วิถี “คน กับ ป่า” ที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยง “บ้านภูเหม็น”


เพิ่มเพื่อน    

โดย ธีราวัตน์  รังแก้ว

 

ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี

 

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมที่ชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้ถึงตั้งชื่อว่า “บ้านภูเหม็น” ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาไทย  มันฟังดูแปลกๆ  และทำให้นึกถึงสถานที่หรือสิ่งต่างๆ ที่มีกลิ่นเหม็นอีกด้วย  แต่ความจริงแล้วมันเป็นแบบนี้ครับ ผมจะอธิบายให้ฟัง

 

คำว่า “ภูเหม็น” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงครับ คือ “พุเม่น” หรือ “พุเหม้น” (ออกเสียงสูงตามสำเนียงของชาวกะเหรี่ยง)  ความหมายคือ  ดอกไม้ชนิดหนึ่ง  คนไทยเรียกกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” นั่นเองครับ  ดอกเข้าพรรษามีหลายชนิด  บ้างสีขาว  ขาวอมชมพู  สีชมพู และสีเหลือง  ในหนึ่งปีจะออกดอกเพียง 1 ครั้งเท่านั้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา  ซึ่งแต่เดิมที่บ้านภูเหม็นจะมีดอกเข้าพรรษาค่อนข้างเยอะ และถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ของทางชุมชนด้วย  จึงใช้ชื่อของดอกไม้นี้มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน

 

ดอกเข้าพรรษา (ขอบคุณภาพจาก https://farmerspace.co/

 

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ตั้งอยู่ที่ตำบลทองหลาง  อำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี  แอบสงสัยกันใช่ไหมครับ ว่าที่จังหวัดอุทัยธานีมีชุมชนชาวกะเหรี่ยงด้วยหรือ ?  ถ้าคุณเป็นคนเมืองแบบผมก็คงแอบสงสัยเหมือนผมและนึกว่ากะเหรี่ยงต้องอยู่ตามเขาตามดอยที่สูง ๆ  ห่างไกลผู้คนอะไรทำนองนี้   แต่ที่ จ.อุทัยธานี  มีกะเหรี่ยงจริง ๆ ครับ  ผมไปเห็นและไปสัมผัสกับตาตัวเองมาแล้ว

 

กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  เป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่เรียกตัวเองว่า “กะเหรี่ยงโปว์” หรือ “โผล่ว”  นับถือศาสนาพุทธ เหมือนคนไทยอย่างเราๆ  นี่แหละครับ  ชาวชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นใช้ชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ  ป่าเขาและสายน้ำ วิถีชีวิตจึงมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ  มีอัตลักษณ์และความเชื่อของตนเอง   พวกเขาบอกว่าอาศัยอยู่ที่นี่ต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษกว่า 400 ปี   มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้วกว่า 11 รุ่น  และมี “เจ้าวัตร”  เป็นผู้นำทางจิตวิญาณ 

 

คนเมืองอย่างผมฟังผ่านๆ แล้วก็ตีความไปเองว่าว่า คำว่า “เจ้าวัตร”  คงจะเหมือนกับ “เจ้าวัด” หรือเจ้าอาวาสอะไรทำนองนี้   แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ  เพราะแค่คำสะกดก็แตกต่างแล้วครับ  ความหมายของคำว่า “เจ้าวัตร” ของชาวกะเหรี่ยงคือผู้นำทางจิตวิญญาณ  ต้องนับถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด  เป็นผู้ที่คอยทำทำพิธีศักดิสิทธิ์ต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น  การบูชาต้นไม้  ขอขมาแม่คงคา  พิธีเกี่ยวกับข้าวหรือแม่โพสพ

 

เจ้าวัตรบ้านภูเหม็น

 

ชาวกะเหรี่ยงใช้ชีวิตในชนบท มีชุมชนขนาดเล็ก และทำมาหากินเพื่อการยังชีพ  อาชีพส่วนใหญ่จึงเป็นการเกษตรทั้งปลูกพืช ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ และชาวกะเหรี่ยงได้ชื่อว่ารู้จักการใช้พื้นที่ทำกินแบบ "ไร่หมุนเวียน" นั่น

คือ ทำครั้งหนึ่งแล้วพักผืนดินไว้ 3-5 ปี   จึงกลับไปทำใหม่  วนเวียนไปโดยตลอด เพื่อป้องกันดินเสื่อมคุณภาพ  ไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นการตัดไม้ทำลายป่าอย่างที่หลายๆ คนเคยเข้าใจกัน

 

ตอนนี้ผู้อ่านน่าจะพอเห็นภาพชุมชนกะเหรี่ยงที่บ้านภูเหม็นกันแล้วนะครับ  ทีนี้ผมอยากเล่าให้ฟังถึงเรื่อง วิถี “คนอยู่กับป่า”  ซึ่งหลังจากที่ผมได้พูดคุยและสอบถามกับชาวกะเหรี่ยง  คือ  “พี่จันทร์เพ็ญ คลองแห้ง” ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ช่วยเจ้าวัตรของหมู่บ้าน  พี่จันทร์เพ็ญพาผมเดินสำรวจป่าที่อยู่ใจกลางหมู่บ้าน ซึ่งที่บ้านภูเหม็นจะสร้างบ้านเรือนล้อมรอบป่าครับ  ใช้ป่าเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน   และทำการเกษตรเพื่อใช้บริโภคในครอบครัว  ด้วยการทำไร่หมุนเวียนเล็ก ๆ ภายในป่าของหมู่บ้าน

 

บ้านของชาวกะเหรี่ยง

 

พี่จันทร์เพ็ญ  เล่าว่า  ส่วนมากเราจะปลูกผักและพืชเอาไว้กินและขาย  บางส่วนจะเป็นพืชพรรณตามธรรมชาติที่ขึ้นเอง  ไม่ต้องปลูก  เช่น  เห็ดต่างๆ  หน่อไม้  ส่วนที่ขายจะมีพ่อค้าจากในเมืองมารับไป  แต่ราคาที่ขายได้ก็จะน้อยหน่อย  เพราะเขาเอารถมารับถึงที่   พืชผักที่มีราคาดีก็จะมีพวกหน่อไม้  เห็ดโคน  แต่เห็ดโคนจะเก็บได้ปีละ 1 ครั้ง  และจะออกดอกเฉพาะหน้าฝน  ราคาเห็ดโคนประมาณกิโลกรัมละ 100 – 300 บาท  แล้วแต่ฤดูกาลว่าปีใดหาได้มากได้น้อย

 

พี่จันทร์เพ็ญยังคงพาผมเดินเข้าไปเรื่อย ๆ  จนมาเจอกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน  แกบอกไม่รู้ว่าจะเรียกชื่อต้นไม้นี้เป็นภาษาไทยว่าอะไร   แต่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่าต้น “เพิ่ล”  ซึ่งตอนที่ผมเห็น  ผมทึ่งกับขนาดของต้นไม้ต้นนี้มาก  เพราะผมคิดว่ามันเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา   สังเกตคร่าวๆ จากฐานโคนราก  ผมว่าอาจจะต้องใช้คนมาโอบ 30-40 คน   เพราะมันใหญ่มากจริง ๆ  อายุของต้นไม้ต้นนี้คงเป็นร้อย ๆ ปี  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

 

“เพิ่ล”  ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อยู่กลางป่าใจกลางหมู่บ้าน

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของหมู่บ้านนี้ก็คือ  กลุ่มเด็กและเยาวชนครับ   พวกเขามีหน้าที่หลักในการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของหมู่บ้านเอาไว้เพื่อสืบทอด   เช่น  เรื่องภาษากะเหรี่ยง   การทอผ้าลวดลายเฉพาะของชุมชนบ้านภูเหม็น  เด็กทุกคนที่นี่ส่วนใหญ่พูดได้ 2 ภาษา  ทั้งภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยง  เกิดจากการใช้ชีวิตทั้ง 2 วัฒนธรรมร่วมกัน  เพราะเด็กกะเหรี่ยงที่นี่ต้องนั่งรถออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน  จึงรับวัฒนธรรมแบบคนไทยภาคกลางและภาษามาด้วย

 

กลุ่มเยาวชนสตรีที่นี่จะต้องฝึกการทอผ้าทุกคนตั้งแต่ยังเด็กเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรม และยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของชุมชนด้วย  เยาวชนที่นี่มีความน่ารัก  อัธยาศัยดี  จริงใจ  ยิ้มแย้มเป็นกันเอง  นั่งคุยกันได้เป็นชั่วโมงเลยหละครับ  แถมบางคนสอนภาษากะเหรี่ยงให้ด้วย   ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงสอนให้ทุกคนเป็นคนจริงใจ

 

กลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น

 

จากที่ผมเล่าให้ฟังก็คงคิดว่าชาวกะเหรี่ยงมีความสุขดี  แต่ความจริงคือพวกเรากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิบนที่ดินของตนเอง  อย่างที่ผมเล่าไปในช่วงข้างต้นว่า  ชาวกะเหรี่ยงอยู่บนที่ดินผืนนี้ต่อเนื่องกันมานานเป็นเวลากว่า 400 ปี  จนมาเมื่อปี พ.ศ. 2528  ยุคป่าสงวนฯ ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชุมชน   โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศให้ผืนดินที่พวกเขาอยู่อาศัยและทำกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเขต “ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย” เมื่อเดือนสิงหาคม 2528    แต่คราวนั้นชีวิตของชาวกะเหรี่ยงยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก  ยังสามารถทำไร่หมุนเวียนได้  ต่อจากนั้นเหตุการณ์ก็เริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ

 

ในปี 2535  เป็นยุคสวนป่าทับที่ดินทำกินและพื้นที่ไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของชุมชน  โดยมีการประกาศพื้นที่ทำกินบางส่วนของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นเป็นสวนป่า  ทำให้สวนป่าทับซ้อนที่ทำกินของชุมชน  เปิดช่องให้รัฐอ้างสิทธิในการใช้ประโยชน์ในป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ห้ามบุกรุก  เริ่มห้ามชุมชนทำไร่หมุนเวียน

 

จึงทำให้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ไร่หมุนเวียนเริ่มหายไป  เปลี่ยนเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว วิถีชุมชนถูกบุกรุกด้วยความทันสมัย  ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนเริ่มมีมากขึ้น  ชุมชนเริ่มถูกคุกคาม  โดนห้ามหาของในป่า  ห้ามหาน้ำผึ้ง  แต่มันยังไม่จบแค่นั้น

 

ในเดือนกรกฎาคม 2557  กรมอุทยานแห่งชาติได้ประกาศเขต “วนอุทยานห้วยคต”  ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  โดยมีประกาศให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นต้องย้ายออกจากพื้นที่ที่อาศัยอยู่เดิมไปอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก.  ที่ตำบลระบำ  อำเภอลานสัก  จังหวัดอุทัยธานี  เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานปลูกไม้ซึ่งทางราชการจัดให้ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกินเข้าไปอยู่ภายในวันที่ 9 เมษายน 2560  

 

ส่วนผมได้ไปดูพื้นที่มาแล้ว   มันเป็นไปแทบจะไม่ได้เลยที่ชาวกะเหรี่ยงจะย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงค่อยๆ เลือนหายไป

 

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ชี้ให้ดูประกาศพื้นที่สวนป่าทับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงเนื้อที่ 400 ไร่

 

ลุงอังคาร คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  เล่าให้ฟังว่า  ก่อนจะมีกฎหมายพวกเราอยู่ร่วมกัน โดยการตั้งกฎของชุมชน  โดยแต่ละหมู่จะมีผู้ใหญ่บ้าน 1 คน  แบ่งที่ดินทำกินกันตามกฎธรรมชาติ  ทำมาหากินร่วมกัน  ทำไร่หมุนเวียน   สมัยเราหนุ่มสาว  เวลาเราไปทำไร่  เราจะเดินร้องเพลงเข้าไปในป่า  เพื่อไปเก็บพืชผล  มีความสุขในการใช้ชีวิต ทำนาใกล้ ๆ กัน  ตะโกนคุยกัน   ร้องเพลงไป  ทำนาไป   แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีภาพแบบนั้นแล้ว  เพราะเราไม่มีกำลังใจที่จะทำแบบนั้น  กลัวว่าวันดีคืนดีจะโดนจับหรือโดนไล่เมื่อไหร่   วิถีชีวิตแบบเดิมที่มีความสุขหายไปแล้ว

 

แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดีปนอยู่บ้าง  เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  พี่น้องชาวกะเหรี่ยงในหลายจังหวัดได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย  นักวิชาการ  สถาบันการศึกษา  เช่น  เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์   ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ฯลฯ  ขับเคลื่อน “การประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553”

 

ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและอื่นๆ เช่น ชาวม้ง อาข่า ชาวเล ฯลฯ ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน การจัดการทรัพยากร สิทธิการถือสัญชาติ ฯลฯ คณะรัฐมนตรีในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมีมติ ครม.วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาวเล’ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ ฯลฯ นำไปจัดทำแผนฟื้นฟูระยะสั้นและระยะยาว

 

เจ้าวัตรบ้านภูเหม็น (ที่ 3 จากซ้าย)

 

แต่เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  มีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่กลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเรื่องการประกาศเขตป่าสงวนฯ หรือวนอุทยานทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงถูกขับไล่หรือถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  ภาคีเครือข่ายจึงร่วมกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงขับเคลื่อนให้มติ ครม. ดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติ สามารถคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้อย่างแท้จริง  รวมทั้งผลักดันให้มติ ค.ร.ม.ยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลในการปฏิบัติต่อไป

 

เป้าหมายก็เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจวิถีชีวิต  และการมีอยู่ของชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยง”  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา  สร้างความมั่นคงในพื้นที่อยู่อาศัย   พื้นที่ทำกิน  และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ  นอกจากนั้นยังดำรงซึ่งอัตลักษณ์   วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกะเหรี่ยง  และฟื้นฟูสิ่งที่เริ่มเลือนหายไปให้กลับมาคงไว้ดังเดิม  โดยการประกาศจัดตั้งหรือสถาปนพื้นที่ “เขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ”  ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553  เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  เพื่อให้ดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมต่อไปได้

 

โดยขณะนี้มีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษแล้วในชุมชนกะเหรี่ยง 12  พื้นที่ทั่วประเทศ  เช่น บ้านห้วยลาดหินใน ตำบลป่าโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย, บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่, ชุมชนบ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง, บ้านแม่หมี อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง, บ้านดอยช้างป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ฯลฯ

 

 

ส่วนชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นก็ถือว่ามีความโชคดี  เพราะว่าหลังจากที่ประสบปัญหาการประกาศป่าต่างๆ ทับที่อยู่อาศัยและทับที่ดินทำกินแล้ว  พวกเขาได้ร้องเรียนปัญหาไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  จนได้ประชุมเพื่อปรึกษาหาทางออกกับวนอุทยานห้วยคตในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา   และเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า  อุทยานห้วยคตจะกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน และให้ชาวบ้านบริหารจัดการ ดูแลรักษาป่า รวมทั้งเพื่อให้เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงตามมติ ครม. รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 9,000 ไร่เศษ โดยชุมชนจะร่วมกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ เดินสำรวจแนวเขตที่ดินร่วมกัน  เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้  ไม่ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น  และตามแผนงานชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีแผนงานประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมฯ ที่บ้านภูเหม็นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

การจัดงาน ‘แลกเปลี่ยนบทเรียนเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น’ เพื่อเตรียมประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ส่วนตัวผมที่เป็นคนในเมือง  อยู่ในกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่เด็ก  พอได้มาสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ผมกลับชอบความเรียบง่ายที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน  มันมีความเรียบง่ายและมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก  การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ  ผมก็เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ยืนยันได้เลยว่า  กะเหรี่ยงไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่ใครๆ  เข้าใจผิด  ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นรักษาป่าและให้ความเคารพป่าที่พวกเขาดูแลมาก  อย่างที่ผมเล่าว่า  ผมได้เจอต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตก็ที่บ้านภูเหม็นนี่แหละครับ

 

สุดท้ายนี้ผมขอเอาใจช่วยให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นก้าวพ้นวิฤตินี้ไปให้ได้  และได้มีที่อยู่ที่ทำกินที่ถูกกฎหมาย  กลับมาใช้ชีวิต  วิถี “คน กับ ป่า” เหมือนดังเดิม   และหวังว่าผู้อ่านที่ไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสกับชุมชนกะเหรี่ยงเหมือนกับผมมาก่อน   จะได้เข้าใจวิถีชีวิต  และรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา  เพื่อเป็นข้อมูลอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจชุมชนชาวกะเหรี่ยงกันมากขึ้น..!!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"