คดีดัง “บอส เรดบูล” วรยุทธ อยู่วิทยา บุตรชายของ เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของอาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อ “REDBULL” ที่อัยการและตำรวจเห็นพ้องกันสั่งไม่ฟ้องคดี โดยทาง ตร.ไม่มีเสียงค้านสักแอะ ทำให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากคนที่ผิดเต็มประตู เหตุใดจึงหลุดพ้นความผิดขับรถชนคนตายไปได้
ค้นไปค้นมา “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของคดีมาจากคณะกรรมาธิการการกฎหมาย (กมธ.) กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน กมธ.
ปัจจุบัน อดีต กมธ.ในชุดนี้หลายคนกลายมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือบางคนก็เป็นใหญ่เป็นโตในวงกระบวนการยุติธรรม
เมื่อเกิดเรื่อง ธานี อ่อนละเอียด ส.ว. และอดีตเลขานุการ กมธ.กฎหมายฯ ออกมาชี้แจงแทนคณะ กมธ. ใจความสำคัญสรุปได้ว่า คณะกรรมาธิการชุดนี้หยิบเฉพาะประเด็นที่นายวรยุทธขอความเป็นธรรมมาศึกษา จากนั้นส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยเรื่องที่ขอความเป็นธรรมคือ ความเร็วในการขับขี่รถ
ปรากฏว่า กมธ.ได้สืบหาข้อเท็จจริงจากพยานของนายวรยุทธ ซึ่งเมื่อครั้งเกิดเหตุใหม่ๆ อัยการไม่ได้รับฟังพยานดังกล่าว มีการอ้างว่า ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เหยื่อที่นายวรยุทธขับรถเฟอร์รารีชนจนเสียชีวิต ขับรถปาดจากเลนซ้ายสุดไปยังเลนขวาสุด ซึ่งเป็นเลนที่นายวรยุทธขับอยู่
นอกจากนี้ ทาง กมธ.ยังได้คำนวณความเร็วที่นายวรยุทธใช้ในการขับขี่ด้วย โดยทำหนังสือไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอให้ช่วยส่งผู้เชี่ยวชาญมาคำนวณ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยส่ง รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์
พบว่า ความเร็วลดลงจากของเดิมที่เคยคำนวณไว้ 177 กม./ชม. เหลือเพียง 76 กม./ชม.
นอกจากนี้ “ธานี” ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีอิทธิพลที่จะส่งผลให้อัยการสูงสุดเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ซึ่งโดยบทบาทอำนาจหน้าที่ของ สนช. ส.ส. ส.ว. ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่ได้มีอำนาจไปบงการหรือสั่งการฝ่ายบริหารหรือองค์กรต่างๆ แต่อย่างใด มีอำนาจแค่ศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริง แล้วรวบรวมรายงานส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปเท่านั้น
จากการแถลงครั้งแรกของ “ธานี” และครั้งที่สองที่ไม่ยอมตอบหลายประเด็นที่สังคมสงสัย เพื่อให้เกิดการเคลียร์ “อดีตคณะ กมธ.กฎหมายฯ” ต้องตอบ ดังนี้
1.เมื่ออัยการไม่รับฟังพยานของนายวรยุทธ ทำไมคณะ กมธ.ถึงรับฟังพยานของนายวรยุทธ
2.แม้การแถลงข่าวของนายธานีระบุว่าอีกฝั่งไม่ได้ร้องขอความเป็นธรรมมายัง กมธ. แต่การศึกษาเรื่องต่างๆ ของ กมธ.จะต้องรอบด้าน เหตุใด กมธ.ถึงหยิบเฉพาะประเด็นที่ทนายของนายวรยุทธร้องขอความเป็นธรรมมาพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายนายวรยุทธเท่านั้น
3.เวลาจะให้ความเป็นธรรมกับใคร ต้องดูด้วยว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งกรณีนี้นายวรยุทธได้ขอเลื่อนพบอัยการหลายครั้งแล้ว ถามว่าเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ใช่หรือไม่
4.ตามปกติศาลจะไม่ให้น้ำหนักกับบุคคลหรือหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ถามว่าการนำผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีมาคำนวณความเร็วรถ เหตุใดทาง กมธ.ถึงเชื่อ
5.ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ กำหนดให้รถคันหลังต้องขับในระยะห่างที่ปลอดภัย การที่นายวรยุทธเบรกไม่ทัน เท่ากับว่าขับรถโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต ใช่หรือไม่
6.แม้ผลการศึกษาของ กมธ.จะชี้ถูกชี้ผิดคดีไม่ได้ แต่ขณะนี้ผลการศึกษาดังกล่าวทำให้อัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว
นี่คือคำถามเล็กๆ น้อยๆ ที่อดีต กมธ.กฎหมายฯ ยังไม่ยอมตอบ และบางข้อคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่อัยการตั้ง ตำรวจตั้ง ก็ต้องตอบด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ทุกคนต่างฝากความหวังว่าจะช่วยสางคดีนี้ให้เกิดความยุติธรรม
นอกจากคนตายจะพูดไม่ได้แล้ว วรยุทธ อยู่วิทยา จ่ายค่าเยียวยาให้กับครอบครัวของดาบตำรวจแล้ว การทำสำนวน ทำข้อมูลให้เป็นไปตามความจริง จึงจะถือว่าความยุติธรรมได้บังเกิด
แต่หากทำสำนวนบิดเบือนความจริง จากคนผิดกลายเป็นไม่ต้องรับผิด บ้านเมืองก็เหมือนไร้ขื่อแป ประชาชนหมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
วันข้างหน้าคนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด สมกับคำที่ว่า “คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจน”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |