‘สู้ อยู่ หนี รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา’ ยกระดับทักษะรับมือภัยพิบัติ


เพิ่มเพื่อน    

สมมติเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ให้ผู้ร่วมอบรมหลักสูตร CMS ต้องเผชิญภาวะวิกฤติ

 

     จำลองเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และน้ำท่วมฉับพลัน เพื่อทดสอบและฝึกทักษะการใช้ชีวิตในภาวะวิกฤติเมื่อเผชิญเหตุอุทกภัยที่อาจจะเกิดในพื้นที่ จนสามารถเอาตัวรอดมาได้อย่างปลอดภัยทั้ง 35 ชีวิต ที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติ หรือ CMS (Crisis Management Survival Camp) ภายใต้แนวคิด ‘CMS สู้ อยู่ หนี รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา’  ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก โรงเรียนสงครามพิเศษ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (วัดใหม่เอราวัณ) อ.เมือง จ.ลพบุรี ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ตามโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 8

      การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ยังชวน พ.อ.นพ.ภาคย์ โลหารชุน นายแพทย์ใหญ่ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เจ้าของฉายา ‘หมอที่แกร่งที่สุดในปฐพี’ มาเล่าวินาทีความเป็นความตายในถ้ำหลวง และภารกิจปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ที่ 'หมอภาคย์’ อยู่กับเด็กๆ ทีมหมูป่า จนสามารถช่วยเหลือออกมาได้ทุกคน พร้อมข้อคิดในการดำเนินชีวิต

 

เรียนรู้โคก หนอง นา โมเดล เกษตรทฤษฎีใหม่ที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ลพบุรี

 

      โครงการรวมพลังตามรอยพ่อฯ ปีนี้ หวังปลุกให้คนเมืองและคนที่สนใจทำเกษตรกรรมตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งการป้องกัน การพึ่งพาตนเองเมื่อเกิดวิกฤติ การฟื้นฟูวิถีชีวิตหลังภัยพิบัติ โดยเกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 

จำลองสถานการณ์ปัญหา ฝึกการเอาตัวรอดในน้ำ

 

     ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ ‘อาจารย์ยักษ์’ นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น พายุพัดถล่มบ้านเรือนเสียหาย ภัยแล้ง น้ำท่วมเจอทุกปี เกิดความเดือดร้อนและสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก การรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือเยียวยาผู้ประสบภัย เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางบรรเทาทุกข์ แต่การเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรู้หน้าที่และพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งช่วยเหลือครอบครัวและผู้อื่น เป็นหัวใจสำคัญสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ถือเป็นแนวทางที่สำคัญ โดยหลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติ หรือ CMS ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เน้นการสร้างแหล่งน้ำไว้ในพื้นที่ตนเอง สามารถเก็บน้ำฝนไว้ใช้อุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี ทั้งในฤดูน้ำหลากยังสามารถช่วยชะลอและเก็บกักน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เน้นสร้างแหล่งอาหารปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เตรียมการไว้ในภาวะปกติและรับมือเมื่อเกิดวิกฤติ พร้อมทั้งฝึกอบรมทักษะ การเตือนภัย รู้เท่าทันสถานการณ์ฉุกเฉิน

      “ ประชาชนควรมีความรู้ในการเอาตัวรอด เตือนภัยและฟื้นฟูหลังประสบภัยพิบัติ หลักสูตร CMS สร้างสติให้ประชาชนจะเผชิญเหตุและสู้อย่างไร ถ้าสู้ไม่ได้จะอพยพและเตรียมพื้นที่อพยพช่วงวิกฤติ หลังเหตุการณ์ผ่านไปบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาเสียหายต้องเข้าสู่การฟื้นฟู นอกจากนี้ จะสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายความช่วยเหลือทั้งในและนอกพื้นที่ได้ ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด หลักสูตร CMS อบรมรุ่นแรกก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 จนรุ่นล่าสุดที่ จ.ลพบุรี  รวม 22 รุ่นแล้ว” อาจารย์ยักษ์ ซึ่งร่วมให้ความรู้กับผู้เข้าอบรมครั้งนี้กล่าว

 

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ ‘อาจารย์ยักษ์’

 

      ทางรอดประเทศท่ามกลางโลกวิกฤติและโรคระบาด อาจารย์ยักษ์มั่นใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางรอดเดียว เห็นได้จากปีนี้งบฟื้นฟูโควิดของรัฐบาล 1.5 หมื่นล้าน มีลงมาทำโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยกระทรวงมหาดไทย เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น ไทยจะมีพื้นที่สีเขียวและแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลกฯ เป็นต้นแบบให้รัฐบาล เพราะเป็นทางรอดที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำตัวอย่างให้ดูทั่วประเทศ ปีหน้าครบปีที่ 9 เชื่อว่า จะสร้างหลุมขนมครกหนึ่งแสนหลุมเกินเป้าที่วางไว้แน่นอน

      ด้าน อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บ.เชฟรอนฯ กล่าวว่า การฝึกอบรม CMS เป็นกิจกรรมที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้นำอาสาสมัครให้พร้อมที่จะรับมือกับภาวะวิกฤติต่างๆ และช่วยเหลือผู้อื่นได้ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงและใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที โครงการจัดฝึกอบรมครั้งแรกหลังโควิด โดยได้ปรับหลักสูตรการฝึกให้เหมาะสมกับผู้เข้ารับการฝึกซึ่งมีทั้งคนเมือง พนักงานเชฟรอนและคนที่เริ่มทำกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสร้างเครือข่ายของคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดเหตุภัยพิบัติ การเตรียมป้องกัน การพึ่งตนเองเมื่อเกิดวิกฤติ ตลอดจนการฟื้นฟูวิถีชีวิตหลังภัยพิบัติด้วยศาสตร์พระราชา สามารถนำความรู้ที่ได้จากภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากวิทยากรชั้นครูของมูลนิธิและทีมครูฝึกหน่วยซีลไปปฏิบัติและถ่ายทอดให้คนอื่นต่อไป

      “ ปีที่ 8 ของโครงการ จะมีกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ทำโคก หนอง นา โมเดล ขุดคลองไส้ไก่ ที่ จ.ชัยภูมิ กลางเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นเดือนกันยายน จัดกิจกรรมที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นการสืบสานศาสตร์พระราชาช่วยกันสร้างพื้นที่ต้นแบบใหม่ เน้นให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเอง นอกจากนี้ จะเผยแพร่เรื่องราวบุคคลต้นแบบจากโครงการรวมพลังตามรอยพ่อฯ ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนในสังคม เรามาได้ไกล เกิดการรับรู้เกษตรทฤษฎีใหม่และทำตามเพิ่มขึ้น จากที่คนเห็นว่าเป็นเกษตรทางเลือก ขณะนี้เป็นเกษตรทางหลัก คนรุ่นใหม่ก็หันมาทำกสิกรรมธรรมชาติ เปลี่ยนวิธีคิด ไม่ห่วงรวย แต่รอด ผืนดินดีขึ้น น้ำท่วมภัยแล้งมาก็ไม่กระทบ" อาทิตย์ กล่าว 

อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้บริหาร บ.เชฟรอนฯ  เดินหน้าสานต่อโครงการฯ

 

      หลักสูตร CMS ยกระดับการเอาตัวรอดของคนไทย  พล.อ.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า ประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตร CMS ที่ปรึกษาการฝึกอบรมครั้งนี้ บอกว่า ปกติฝึกอบรมใช้เวลา 6 วัน แต่ครั้งนี้เป็นหลักสูตรเฉพาะกิจระยะสั้น 3 วัน 2 คืน การออกแบบหลักสูตรมีความกระชับและมีโอกาสใช้ได้จริง เน้น สู้ อยู่ หนี เริ่มจากสู้โดยใช้ศาสตร์พระราชา เตรียมความพร้อมเมื่อต้องเผชิญเหตุแล้ง ท่วม ดินถล่ม ถัดมา อยู่ด้วยศาสตร์พระราชา นำหลักกสิกรรมธรรมชาติกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงปรับใช้ โคก หนอง นา โมเดล ทำได้แม้แต่ในทาวน์เฮาส์หรือคอนโดฯ  ส่วนหนี ใช้ศักยภาพผู้รู้ หนีอย่างปลอดภัย ในหลักสูตรสอนวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเผชิญเหตุสถานการณ์ต่างๆ  เรียนรู้เรื่องทัศนสัญญาณ การปฐมพยาบาล การผูกเงื่อนเชือก และการเอาตัวรอดในน้ำ ครั้งนี้จำลองสถานการณ์ปัญหา 24 ชม. เพื่อฝึกการดำรงชีพในภาวะวิกฤติ

 

“หมอภาคย์”-พ.อ.นพ.ภาคย์ โลหารชุน

 

      ส่วนยุทธวิธีรอดจากวิกฤติและเซฟตัวเองจากโควิด “หมอภาคย์”-พ.อ.นพ.ภาคย์ กล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญเหตุที่วิกฤติและมีความสุ่มเสี่ยงต่อชีวิต อย่างแรกต้องมีสติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่างน้องๆ 13 หมูป่ามีสติ และแก้ปัญหาเป็นส่วนๆ น้ำมา หนีน้ำหาพื้นที่สูง จากนั้นบริหารจัดการพลังงานของตัวเอง รอเจ้าหน้าที่ค้นหา ระหว่างนั้นสลับกันใช้เศษหินขุดโพรงหาทางออกถ้ำเอง ตนก็มีประสบการณ์อุปกรณ์ดำน้ำติดช่องแคบในถ้ำ ไม่รนราน ตั้งสติผ่านอุปสรรคมาได้ บทเรียนในถ้ำหลวงจะเป็นแนวทางและข้อคิดให้ผู้เข้าร่วมอบรม CMS นำไปปรับใช้ เช่นเดียวกับโควิด หากใช้สติ รู้จักป้องกันตัวเอง และพร้อมใจปฏิบัติตามมาตรการ ชาติก็พ้นวิกฤติโรคระบาดได้ อยากให้คนไทยพึ่งพาตนเอง มีความพร้อมรับมือ ช่วยลดความสูญเสีย

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"