การเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็กที่เคยเป็น “ไม้ประดับ” ในแจกันเหมือนกาลก่อน กลายเป็น “คีย์แมน” สำคัญไปในบัดดล
การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้กติกาฉบับใหม่ “รัฐธรรมนูญปี 2560” พรรคใหญ่ไม่สามารถกอบโกยคะแนนได้แบบขาดวิ่น และทำหน้าที่เป็นผู้เลือกดอกไม้มาใส่ใน “แจกัน” ตัวเอง
หากแต่การจัดตั้งรัฐบาล พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก ได้เปลี่ยนมาเป็น “ผู้เลือก” ว่าจะยืนกับใคร
นอกจาก “พรรคภูมิใจไทย” ที่ดูจะเป็นพรรคขนาดกลางที่ “ไซส์ใหญ่สุด” แล้ว รองลงมาคือ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ของอดีตมังกรการเมืองผู้ล่วงลับ “บรรหาร ศิลปอาชา”
พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นอีก “พรรคเนื้อหอม” ที่ทุกขั้วต่างอยากได้ไปร่วมก่อตั้งรัฐบาล เพราะเป็นพรรคขนาดกลาง ที่มีปริมาณ ส.ส.ในมือไม่ต่ำกว่าหลักสิบ มีฐานที่มั่นที่หวังผลคะแนนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
ที่สำคัญพรรคชาติไทยพัฒนามีคอนเซ็ปต์ทางการเมืองที่ชัดเจนว่า นิยมผูกมิตรไม่สร้างศัตรูกับขั้วใด และต้องการเป็น “รัฐบาล” ทุกยุคทุกสมัย
ดังนั้น ไม่ว่าการเมืองขณะนั้นใครจะได้เปรียบ พรรคชาติไทยพัฒนาจะถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน
วันนี้แม้จะไม่มีร่างของ “หลงจู๊” ทางการเมืองเพื่อเป็นหลักยึดให้กับพรรค แต่ผู้ใหญ่ที่ยังเหลือก็พยายามประคับประคองให้ยังมี “ตัวตน” ในเวทีเมือง
โดยเฉพาะเมื่อกติกาฉบับใหม่มันเอื้อให้พรรคชาติไทยพัฒนายังมีอนาคต แม้ในวันที่ไร้ “หัวเรือใหญ่” คนที่เหลือก็พยายามที่จะสร้างกันต่อ
หลังเปิดให้ยืนยันสมาชิกภาพเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา หลายคนมองว่า จะมีอดีต ส.ส.ถูกดูดไปอยู่กับพรรคขนาดใหญ่ที่มีโอกาสมากกว่า แต่ปรากฏว่าแกนนำคนสำคัญ และอดีต ส.ส.เก่าแก่ของพรรคยังอยู่กันเกือบครบ
ไม่มีใครหายตัวไป ยกเว้น “ลูกยอด” ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลูกชาย “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ พญาชะลาวันผู้ล่วงลับ ที่พรรคภูมิใจไทยออกมายืนยันเองว่า เข้ามาร่วมชายคาเรียบร้อยแล้ว
แม้ปัจจุบันหัวหน้าพรรคจะยังเป็น “ธีระ วงศ์สมุทร” อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ “บรรหาร” เป็นคนปลุกปั้นดันกันมาตั้งแต่เป็นข้าราชการ แต่เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อสามารถทำอะไรกันได้มากกว่านี้ แบรนด์ “ศิลปอาชา” จะกลับมาถือธงนำพรรคอีกครั้ง
“ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนทางการเมืองของ “หลงจู๊” อันลือลั่น คือ ว่าที่ผู้นำคนใหม่ที่รอสัญญาณเปิดตัวทันทีที่สามารถเปิดประชุมพรรคได้
พรรคชาติไทยพัฒนายังเชื่อมั่นในนามสกุล “ศิลปอาชา” ว่า ยังขายได้ในสุพรรณบุรี และพื้นที่ฐานเสียงเดิม แม้จะเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ หากแต่ว่ายังคงไว้ซึ่งแบรนด์เดิม
การลงสู้ศึกสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาตั้งเป้าจะเป็นพรรคขนาดกลางเฉกเช่นเก่า โดยประเมินเอาไว้กลมๆ ว่า จะกวาด ส.ส.ได้ถึง 30 ที่นั่งในสภา
หรือมากกว่าเดิมเมื่อการเลือกตั้งปี 2554 เพราะกติกาปัจจุบันเอื้อพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก มีโอกาสที่จะเพิ่ม ส.ส.จากการหารเฉลี่ยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์
15 ที่นั่ง คือ ตัวเลข ส.ส.เขต ที่พรรคชาติไทยพัฒนาหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ว่าได้ชัวร์ โดยมาจากพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ที่จะกวาดรวบทั้งจังหวัด เฉกเช่นเดียวกับที่ จ.อ่างทองของ “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ผู้อาวุโส ที่ผูกขาดมาหลายสิบปี
ขณะที่พื้นที่ จ.อุทัยธานี “ชาดา ไทยเศรษฐ์” แม้ไม่ได้มาปรากฏตัวในวันยืนยันสมาชิก แต่แกนนำพรรคยืนยันว่า ไม่ย้ายค่ายไปไหน เพียงแต่ติดธุระประปรัง
นอกจากนี้ ยังมี จ.สตูล ซึ่งมีอดีต ส.ส.เก่าแก่ของพรรคที่สามารถไปเบียดคะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์มาได้หลายครั้งในการเลือกตั้ง
ส่วนอีก 15 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนาเกร็งว่าจะมาจากปาร์ตี้ลิสต์ โดยพรรค “บรรหารบุรี” กำลังไล่ต้อน ส.ส.เกรดบีเข้ามาอยู่ในพรรคให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งไปลงแข่งขันตามพื้นที่ต่างๆ แม้ไม่ใช่พื้นที่สัมปทานตัวเอง
ภาคกลางและภาคใต้ คือ ทำเลที่พรรคชาติไทยพัฒนาตั้งใจจะส่งไปทุกเขต เพื่อไปถัวคะแนนกับพรรคใหญ่มา เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ที่พรรคสามารถคว้าที่สองมาได้ด้วยจำนวนที่ไม่น้อย
โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ของ “ประชาธิปัตย์” ที่พวกเขาประเมินกันว่า ไม่มีโอกาสเกิด “แลนด์สไลด์” เหมือนกับภาคอีสานของ “เพื่อไทย” และพวกเขาเองก็เคยมีอดีต ส.ส.หลายคน
คะแนนสอบตกที่ผ่านมาอาจดูไม่มีค่าในฐานะ “ผู้แพ้” แต่รอบนี้ทุกคะแนนสำคัญ เพราะมันจะถูกรวบรวมไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์
ต่อให้แพ้ทุกเขตที่ผู้สมัคร "เกรดบี" ลงไปแข่งขัน แต่หากสามารถคว้าที่สองมาได้ทุกเขตเช่นกัน สำหรับพรรคขนาดกลางอย่าง “ชาติไทยพัฒนา” ก็ยิ้ม
เหตุที่พรรคชาติไทยพัฒนายังเชื่อมั่นใน “แบรนด์ศิลปอาชา” โดยชูบุตรชายมังกรการเมืองรับไม้ต่อจากผู้เป็นพ่อ เพราะถอดบทเรียนมาจากเมื่อหลายปีก่อน ที่ครั้งหนึ่ง ประภัตร โพธสุธน อดีตเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา เคยมีปัญหากับ “จองชัย เที่ยงธรรม” ที่ต่างต้องการส่งเด็กตัวเองลงสมัครในพื้นที่สุพรรณบุรี
สุดท้ายเคลียร์กันไม่ได้ “บรรหาร” ลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยการส่ง “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา บุตรสาวคนโตลงไปสมัครใน ส.ส.เขตนั้น ปรากฏว่าชนะอย่างถล่มทลาย
ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าไม่ว่า “ศิลปอาชา” จะลงเขตไหนในพื้นที่สุพรรณบุรี ประชาชนจะมองมาเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งก่อนเสมอ
ขณะเดียวกัน ยังเชื่อว่าดีกรีของคนรุ่นใหม่ภายใต้ยี่ห้อ “นิวบลัด” ของพรรคที่ “วราวุธ” เป็นหัวโจก ไม่ว่าจะเป็นนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง และนายเสมอกัน เที่ยงธรรม อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี มีชื่อชั้นพอที่จะไปสู้กับคะแนนกับคนรุ่นใหม่ของพรรคอื่นได้
เพราะต่างเป็นทายาทของ “นักการเมือง” ที่เริ่มจะมีชื่อเสียงมากขึ้นในพื้นที่
ส่วนแนวทางของพรรค แม้ก่อนหน้านี้จะยกคณะกันไปต้อนรับ “บิ๊กตู่” เมื่อคราวลงพื้นที่สุพรรณบุรี จนหลายคนมั่นใจเรียบร้อยโรงเรียนแป๊ะแล้วนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตั้งตัวเป็นศัตรูกับ “เพื่อไทย” หรือขั้วการเมืองใด
หากแต่ยังหนักแน่นในปณิธานของ “มังกรการเมือง” คือ วัฏจักร “ปลาไหล” ที่อยู่กับฝ่ายไหนก็ได้ ที่เป็น “รัฐบาล”
โดยเฉพาะวันนี้นักเลือกตั้งอาชีพอดอยากปากแห้ง ร้างสนามการเมืองมานานนม ในพื้นที่ต้องการงบประมาณเพื่อไปซัพพอร์ตประชาชนในฐานที่มั่น ใคร “ชนะ” และทอดไมตรีให้ “ชาติไทยพัฒนา” ก็มิอาจหักหาญน้ำใจได้เช่นกัน
ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจาก “พ่อ” มาเป็น “ลูก”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |