สั่งล้อมคอกอุบัติเหตุเทศกาล


เพิ่มเพื่อน    

    ยอด 6 วันอันตรายสงกรานต์ดับ 378 ศพ เจ็บ 3,575 ราย ศปถ.ชี้ "ขับเร็ว-เมา" สาเหตุหลัก "บิ๊กตู่" สั่งวิเคราะห์ชนวนอุบัติเหตุนำมาแก้ไขครั้งต่อไป ย้ำบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นยังจำเป็น "ประวิตร-อนุพงษ์" ยอมรับยอดเสียชีวิตสูง "คสช." ยึดรถขี้เมาแล้ว 13,964 คัน
    เมื่อวันที่ 17 เมษายน พล.ท.ธเนศ กาลพฤกษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ในฐานะประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ระหว่างวันที่ 11-16 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุ 3,418 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 378 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,575 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์ มี 6 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม หนองคาย และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 126 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 19 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 136 คน  
    พล.ท.ธเนศกล่าวว่า ในส่วนวันที่ 16 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุ 425 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 49 ราย ผู้บาดเจ็บ 464 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 28.47 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 27.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.00, บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.76, ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.82 
    สำหรับช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 23.53 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28.07 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,031 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,226 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 856,446 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 176,415 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 49,866 ราย ไม่มีใบขับขี่ 46,067 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สมุทรปราการ และพิษณุโลก 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 17 คน 
    "ประชาชนบางส่วนยังคงเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ ศปถ.ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนทุกเส้นทางอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอำเภอที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง หรือพื้นที่สีแดงและสีส้ม นำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาล เพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนมีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียได้มากที่สุด" เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบกระบุ  
    ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสถิติการตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับขี่ตลอด 6 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11-16 เม.ย.2561 พบการกระทำความผิดในส่วนรถจักรยานยนต์ 220,507 ครั้ง รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ 163,840 ครั้ง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับไว้แล้ว 13,964 คัน แยกเป็น รถจักรยานยนต์ 10,139 คัน และรถยนต์ 3,825 คัน และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รถจักรยานยนต์ 147,971 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคล 86,674 คน
คสช.ยึดรถขี้เมาอื้อ
    พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าวว่า ในส่วนวันที่ 16 เม.ย.2561 พบรถจักรยานยนต์กระทำความผิด 52,298 ครั้ง เจ้าหน้าที่ยึดรถไว้ 2,767 คัน และส่งผู้กระทำผิดดำเนินคดี 34,521 คน ​สำหรับรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล พบการกระทำความผิด 41,574 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ยึดใบอนุญาตขับขี่ไว้ 2,324 ราย ยึดรถยนต์ 1,098 คัน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดี 20,902 คน
    ​"รถที่ฝ่าฝืนมาตรการความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ได้นำมาเก็บรักษาไว้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีตำรวจ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหาร ด่านตรวจถาวร มีจำนวนค่อนข้างสูง โดยขณะนี้เจ้าของรถได้ทยอยมาติดต่อขอรับรถคืนตามเวลาที่กำหนดแล้ว ส่วนรถที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ต้องรอให้ผลทางคดีเสร็จสิ้นก่อน จึงจะขอรับคืนได้" รองโฆษก คสช.ระบุ
    ส่วน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมของการดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั่วประเทศว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้บางพื้นที่จะมีเหตุทะเลาะวิวาทหรืออนาจาร ทั้งหนักและเบา ตำรวจในพื้นที่ได้เข้าไปสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีแล้ว ส่วนโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 11-16 เม.ย. มียอดฝากบ้านอยู่ที่ 8,346 หลัง ประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับบ้านแล้ว ซึ่งก็ยังไม่พบว่ามีบ้านหลังใดถูกลักขโมยทรัพย์สิน โดยตำรวจจะดูแลจนบ้านหลังสุดท้ายส่งมอบคืนให้กับเจ้าของ
    พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า สำหรับสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 10 ข้อหาหลัก อันดับ 1 ข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย 281,201 ราย, อันดับ 2 ข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 263,407 ราย ส่วนการอำนวยการจราจรของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเดินทางกลับจากภูมิลำเนาของพี่น้องประชาชน ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สั่งการและกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายพร้อมปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน โดยประชาชนทยอยเดินทางกลับ ทำให้การจราจรนั้นจะมีความหนาแน่น พร้อมให้บริการช่วยเหลือและอำนวยการจราจรอย่างเต็มความสามารถ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 
    "ส่วนการระดมกวาดล้างอาชญากรรมและจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับในห้วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ในทุกฐานความผิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ทุกกองบัญชาการ (บช.) มีสถิติการระดมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 27,974 หมายจับ อันดับที่มีการจับกุมมากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ.1) จับกุมได้ 9,220 หมายจับ รองลงมากองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จับกุมได้ 4,665 หมายจับ ทาง ผบ.ตร.มีข้อสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่มีหมายจับเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย และลดอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในห้วงเทศกาลสงกรานต์ 2661 เช่นกัน" โฆษก สตช.กล่าว
สั่งวิเคราะห์อุบัติเหตุ
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรที่มีการบาดเจ็บสูญเสีย ก็ต้องแก้ไขปัญหากันต่อไป ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการละเมิดกฎหมายปกติ สถิติผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์เหมือนเดิม มีสาเหตุมาจากไม่สวมหมวกกันน็อก และดื่มสุราก่อนขับขี่ ซึ่งได้สั่งให้เพิ่มความเข้มงวดในการใช้กฎหมายให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง 
    "เราจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากไม่มีวิธีการอื่น อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนถนนสายรอง ทั้งที่มีการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 จุด ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 60,000 นาย ตรวจยานพาหนะไปเกือบ 1 ล้านคัน แต่ยังคงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการอื่นมาใช้ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะเรื่องพายุโซนร้อน ที่อาจส่งผลให้เกิดวาตภัย บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรง ขอให้ระมัดระวัง" นายกฯ กล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงภาพรวมอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า เราพยายามดูแลอย่างเต็มที่ โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมทั้งประชาชน แต่ปริมาณรถมีจำนวนมากจริงๆ โดยเฉพาะประชาชนไม่สวมหมวกกันน็อก และปัญหาเมาสุราแล้วขับรถ จนทำให้มีสถิติผู้เสียชีวิตสูง เราต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำไปเรื่อยๆ และดำเนินการตลอดไป เพื่อแก้ไขความสูญเสียให้ได้
    ถามว่า มาตรการยึดรถจะทำให้ประชาชนไม่พอใจ และจะทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียคะแนนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราต้องการรักษาชีวิตประชาชนเอาไว้
    เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การดูแลอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ เราใช้มาตรการที่มีอยู่อย่างเต็มที่ แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีสูงต้องแก้ไขกันต่อไป ซึ่งในส่วนการบังคับใช้กฎหมาย พบมีสถิติยึดรถเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือต้องทำให้ประชาชนตระหนัก สื่อต้องมาช่วยกันให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อสังคม 
    "มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ส่วนที่การตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่ได้ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้ตัวเลขอุบัติเหตุสูงนั้น ผมยืนยันว่าเราทำอย่างเต็มที่" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
    รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนว่าจะมีพายุฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.เป็นต้นมา ในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออกส่วนหนึ่ง โดยทางเราได้ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประชาชนในพื้นที่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีเหตุการณ์เราพร้อมดำเนินการช่วยเหลือทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"