ไทยพบติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย มาจากอียิปต์-เนเธอร์แลนด์ ศบค.ยกกรณีเวียดนามการ์ดตกมาศึกษา ชี้ผ่อนคลายเฟส 6 ผู้ประกอบการ-พื้นที่มีความพร้อม เปิดบริการได้เลย ขณะที่นายกฯ สั่ง ผบ.เหล่าทัพเข้มงวดแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 6 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,310 ราย หายป่วยสะสม 3,125 ราย ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 127 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย กลับจากอียิปต์ โดยรายที่ 1-4 เป็นนักศึกษาชายไทยอายุ 21 ปี 2 ราย และ 24 ปี 2 ราย ถึงไทยวันที่ 24 ก.ค. เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อวันที่ 29 ก.ค. ทั้งหมดไม่มีอาการ รายที่ 5 เป็นชายไทยอายุ 28 ปี ถึงไทยวันที่ 30 ก.ค. ผ่านการคัดกรองเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) มีไข้ หายใจลำบาก ผลตรวจพบเชื้อ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนรายที่ 6 จากมาเนเธอร์แลนด์ เป็นชายไทยอาชีพเชฟบนเรือ อายุ 52 ปี ถึงไทยวันที่ 25 ก.ค. เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.สมุทรปราการ ตรวจพบเชื้อวันที่ 29 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 288,093 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรวม 17,474,020 ราย รักษาหาย 10,937,750 ราย เสียชีวิต 676,755 ราย ทั้งนี้ จะเห็นว่ายอดติดเชื้อรายวันกว่า 2 แสนราย จึงไม่แปลกที่สถานการณ์ของโลกยังเป็นที่กังวลกันอยู่
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจ กระทรวงสาธารณสุขประเทศเวียดนาม รายงานสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศว่า มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 459 ราย หลังมีการยืนยันผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยคงเหลือในระบบ 90 ราย ขณะที่เทศบาลเมืองดานังสั่งปิดร้านอาหารทุกแห่ง รวมถึงบริการซื้อกลับบ้าน ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังตรวจพบว่า ทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าจำนวนมากละเลยมาตรการทางสังคม ไปรวมตัวเพื่อรอซื้ออาหารโดยไม่มีการเว้นระยะ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องเรียนรู้และนำมาศึกษา เพราะสถานการณ์ของประเทศเวียดนามมีลักษณะไม่ต่างกับประเทศเรา
เมื่อถามถึงกรณีการอนุญาตต่างชาติ 4 กลุ่มเข้ามาในประเทศไทย และการผ่อนคลายในเฟสที่ 6 จะเริ่มเมื่อไหร่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เราขออนุมัติจาก ศบค.ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา เช่น เรื่องการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาตามที่กระทรวงแรงงานขอ ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอให้มีเรื่องการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้รับการอนุมัติจากศบค.ไปแล้วเป็นรายกิจการและกิจกรรม ซึ่งจะเริ่มเมื่อไหร่ก็เริ่มได้เมื่อมีความพร้อม ถ้าผู้ประกอบการพร้อม ภาครัฐสามารถเข้าไปดูแลพร้อม ก็สามารถเกิดขึ้นได้เลย และขอไม่ต้องเรียกว่าระยะที่ 6 แต่ให้เป็นเรื่องของความพร้อมของพื้นที่ ความพร้อมของผู้ประกอบกิจการ และความพร้อมของภาคประชาชน
โดยบทบาทหน้าที่ของกระทรวงผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่อง บทบาทหน้าที่ของฝ่ายปกครองในพื้นที่ คือผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร่วมกับทางคณะกรรมการฯ ถ้าเห็นว่าพร้อมกัน ก็เปิดได้ในกิจการและกิจกรรมที่อนุมัติไปแล้ว
"ขอประชาชนทุกคนได้ร่วมมือต่อไป ประชาชนคือความร่วมมืออันดับที่ 1 ไม่ว่าจะเปิดกิจการและกิจกรรมอะไร 2.ฝ่ายรัฐทั้งภาคของกระทรวงและพื้นที่ คือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อย่างกรณีคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้น หากเกิดความไม่เรียบร้อย ถ้าพื้นที่รับรู้เข้าไปแก้ไขร่วมมือกับภาคประชาชนก็จบได้ในพื้นที่เลย ทั้งนี้ ในเดือนส.ค.ที่จะมีงานต่างๆ ใน จ.ระยอง ต้องฝากความร่วมมือที่สำคัญ หากท่านร่วมมือแล้วเห็นผลว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ติดโรค ก็จะทำให้จังหวัดอื่นๆ ที่จะตามมาเกิดขึ้นได้" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุม ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้มงวดในการป้องกันแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกองกำลังชายแดน ดำเนินการเชิงรุกในการสกัดกั้น เฝ้าตรวจ และกวาดล้างปราบปราม โดยเฉพาะการหลบหนีผ่านเข้าช่องทางธรรมชาติ ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ให้ใช้กลไกความร่วมมือคณะกรรมการชายแดน ในการควบคุมการแพร่ระบาด ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
ช่วงเช้ามืดวันเดียวกันนี้ มีรายงานข่าวจากบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ริมแม่น้ำเมย อ.แม่สอด จ.ตาก แจ้งว่า พ.อ.ประสาน เห็นประเสริฐ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด (ฉก.ร.4) สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่สอด-ตชด.346 ลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย และการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ผลการออกปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจชายแดน เจ้าหน้าที่พบแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา 18 คน ได้ลักลอบข้ามแม่น้ำเมยพร้อมสัมภาระเข้ามาในเขตราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย บริเวณ บริเวณพื้นที่หมู่ 2 บ้านริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด โดยจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้ง 18 คน เป็นชาย 9 คน และหญิง 9 คน จนท.จึงเข้าควบคุมตัวมาสอบสวนขยายผล
จากการสอบถามแรงงานชาวเมียนมาดังกล่าว ทราบว่าแรงงานเมียนมากลุ่มนี้จะเดินทางไปทำงานในพื้นที่ชั้นใน จนท.ชุดจับกุมจึงได้นำตัวทั้งหมดส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ด่าน ตม.แม่สอด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบก.ขส.บช.ปส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงผลการดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดฯ และดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริง บิดเบือนข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในช่วงวันที่ 13-31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 รวมจำนวน 12 ราย
พล.ต.ต.พันธนะเผยว่า 6 รายแรกได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กในทำนองเดียวกันว่า พืชกระท่อมช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม ส่วนอีก 3 ราย โพสต์ข้อความยาสมุนไพรชนิดแคปซูล ช่วยรักษา โควิด-19 และอีก 3 ราย โพสต์ว่าอาหารเสริมพลูคาวช่วยรักษาโควิด-19 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เตือนประชาชนที่จะโพสต์ข้อมูลข่าวสาร อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |