6 ส.ค. หรืออาจเร็วกว่านั้น
ส่วนพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.เป็น "ระเบิดเวลา" สำหรับสังคมไทย จะยิ่งสะสมปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองรอวันปะทุขึ้นมา จึงต้องช่วยกันถอดสลักระเบิดเวลาลูกนี้ ด้วยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพราะนี่เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในการแสวงหาฉันทามติและความปรองดองครั้งใหม่ นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของสังคมไทย
"เมื่อรัฐสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปลดล็อก ม.256 และเปิดทางให้มี ส.ส.ร.แล้ว ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองผ่านการลงประชามติครั้งที่ 1 ว่าเจ้าของอำนาจอธิปไตยส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่ ส.ว.จะยอมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าประชามติครั้งที่ 1 ผ่าน และ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ก็ส่งตรงไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองผ่านการลงประชามติครั้งที่ 2 ว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร.หรือไม่" นายชัยธวัชกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |