03poe01.pol
นายกฯ สั่งอายัดศพ "จารุชาติ-พยานปากเอก" คดี "บอส" ยันใครผิดต้องได้รับโทษ จะไม่เป็นที่ค้างคาใจประชาชน "วิชา" ขอนายกฯ ใช้อำนาจสั่งคุ้มครองพยานคนอื่นด้วย รวมถึงหลักฐานต่างๆ ในคดีทั้งกระบวนการ ลั่นถึงเวลายกเครื่องกระบวนการยุติธรรม ผู้การเชียงใหม่ลงพื้นที่อายัดศพแล้ว พร้อมนำไปชันสูตรรอบ 2 ที่นิติเวช รพ.มหาราช "ศรีสุวรรณ" จับตา กก.ของตำรวจจะเป็นมวยล้มต้มคนดู เวทีเสวนาฯ สับกระบวนการยุติธรรมไทย อำมหิตบิดเบือนได้แม้กระทั่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หวั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายซ้ำรอยทุ่งใหญ่นเรศวร จุดชนวน 14 ตุลา 16 จี้นายกฯ นำร่างกฎหมายปฏิรูปฯ เข้าสภา
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับคดีความที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กรณีสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ส่งฟ้องทายาทนักธุรกิจชื่อดังขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 พร้อมกันนี้ยังได้รับทราบการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง อายุ 40 ปี ชาว จ.เชียงราย หนึ่งในพยานคนสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอายัดศพไว้ก่อนเพื่อนำกลับมาชันสูตรพลิกศพสืบหาการเสียชีวิตอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่เป็นข้อกังขาคาใจของประชาชน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การแทรงแซงกระบวนการยุติธรรม
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับคดีดังกล่าว นายกรัฐมนตรีคาดหวังให้คณะกรรมการตรวจสอบความจริงของหน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานอย่างเต็มกำลัง พร้อมให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ ได้นำเสนอความจริงต่อนายกรัฐมนตรีและสาธารณชน ก่อนที่จะพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป
"นายกฯ ยืนยันว่ารัฐบาลจะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในคดีดังกล่าว หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง คนผิดจะต้องได้รับการลงโทษ โดยคดีนี้จะไม่เป็นที่ค้างคาใจของประชาชน นอกจากนี้ยังต้องไปดูโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมด้วยว่ามีช่องโหว่หรือไม่ ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้สังคมเกิดข้อกังขากับกระบวนการยุติธรรม" น.ส.ไตรศุลีกล่าว
นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต เปิดเผยว่า ตนได้เสนอกับนายกรัฐมนตรีสั่งอายัดศพนายจารุชาติ มาดทอง เพื่อนำกลับมาชันสูตร เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ซึ่งตามกำหนดการ ญาติจะมีการฌาปนกิจในวันที่ 2 ส.ค. แต่การเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกต อาจเป็นการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ และสังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัย
ต่อมานายวิชาเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการด่วนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการอายัดศพนายจารุชาติแล้ว นอกจากนี้ตนเองจะขอให้นายกฯ ใช้อำนาจสั่งคุ้มครองพยานคนอื่นๆ ในคดีนี้ด้วย รวมถึงหลักฐานต่างๆ ในคดีทั้ง กระบวนการ ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ส.ค. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จะประชุมนัดแรกเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกำหนดกรอบการทำงานเร่งรัดให้ได้ข้อเท็จจริงเร็วที่สุด
"เบื้องต้นจะฟังเสียงของผู้ทรงคุณวุฒิว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การเรียกบุคคลเข้ามาชี้แจง และจะได้มอบนโยบายได้ถูกต้อง การทำงานตามกรอบ 30 วัน ของคณะกรรมการฯ จะต้องดูให้รอบคอบ หากคณะกรรมการฯ ตรวจสอบคดีเฉยๆ คิดว่า30 วันคงจะเพียงพอทำให้สังคมเกิดความเชื่อถือและเชื่อมั่นในระบบกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ถ้าเรามีความจำเป็น จะต้องเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ อาจต้องใช้ระยะเวลาต่อ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องรายงานเสนอต่อนายกฯ ทุก 10 วัน"
ถึงเวลาต้องยกเครื่องใหม่
นายวิชากล่าวด้วยว่า เมื่อมาอยู่ในจุดที่ต้องรับผิดชอบ ก็เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเสื่อมทรุดไปกว่าเดิม โดยอาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์เงินและอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกชาติ ถึงจุดเวลาที่จะต้องยกเครื่อง และการทำงานใหม่ จะทำแบบเดิมคงไม่ได้แล้ว ประเทศไทยปฏิรูปมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม หรือเรียกว่าปฏิวัติหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ซึ่งถึงเวลาแล้วจะต้องเอาจริงเอาจังกับระบบกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะถึงขนาดนายกฯ สั่งการรวบรวมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงคดีความมาเป็นแม่แบบหรือต้องถอดบทเรียน
ส่วนกรณีที่พยานปากสำคัญ 1 ใน 2 พยานที่เสียชีวิตกะทันหันนั้น นายวิชากล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องดูให้รอบคอบ จะต้องตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างละเอียดด้วย สรุปเบื้องต้นจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการ หากเสียชีวิตโดยผิดปกติหรือผิดธรรมชาติ ต้องให้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่าคดีนี้เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร เพราะมันอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว เว้นแต่จะไม่ทำเท่านั้น ความเชื่อว่าหากไม่ทำเรื่องนี้ให้เกิดความสงสัยจะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน กล่าวกรณีที่นายกฯ สั่งอายัดศพนายจารุชาติ มาดทอง ว่าถือเป็นเรื่องดี ซึ่งควรจะเป็นอย่างนั้น สำหรับเรื่องการชันสูตรนั้น มีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่โดยตรง เขาสามารถทำหน้าที่ได้ หรือจะเป็นตำรวจ คิดว่าเขาก็มีวิชาชีพของเขา ซึ่งเมื่อนายกฯ ได้สั่งแล้วก็ต้องให้เวลาเขา ตนเชื่อว่าสังคมตามอยู่ คนที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้สำนึกอยู่แล้วว่าเขาจะทำแบบไม่โปร่งใสไม่ได้
เมื่อถามว่า การที่นายกฯ รับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการฯหรือให้การสนับสนุนเรื่องต่างๆ จะทำให้คณะกรรมการฯ ทำงานง่ายขึ้นหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ใช่ ไม่อย่างนั้นจะแต่งตั้งนายวิชาหรือใครต่อใครมาทำไม ซึ่งต้องทำเร็ว ส่วนระยะเวลา 30 วันของคณะกรรมการฯ นั้น คิดว่าเพียงพอ ในส่วนเรื่องข้อเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปนั้น ที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอแนะที่ทำกันไว้อยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแผนการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน หรือคณะกรรมการที่ยกร่างกฎหมาย ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งทำเสร็จไปแล้ว มันไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ฉะนั้นมันจึงไม่น่าจะช้า คาดว่าคณะกรรมการฯ คงจะนำมาพิจารณาด้วย แต่ต้องถามนายวิชา ในฐานะประธานว่าจะมีแนวทางอย่างไร ส่วนที่สังคมคาดหวังกับคณะกรรมการชุดนี้สูงนั้น เราก็ทำให้เขาผิดหวังไม่ได้
ทั้งนี้ หลังนายกรัฐมนตรีสั่งการด่วนให้ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการอายัดศพของนายจารุชาติ เบื้องต้นการเจรจาครอบครัวไม่อนุญาต แต่ภายหลังพูดคุยทำความเข้าใจอีกครั้ง โดยครอบครัวยินยอม แต่ขอให้ดำเนินการทางพิธีให้แล้วเสร็จก่อน คือมีการเคลื่อนโลงไปที่สุสาน และดำเนินการให้ครบตามขั้นตอน จากนั้นมอบศพของนายจารุชาติให้ไปชันสูตรที่เชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2
ชั้นสูตรศพ"จารุชาติ"รอบ2
ขณะที่ พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ เดินทางมาที่บ้านของนายจารุชาติ ซึ่งญาติได้รับศพกลับมาเพื่อบำเพ็ญกุศลตามประเพณีที่บ้านเกิดในหมู่บ้านวังชมภู หมู่ 25 ต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้ขออายัดศพเพื่อขอชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง โดย พล.ต.ต.พิเชษฐกล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อขออายัดร่างของนายจารุชาติเอาไว้เพื่อตรวจสอบหาการเสียชีวิตอย่างละเอียด เนื่องจากมีความสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าทางเจ้าหน้าที่โทร.หาญาติได้อย่างไร ในส่วนนี้พบว่าหลังเกิดอุบัติเหตุเจ้าหน้าที่ได้เก็บสมบัติที่ติดตัวผู้เสียชีวิตเอาไว้ รวมถึงโทรศัพท์ จึงได้ตรวจสอบหมายเลขพบว่ารายชื่อบันทึกว่า แม่ จึงได้สุ่มโทร. พบว่าเป็นแม่ของผู้เสียชีวิต จึงได้แจ้งเหตุให้ทราบว่านายจารุชาติเสียชีวิตแล้ว
“ในส่วนของการแจ้งสาเหตุการเสียชีวิต ก่อนหน้านี้พบว่ามีร่องรอยการกระแทกที่ศีรษะและมีเลือดออกในช่องท้องนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะได้ทำการพิสูจน์อีกครั้ง เพื่อให้ความกระจ่างแก่ทุกฝ่ายถึงการเสียชีวิต ในส่วนของคู่กรณีที่เกิดอุบัติเหตุร่วมกัน เบื้องต้นหลังจากที่เกิดเหตุได้ทำการสอบสวนก็อยู่ในอาการมึนเมา ยังให้การวกไปวนมา ซึ่งต้องทำการสอบปากคำอีกครั้ง และนำผลการสอบปากคำมาประกอบกับหลักฐานชิ้นอื่นๆ เพื่อคลี่คลายคดีดังกล่าวต่อไป” ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ได้ขออายัดร่าง หลังจากที่ให้ญาติได้ประกอบพิธีทางศาสนาแล้วเสร็จก่อน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากรถพยาบาลโรงพยาบาลพาน นำร่างส่งให้กับทางโรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่
พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปราม เปิดเผยว่า ได้ให้ พ.ต.อ.ปทักษ์ ขวัญนา ผู้กำกับการกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ลงพื้นที่เกิดเหตุ โดยจะต้องทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียด พร้อมกับมีการไล่กล้องวงจรปิดย้อนไปก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ รวมถึงจะต้องนำตัวพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดมาสอบสวนอย่างละเอียด ขณะนี้ทางกองปราบฯ ยังไม่ระบุแน่ชัด หรือตั้งประเด็นไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นฆาตกรรมหรืออุบัติเหตุ
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นครพิงค์ ได้ขอความร่วมมือกับทางญาติและครอบครัวนายจารุชาติ มาดทอง ในการนำศพกลับมาชันสูตรพลิกศพโดยละเอียดอีกครั้ง ณ นิติเวช โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการชันสูตรพลิกศพครั้งที่ 2 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสามารถตอบคำถามสังคมได้ โดยพนักงานสอบสวนจะนำผลการชันสูตรพลิกศพทั้ง 2 ครั้ง เข้าประกอบสำนวนการสอบสวน ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนการสอบสวน แบ่งออกเป็น 2 คดี คือ 1.สำนวนคดีจราจร และ 2.สำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยยังคงต้องรอผลการชันสูตรพลิกศพจากแพทย์นิติเวช ประกอบกับผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุจากกองพิสูจน์หลักฐาน และข้อมูลทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน ในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ
พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ได้หารือในที่ประชุมและมอบหมายงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นผลตรวจเลือดที่พบสารแปลกปลอม 4 ชนิด และมี 2 ชนิดที่เป็นองค์ประกอบย่อยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดโคเคน ซึ่งเดิมเห็นว่าจะเชิญแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขมาให้ข้อมูล แต่ได้มอบหมายใหม่ให้ไปสอบถามข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแทน จากนั้นให้นำข้อมูลสรุปความเห็นรายงานต่อที่ประชุมวันที่ 3 ส.ค. เพื่อพิจารณาลงลึกไปในรายละเอียด หากผลจากการพิจารณาพบว่ามีพยานหลักฐานที่ชัดเจนมากพอ และคดียังไม่หมดอายุความ ก็จะเสนอ ผบ.ตร. พิจารณาสั่งการต่อไป ว่าจะให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับเสพสารเสพติดกับนายวรยุทธเพิ่มเติมหรือไม่
"ในการมอบหมายงานครั้งนี้ มุ่งเรื่องผลการตอบสารแปลกปลอมในเลือดเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งความเร็วรถยนต์ที่แท้จริงที่นายวรยุทธขับในวันเกิดเหตุ โดยยอมรับว่ามีการถกเถียงในที่ประชุมเรื่องผลการคำนวณที่ออกมาแตกต่างกัน" พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าว
กังขา กก.ชุดตร.เป็นมวยล้ม
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า กรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนฯ ได้เชิญนายตำรวจหลายนายไปให้ข้อมูลในประเด็นที่ไม่มีการแจ้งข้อหาพบสารแปลกปลอมที่เกิดจากยาเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหา ทั้งที่มีผลตรวจทางนิติเวชวิทยายืนยันจากการตรวจเลือดของบอสแล้ว แต่ทว่าพนักงานสอบสวนได้ให้เหตุผลที่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ โดยอ้างว่ามีทันตแพทย์ยืนยันว่าได้ให้ยาที่มีส่วนผสมของโคเคนในการรักษาทำฟัน แต่ปรากฏว่า พล.ต.อ.ศตวรรษ กลับมาตั้งโต๊ะแถลงแก้ต่างว่าทันตแพทย์ที่ให้การรักษานายบอส ยืนยันว่าไม่ได้ให้ยาที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด เพียงแค่ให้ยาปฏิชีวนะเท่านั้น ประหนึ่งว่าจะพยายามแก้ต่างให้ตำรวจที่คณะของตนตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงน่าเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าผลสรุปของการคณะกรรมการฯ ของตำรวจ อาจทำให้ประชาชนคิดไปได้ว่าเป็นดั่งมวยล้มต้มคนดูก็เป็นไปได้
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า กรณีกระทิงทองหล่อนั้น เหมือนความอยุติธรรมฟาดอยู่ตรงกลางหัวใจของพี่น้องคนไทย สมมุติว่ากรณีนี้ไม่สามารถทำอะไรได้อีก ก็เชื่อว่ายากที่นายวรยุทธจะกลับมาอยู่ประเทศไทย เพราะทันทีที่เดินทางมาประเทศไทย คนจะลุกฮือเต็มสนามบินสุวรรณภูมิ ตระกูลอยู่วิทยา ต้องออกมาขอที่ยืนในสังคม นายวรยุทธ อยู่วิทยา ออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่มีการสั่งฟ้อง ก็ติดคุกทางสังคมที่มีพื้นที่ใหญ่ ครอบคลุมทั่วโลก และเมื่อเรื่องนี้ดังขึ้นท่ามกลางบรรดาคนหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาที่กำลังขับเคลื่อน ก็เปรียบเสมือนเป็นปุ๋ยชั้นดี เมื่อคนต่างเกิดความรู้สึกว่ารับไม่ได้ก็จะออกกันมา เพราะกรณีนี้ไปกระเเทกตรงกลางดวงใจของทุกฝ่ายและกลายเป็นการสร้างความปรองดองภายในชาติอย่างคาดไม่ถึง สุดท้ายเรื่องนี้ต้องมีทางออกให้กับหัวใจคนไทย เพราะไม่เช่นนั้นกระทิงทองหล่อจะขวิดล้มระเนระนาดกันทั้งกระดาน
นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การปฏิรูประบบและกระบวนการยุติธรรม เริ่มแล้วที่มหาวิทยาลัยรังสิต ข้อเสนอเบื้องต้น 1.แยกตั้งกรมตำรวจภูธรภูมิภาคต่างๆ เพื่อกระจายอำนาจและตัดสายส่งส่วยและให้ตำรวจแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่ในการกำกับดูแลรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด 2.ให้แยกตั้งกรมการสอบสวน ขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม และให้การสอบสวนจังหวัดขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด 3.ไม่ให้ตำรวจมีอำนาจเปรียบเทียบปรับกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ให้โอนอำนาจเป็นของศาล แม้กระทั่งใบสั่งจราจรดังเช่นสหรัฐอเมริกา 4.ไม่ให้อัยการมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีใดๆ เพียงตรวจสอบความเป็นธรรม รวดเร็วและเสนอความเห็นไปยังศาล 5.ให้จังหวัด “บริหารจัดการตนเอง” มี “งบประมาณ” ของตนเอง โอนอำนาจการบริหารจัดการจากส่วนกลาง “การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจังหวัดต้องเป็นเทอม” ไม่พร่ำเพรื่อ ตามอำเภอใจส่วนกลาง และอีกมากมายที่ต้องปฏิรูป คุกต้องไม่มีไว้ขังแต่คนจน
วันเดียวกัน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (PolicWatch) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “บทเรียนกรณีบอสกระทิงแดง : จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรไม่ให้คนผิดลอยนวล” โดย ด.ร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการประจำจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวตอนหนึ่งว่า แต่ก่อนมีการบิดเบือนตรรกะทางกฎหมาย แต่เดียวนี้ถึงขั้นบิดเบือนวิทยาศาสตร์ ความเร็วก็บิดเบือนได้ มันไปกันใหญ่แล้ว ถ้าปล่อยให้พยานหลักฐานที่ไม่มีความชัดเจนและเกิดความสงสัยอยู่ขึ้นสู่ศาล ศาลก็จะยกฟ้อง การยกฟ้องคือการฟอกขาวในคดีบอส ถ้ามีหลักฐานใหม่ หรือหลักฐานที่ไม่อยู่ในสำนวนสามารถรื้อคดีได้ เป็นเรื่องขี้หมา สิ่งที่ตนเรียกร้องมาตลอดคือการมีระบบที่ไม่ไว้ใจใคร ต้องสร้างระบบที่ชั่วแค่ไหนก็ทำเลวไม่ได้ ความจริงในที่เกิดเหตุทุกอย่างสมบูรณ์ทั้งพยานหลักฐาน โดยมีฝ่ายปกครอง พิสูจน์หลักฐาน อัยการลงไปดู ทุกคนรู้เห็นทั้งหมด ทุกอย่างจบใน 3 เดือน ยิ่งปล่อยเวลานาน ยิ่งมีเวลาซื้อคดี บิดเบือน แทรกแซง วิ่งเต้นคดี คนมีอำนาจมีเวลาเข้ามาแซรกแทง อัยการต้องปฏิรูปด้านหาความจริง
นายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยชั้นต้น ชั้นกลาง มีปัญหามาก่อนหน้านี้แล้วอัยการบางท่านเมื่อมีส่วนกับพนักงานสอบสวนก็จะทำสำนวนแปลกๆ ให้เกิดขึ้น และจะเข้าใจมากเมื่อเป็นคดีของผู้มีเงินเยอะ ในอดีต ไม่ว่าอัยการระดับไหนก็เคยมีลักษณะแบบนี้เหมือนกัน ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ซ้ำรอยทุ่งใหญ่ฯจุดชนวน14ตุลา
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อเห็นสำนวนย่อของอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียน เรื่องนี้สั่นสะเทือนไปถึงรากฐานสังคมไทยอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน สั่นสะเทือนไปถึงระบอบประชาธิปไตย เป็นรากฐานของระบบอุปถัมภ์ที่เข้มข้น สิ่งที่จะต้องแก้ไขคือผู้มีอำนาจรัฐดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ต้นลม ฟังเสียงประชาชน ตอบคำถามประชาชนให้ได้ อีกทางถ้าผู้ครองอำนาจรัฐตอบไม่ได้ จะเป็นชนวนในสิ่งที่ใหญ่มาก แต่จะใหญ่อย่างไรไม่อาจพยากรณ์ได้ อย่างเช่นกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่พอสมควรในเดือน ต.ค.ปี 2516
"คดีนี้เสมือนฟางเส้นท้ายๆ ที่ทับถมลงไปบนหลังอูฐ เหลืออดกับหลายเรื่องมายาวนาน ฉะนั้นนายกฯ ต้องเร่งเสนอ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติและร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาเข้าสู่รัฐสภาเพื่อดำเนินการพิจารณาด่วนให้กำเนิดขึ้นมา ถึงแม้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะยังไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด เชื่อว่าคณะผู้ร่างต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากร่างทั้ง 2 ฉบับเป็นสารตั้งต้นเข้าสู่รัฐสภา ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ณ เวลานี้จะก่อให้เกิดความปรองดองไม่ว่าสีใด ฝ่ายใด ในความอับอายนี้ ถ้าเราก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้จะต้องใช้เวลา" นายคำนูณกล่าว
นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นสังคมรับไม่ได้ความยุติธรรมมันสำคัญกว่า กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือในการหาความยุติธรรม เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเห็นว่าความยุติธรรมมีเฉพาะคนรวย ขอให้คนที่เกี่ยวข้องอย่าเสียสละระบบทั้งหมดเพื่อบุคคลบางกลุ่ม
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมอำมหิตสำหรับคนจน คนจนรับรู้มานาน แต่ที่หนักบางคนไม่ได้ทำผิดก็ยังต้องติดคุกจากการสอบสวนวิปริตวิปลาส กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาร้ายแรง โดยเฉพาะขั้นสอบสวน ขนาดวิทยาศาสตร์ยังเพี้ยนได้เลย และไม่ทราบวิทยาศาสตร์มีกี่สูตรตัวเลขที่ออกมาถึงห่างกันมาก จาก 177 กม.ต่อชั่วโมงเหลือ 76 กม.ต่อชั่วโมง สิ่งที่เกิดขึ้นขอเรียกว่าเป็นอาชญากรรมการสอบสวน เกิดขึ้นเยอะแยะทั้งหนักทั้งเบา เรื่องนี้ทุกคนนึกไม่ถึง ไม่มีการตรวจแอลกอฮอล์ เป็นเจตนาตั้งแต่แรก
"อัยการเป็นจิกซอว์ตัวสุดท้าย เป็นแพะก็ได้ เมื่อส่งสำนวนให้อัยการสรุปสั่งฟ้อง แต่เขารู้อยู่แล้วอัยการฟ้องไม่ได้เพราะไม่เมา ไม่เร็วจะฟ้องได้อย่างไร เมื่อสั่งสอบเพิ่มเติมจะเป็นการดองคดี อะไรบิดไม่ได้ก็ปล่อยให้หมดอายุความ ตรวจพบโคเคนก็ไม่เข้าสำนวน อัยการแค่พิจารณาสำนวนตามที่ตำรวจส่งให้เท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ค้นหาด้วยตัวเอง แต่ถ้าตำรวจสอบละเอียด อัยการจะสั่งเป็นอื่นไปไม่ได้ เรื่องนี้หลายฝ่ายมองว่าตำรวจเสนอสั่งฟ้อง มันเป็นแท็กติกสุดท้ายอัยการไม่ฟ้อง อัยการจึงกลายเป็นแพะจริง ไอ้โม่งที่อยู่หลังพนักงานสอบสวนเขารู้อยู่แล้ว ว่าอัยการฟ้องไม่ได้ เพราะถ้าตำรวจสั่งไม่ฟ้องมันน่าเกลียด จึงใช้มืออัยการแทน ทุกอย่างถูกกำหนดจากการสอบสวน จึงถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปตำรวจ" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และอดีตเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานขณะเกิดเหตุ กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุยศ ร.ต.อ. อยู่ที่หน่วยกลุ่มงานตรวจทานเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐาน หลังเกิดเหตุมีการระดมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ 2 ประเด็น คือชนกันในลักษณะไหน ความเร็วเท่าไหร่ ได้ตรวจสอบร่องรอยต่างๆ เพราะพยานที่น่าเชื่อถือมากกว่าคือวัตถุพยาน บางร่องรอยสามารถชี้ข้อเท็จจริงได้ พบว่าการชนเป็นลักษณะตรงไม่ได้เฉียง ความเร็วรถจากกล้องวงจรปิดก่อนถึงจุดเกิดเหตุ 100 เมตร ซึ่งการคำนวณของชุดทำงาน ตนได้ใช้ฟิสิกส์พื้นฐานอัตราความเร็วเคลื่อนที่หารด้วยเวลา และไปวัดระยะทางในที่เกิดเหตุ เมื่อมาคำนวณเวลาก็ได้ความเร็วที่ 177 กม.ต่อชั่วโมง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |