นาขั้นบันไดบ้านแม่ละอุป จ.เชียงใหม่ หนึ่งในวิธีกระจายน้ำในพื้นที่
ฝายผสมผสานแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบกระจายน้ำในพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะการทำนาขั้นบันได เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการน้ำชุมชนภาคเหนือ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นผืนดิน ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ที่ชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ มีการสร้างฝายเกือบ 400 ฝาย ใน 20 ลำห้วย ทั้งลำห้วยหลักและลำห้วยรอง และนั่นเป็นเหตุให้มีน้ำใช้ตลอดปี
ชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนเผ่าปกาเกอะญอยังปรับเปลี่ยนวิถีจากทำเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน และร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำ มีป่าเขียวตลอดปีที่บ้านแม่ละอุป ความสำเร็จของการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำนำมาสู่การยกระดับเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป จ.เชียงใหม่" และพื้นที่นำร่องเครือข่ายเตือนภัยชุมชน ช่วยป้องกันและเฝ้าระวังภัยพิบัติ ซึ่งมีชุมชนและหน่วยงานมากมายเดินทางเข้าพื้นที่สูงแห่งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและเยี่ยมชมการทำงาน
เดชา นทีไท เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป พาชมฝาย
เดชา นทีไท เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป กล่าวว่า อดีตชุมชนมีปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง เพราะมีการสัมปทานป่าไม้และบุกรุกป่าต้นน้ำ ตัดไม้ขาย ป่าเกือบหมด น้ำลำห้วยแห้ง เดือดร้อนกันหนักมาก ปี 2537 ชาวบ้านทะเลาะแย่งน้ำกันรุนแรง จนปี 2544 มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปอย่างชัดเจน จากนั้นปี 2552 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) มาถ่ายทอดแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการจัดทำแผนที่น้ำ วิเคราะห์และวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ นำมาสู่การรวมกลุ่มจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สร้างกฎระเบียบ ฟื้นฟูป่า สร้างฝาย จัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ จนมีน้ำพอเพียงในพื้นที่
" นา 800 ไร่ในชุมชน ชาวบ้านได้ทำนาครบ แม่ละอุปมีพื้นที่ 33,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำกิน 15% และพื้นที่ป่า 85% ซึ่งปัจจุบันป่าคงสภาพสมบูรณ์ ไม่ถูกรุกล้ำ ซึ่ง อ.กัลยาณิวัฒนา จัดเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้นที่ 1A ปริมาณน้ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา การไม่ทำลายป่า ฟื้นฟูห้วยแม่ละอุปความยาวกว่า 50 กิโลเมตร และทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนปกาเกอะญอ ทำให้เกิดความถูกต้อง มั่นคงของชีวิตและชุมชน ไม่กลับไปสู่บทเรียนเดิม " เดชา กล่าว
เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ อีกความก้าวหน้าในการจัดการน้ำชุมชน
อีกดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ไร้ปัญหาขาดแคลนน้ำ เดโชพูดถึงเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 7 กิโลวัตต์ เดิมเป็นโรงสีข้าวพลังน้ำ ต่อมามูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แนะนำให้ใช้ ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม ปรับปรุงผลิตไฟฟ้าทำเกษตร โดยผันน้ำบางส่วนจากห้วยแม่แจ่ม ไหลผ่านลำเหมือง เก็บไว้ที่สระน้ำ มีอาคารบังคับน้ำ เข้าสู่ท่อความยาว 150 เมตร เทียบกับกังหันน้ำ นำพลังงานจากกังหันน้ำมาขับเคลื่อน เครื่องสีข้าว นอกจากนี้ พลังงานที่ได้ใช้ผลิตไฟสูบน้ำส่งไปยังถังสำรองน้ำที่ระดับสูง 60 เมตร เข้าสู่พื้นที่เกษตรกว่า 50 ไร่ รวมถึงพื้นที่ป่าเปลี่ยนที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ถ้าไม่ดูแลป่า น้ำไม่มี เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ทำงาน นี่คือ ผลจากการที่ชุมชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
หนึ่งในแปลงเกษตรทฤษีใหม่ที่บ้านแม่ละอุป แหล่งความมั่นคงทางอาหารและช่วยรักษาระบบนิเวศ
ต้นปีที่ผ่านมาชุมชนเริ่มทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ พลิกฟื้นเขาหัวโล้นให้กลายเป็นป่าเขียว โดยตัวอย่างแปลงนำร่องเป็นพื้นที่ของเดชา มีการจัดการที่ราบ ที่ดอน และที่สูง โอกาสนี้เขาพาชมฟาร์มเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ นพื้นที่ 1 ไร่ มีการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ขุดสระน้ำ และทำปศุสัตว์ เลียงหมู ไก่ ปลาทับทิม ปลาดุก และกบ มูลสัตว์ยังต่อยอดทำเป็นก๊าซและปุ๋ย ส่วนไม้ยืนต้นปลูกตามแนวขั้นบันได ผลผลิตไว้กินในครัวเรือน แบ่งปันเพื่อนบ้าน เหลือก็ขาย
" เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นทางออกของชุมชม ไม่ใช่พื้นที่เข้มข้นเหมือนพืชเชิงเดี่ยว ผมเริ่มทำเพราะเชื่อว่านี่คือ ฐานความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือน และอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ระบบนิเวศฟื้นตัว ไม่ต้องใช้สารเคมี เราปลูกข้าวไว้กิน เหลือแบ่งปัน นี่คือวิถีปกาเกอะญอ หลังนาก็ปลูกพืชสร้างรายได้ พืชเด่นก็ตะกูลถั่ว ทั้งถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วอะซูกิ ฟักทองญี่ปุ่น แล้วยังมีผลไม้เมืองหนาว อะโวคาโด สาลี่ ผมอยากตามรอยพระบาท ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ อ.กัลยาณิวัฒนา 2 ครั้ง ท่านไม่ทอดทิ้งพี่น้องปกาเกอะญอ มีโครงการหลวงมาแนะนำส่งเสริมอาชีพ พ่อหลวงทรงเป็นหัวใจของพวกเรา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสาน ทำให้ประชาชนมีความสุข อยู่ดีกินดี" เดโชกล่าว และยืนยันจะร่วมขยายผลการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปัจจุบันมีเกษตรกร 21 รายในบ้านแม่ละอุป กล้าที่จะเปลี่ยนและเลิกวิถีเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาเป็นเกษตรผสมผสาน ทั้งหมดนี้เป็นความก้าวหน้าของชุมชนต้นแบบจัดการทรัพยากร โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายหรือทำเมกะโปรเจ็กต์ แต่มีกรอบคิดและกรอบงานตามแนวพระราชดำริ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |