ทุ่งข้าวกำลังเขียวสะพัดอยู่บนยอดดอย อีกไม่นานคงออกรวง บริเวณรอบๆ เป็นป่าใหญ่สุดลูกหูลูกตา ฝนตกปรอยๆทำให้ปุยหมอกเมฆที่ลอยโอบกอดป่าเขากลายเป็นฉากตะการตาให้ไร่หมุนเวียนแห่งนี้แสนงดงาม โดยเฉพาะในสายตาคนเมือง
เมื่อเดินเข้าไปดูในรายละเอียด นอกจากต้นข้าวแล้ว ชาวบ้านยังปลูกพืชอื่นๆ แทรกไว้ด้วย เช่น ข้าวโพด ฟักทอง มัน เผือก มะระขี้นก บวบ ฯลฯ ไร่หมุนเวียน บ้านหนองขาวกลางผืนนี้เป็นแปลงรวม เนื้อที่ราว 50 ไร่
บ้านหนองขาวกลาง อยู่ที่ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ซึ่งครบ 10 ปีมติคณะรัฐมนตรีที่วางแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทุกหมู่บ้านในตำบลห้วยปูลิงได้สถาปนาเป็นเขตคุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม
“เราอยู่ที่นี่กันมาไม่น้อยกว่า 200 ปี ปู่ผมเกิดที่นี่ ตอนท่านตายอายุเกือบร้อยปีแล้ว พ่อของปู่ก็เกิดที่นี่ท่านก็อายุยืน บรรพบุรุษของเราปักหลักอยู่ที่นี่มานาน คนที่นี่มักอายุยืนเพราะมีอากาศดีและอาหารปลอดสารพิษที่ได้จากไร่หมุนเวียน” พะตีจอโก่ หรือชื่อภาษาไทยว่านายทองเปลว ทวิชากรสีทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปูลิง พูดถึงประวัติหมู่บ้าน
ตำบลห้วยปูลิงมีด้วยกัน 20 หมู่บ้าน แต่เป็นหมู่บ้านตามนิยามของทางการเพียง 11 หมู่บ้าน ที่เหลือเป็นเพียงหย่อมบ้าน ประชากรทั้งหมดเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง
“ไร่หมุนเวียนที่นี่เป็นแปลงรวม ใช้เวลาหมุน 10 ปี อย่างผืนที่เห็นนี้มี 50 ไร่ เป็นของคนทั้งหมู่บ้านหนองขาวกลาง“ พะตีจอโก่ชี้ไปที่ไร่หมุนเวียนผืนที่พามาดูซึ่งต้นข้าวและพืชผลต่างๆ กำลังเติบใหญ่งอกงาม “เราทำไร่ผืนนี้กันมานับร้อยๆ ปีเหมือนที่ปู่ย่าตายายเคยทำ ป่าข้างๆ ก็ไม่มีใครกล้าบุกรุกใหม่ ทุกอย่างเป็นไปตามคำสอนของบรรพบุรุษ ซึ่งตั้งอยู่บนความเชื่อดั้งเดิมที่พวกเรายึดถือกันมา”
“บ้านหนองขาวกลางมีพื้นที่ไร่หมุนเวียนแปลงละ 50 ไร่ หมุน 10 รอบ ก็เท่ากับเรามีเนื้อที่ไร่หมุนเวียนทั้งหมด 500 ไร่ สำหรับชาวบ้านกว่า 300 คน แต่ละปีใช้พื้นที่ 50 ไร่ เพียงพอสำหรับการทำกินของพวกเรา เรามีคณะกรรมการไร่หมุนเวียนประจำหมู่บ้าน ก่อนทำไร่เราก็จะมาคุยกันก่อนว่าปีนี้ครอบครัวไหนจะใช้พื้นที่กี่ไร่ ส่วนใหญ่ดูตามกำลังแรงงานในครอบครัวว่าเขาจะมีแรงทำได้เท่าไหร่”
สาเหตุที่ต้องหมุนเวียนตามรอบ 10 ปี พะตีขยายความว่า หากใช้พื้นที่ก่อนหน้านั้น เช่น ปีที่ 8 หรือปีที่ 9 ดินยังสะสมความอุดมสมบูรณ์ไม่พอ จะทำให้ต้นข้าวและพืชที่ปลูกไม่งอกงามเท่าที่ควร แถมถูกแมลงศัตรูพืชมารบกวนด้วย
“ดูพื้นดินที่ปลูกข้าวซิ จะเห็นว่าไม่มีหญ้าหรือวัชพืชขึ้นเลย เพราะเมล็ดหญ้าหายไปหมดแล้ว ดินสมบูรณ์เต็มที่ทำให้พืชงอกงาม หลังจากเก็บเกี่ยวในปีนี้แล้ว ปีหน้าเราก็ย้ายไปทำแปลงโน้น” พะตีชี้ให้ดูแปลงไร่หมุนเวียนอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปอีกซีกดอยหนึ่ง ซึ่งมีต้นไม้ขนาดย่อมขึ้นจนเขียวครึ้ม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไร่เหล่า”
ไร่เหล่าที่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูมา 8-9 ปี หากมองผ่านๆก็คล้ายกับป่าไม้ดั้งเดิม ทำให้หลายครั้งเกิดการเข้าใจผิดโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าชาวบ้านเผ่าป่า แต่จริงๆแล้วเป็นการเผาไร่ซากหรือไร่เหล่า ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรของระบบไร่หมุนเวียน
“จริงๆ แล้วในไร่เหล่าปีแรกๆ ยังมีพืชต่างๆ ที่เราปลูกไว้ขึ้นอยู่ เช่น พริก สามารถเก็บกินได้ แต่เรามักปล่อยไว้เพราะต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์” เมล็ดพันธุ์ที่ชาวบ้านช่วยกันเก็บสะสมไว้ผ่านการคัดสรรของธรรมชาติในไร่หมุนเวียน ทำให้เจริญงอกงามในระบบนิเวศของภูมิประเทศนั้นๆ
“เคยมีคนเอาเมล็ดข้าวโพดพันธุ์จากข้างนอกมาปลูก ก็ไม่ได้ผล เพราะถูกแมลงกัดกินหมด มันไม่เหมือนข้าวโพดพันธุ์บนดอยที่พวกเราปลูก” พะตีจอโก่และชาวบ้านห้วยปูลิงสามารถอธิบายระบบการคัดเลือกสายพันธุ์ในธรรมชาติของไร่หมุนเวียนได้อย่างลุ่มลึก พืชแต่ละชนิดต่างมีส่วนสัมพันธ์กัน ปลูกพืชชนิดหนึ่งสามารถป้องกันแมลงให้กับพืชอีกชนิดหนึ่งได้
เช่นเดียวกับการเผาไร่ ไม่ใช่แค่เพียงต้องการแผ้วถางต้นไม้และวัชพืช แต่ไฟยังมีส่วนสัมพันธ์กับดินและน้ำซึ่งเป็นธาตุสำคัญในความเจริญงอกงามของชีวิต ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่บรรพชนปกาเกอะญอสั่งสมมายาวนาน
ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านห้วยปูลิงเป็นตัวอย่างของการทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงอย่างแท้จริง เพราะนอกจากไม่มีการใช้สารเคมีใดๆอยู่แล้ว ภายในวิถียังบรรจุไว้ซึ่งความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชุมชน เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันมีวิถีที่กลมกลืนอยู่กับป่าดอย จนสามารถรักษาผืนป่าไว้ได้กว่า 80% ของเนื้อที่ราว 8 ล้านไร่ กลายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดของประเทศ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจระบุว่าคนที่นี่มีรายได้ต่ำอันดับต้นๆ แต่อีกด้านหนึ่งพบว่าคนแม่ฮ่องสอนมีความสุขที่สุดของประเทศ
สิ่งที่ชาวแม่ฮ่องสอนกำลังเผชิญอยู่คือผืนป่าที่ช่วยกันดูแลมายาวนาน ได้ถูกประกาศทับด้วยกฎหมายต่างๆ ของส่วนกลาง ให้กลายเป็นเขตอนุรักษ์ต่างๆ ทั้งป่าสงวน อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งกฎกติกาของกฎหมายค่อนข้างหยาบเพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานความหวาดระแวงที่มีต่อชาวบ้าน ดังนั้นจึงให้อำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จไว้ในมือข้าราชการ
ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของมติครม. 3 สิงหาคม 2553 หลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง ภาคประชาชน นักวิชาการและภาคราชการ (บางหน่วยงาน) เห็นพ้องตรงกันว่าควรผลักดันให้ทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ เพื่อรักษาลมหายใจของวิถีดั้งเดิมและธรรมชาติป่าเขาไว้ให้ลูกหลาน
“จริงๆ แล้ววิถีชีวิตเราไม่ใช่มีแค่เรื่องไร่หมุนเวียน และที่อยู่อาศัยเท่านั้น ป่าไม้ยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงตั้งแต่เกิดจนตาย ป่าเป็นที่เลี้ยงสัตว์ ป่าเป็นที่ฝังศพ แต่พอเขาไปจัดสรรแบบนั้น มีเพียงที่ทำกินและที่อยู่อาศัย พื้นที่อื่นๆ ของพวกเราก็ถูกตัดขาดไปหมด” พะตีจอโข่สะท้อนข้อเท็จจริงอันสวนทางกันระหว่างกฎหมายบ้านเมืองกับกติกาของชุมชน
“ที่นี่ไม่มีใครบุกรุกป่าเพิ่มหรอก เรามีคำสอนและความเชื่อของบรรพบุรุษเป็นกติกาอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณไปยิงนกเงือกตาย 1 ตัว คู่ของมันก็ต้องตายด้วย ชาวกะเหรี่ยงถือมาก ครอบครัวคุณก็อาจต้องประสบชะตากรรมเช่นนกเงือก หรือป่าไหนที่เป็นของชะนีแล้วคุณไปบุกรุกเขา คุณก็จะถูกลงโทษให้ครอบครัวเกิดความแตกแยก”
วันนี้เสียงประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมดังมาจากชาวบ้านห้วยปูลิง และชาวกะเหรี่ยงอีกหลายพื้นที่ แต่เสียงของคนเล็กคนน้อยเหล่านี้มักไม่ศักดิ์สิทธิ์ และเข้าไม่ถึงหัวใจของผู้กำหนดนโยบายของประเทศและระบบราชการ
ในสังคมยุคโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต่างต้องช่วยเหลือตัวเอง และรัฐบาลมักเพรียกหาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทำไมถึงไม่ช่วยกันสนับสนุนให้ชาวบ้านชาติพันธุ์กลุ่มนี้ได้ก้าวเดินไปตามวิถีของพวกเขา
โดย ภาสกร จำลองราช
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |