“พีระพันธุ์” เผย กมธ.แก้ รธน.คืบหน้า 90% แล้ว เสนอแก้ ม.256 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. พร้อมนำข้อเรียกร้องนักศึกษามาประกอบการพิจารณา จ่อส่งรายงานต่อสภา 19 ก.ย.นี้ "โภคิน" ยกโมเดล ส.ส.ร.ปี 34 ให้ได้ รธน.ปี 40 ออกจากวิกฤติพฤษภาทมิฬ "ปิยบุตร" รอไม่ไหวชงยกเลิกรับรอง คสช.-ส.ว.มาตามปกติ กมธ.รับฟังวางกรอบทำงาน 90 วัน ยันไม่เตะถ่วงซื้อเวลา แต่ตั้งใจหาทางออกโดยไม่ให้เกิดนองเลือด "แรมโบ้-ธนกร" ดีดปาก "สุทิน" ย้ำนายกฯ ต้องการความสงบ ไม่อยากให้เกิดม็อบชนม็อบ
ที่รัฐสภา วันที่ 31 กรกฎาคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษา หลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้การพิจารณามีความคืบหน้า 90% แล้ว ซึ่งทาง กมธ.ได้มีการพิจารณาเริ่มตั้งแต่หมวดแรกไล่มาเรื่อยๆ ส่วนการพิจารณาวันนี้ (31 ก.ค.) เป็นการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นการเลือกตั้ง ทาง กมธ.อยู่ระหว่างสรุปผล อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.จะนำข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชนมาประกอบการพิจารณาด้วย
"เราทำตามกำหนดเวลาอยู่แล้ว คาดว่าจะดำเนินการทันในสมัยการประชุมสภานี้ และทางสภาได้ขยายเวลาพิจารณาให้ทาง กมธ.ถึงวันที่ 23 ก.ย. แต่ กมธ.ตั้งใจว่าจะส่งรายงานให้ที่ประชุมสภาภายในวันที่ 19 ก.ย. โดยเราจะรีบดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งประเด็นที่จะเสนอต่อสภาจะมีเกือบทุกหมวด โดยจะสรุปทั้งที่เป็นข้อดีและข้อเสีย" นายพีระพันธุ์กล่าว
เมื่อถามว่า ภาพรวมของ กมธ. ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรใช้ไปเรื่อยๆ หรือแก้ไขทั้งหมด นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เรื่องจะแก้หรือไม่แก้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ทาง กมธ.มีหน้าที่เสนอความเห็นแต่ละหมวด แต่ละมาตรา ตรงใดที่จะควรปรับปรุง ถ้าสภาเห็นชอบกับผลรายงานของเราก็จะส่งต่อไปยังรัฐบาล หลังจากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนประเด็นที่มาของ ส.ว.ยังพิจารณาไม่ถึง ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็น กมธ.เสนอว่าให้นำความคิดเห็นของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และส่วนต่างๆ ที่เสนอมาประกอบการพิจารณาด้วย ไม่ได้มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ต่อข้อถามว่า จะมีการเชิญบุคคลต่างๆ มารับฟังความคิดเห็นหรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ทาง กมธ.ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และขณะนี้ทางอนุกรรมาธิการฯ ก็มีการลงพื้นที่เดินสายรับฟังความคิดเห็นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย เราไปรับฟังเองโดยไม่ต้องรอให้เขามาพบ
เมื่อถามว่า ช่วงนี้มีการชุมนุมเรียกร้องเกิดขึ้นมากมาย ผลการศึกษาของ กมธ.น่าจะมีส่วนช่วยทำให้อุณหภูมิทางการเมืองลดลงหรือไม่ ประธาน กมธ.กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่แต่ละคน แต่ กมธ.เชื่อว่าได้ทำตามหน้าที่ และได้ตอบสนองผู้ชุมนุมต่างๆ รวมทั้งนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพิจารณาประกอบ
ถามอีกว่า นายกฯ ได้มีการส่งสัญญาณเรื่องการแก้ไข รธน.หรือไม่ เพราะมีข่าวว่าสุดท้ายนายกฯ เป็นผู้ตัดสิน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่มี เพราะการแก้ไขหรือไม่แก้ไขอยู่ที่รัฐบาล โดยสภาทำหน้าที่เพียงศึกษาให้เห็นว่าแต่ละหมวดแต่ละมาตราของรัฐธรรมนูญมีข้อที่ต้องปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ต่อมานายพีระพันธุ์แถลงอีกว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น โดยมีหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองและระบบกฎหมาย จึงมีความเห็นว่าจะต้องแก้ไขในมาตรา 256 ก่อน เนื่องจากหลักเกณฑ์ในมาตรานี้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากลำบาก นอกจากนี้ กรรมาธิการยังมีความเห็นตรงกันว่า หากเป็นไปได้จะต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และอาจจะต้องเสนอตั้ง ส.ส.ร. หรืออะไรก็แล้วแต่รัฐบาลจะพิจารณา และหากเป็นไปได้ ทางกรรมาธิการจะเพิ่ม เติมหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเข้าไปอีกหนึ่งหมวด
ยก ส.ส.ร.ปี 34 เป็นโมเดล
นายโภคิล พลกุล ที่ปรึกษา กมธ.กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนนิสิต นักศึกษา อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ดังนั้นการแก้ไข ม.256 จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ยุ่งยาก และมีความเห็นว่าควรตั้ง ส.ส.ร.เหมือนปี 2534 เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐ ธรรมนูญ 2540 ทำให้ออกจากวิกฤติพฤษภาทมิฬ ทาง กมธ.จึงขอให้ กมธ.ทุกคนที่เป็นตัวแทนจากแต่ละพรรคไปพิจารณาประเด็นนี้ ซึ่งตนเสนอไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าหากดำเนินการตามนี้ จะได้ 2 อย่างคือ 1.ส.ส.ร. 2.มีการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นปัญหาต่างๆ ไปได้เลยควบคู่กัน ซึ่งขั้นตอนนี้หากทุกพรรคการเมืองและ ส.ว.เห็นพ้องด้วยขั้นตอนนี้ก็จะเสร็จภายใน 5 เดือน ก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีการแก้ไข และจากนั้น ส.ส.ร.ก็จะทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขอีก 390 วัน ในอนาคตจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เห็นชอบโดยประชาชน และร่างโดยประชาชน ซึ่งระหว่างดำเนินการ ตรงไหนที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม ก็แก้ไขไป
เมื่อถามถึงโมเดลของ ส.ส.ร. นายโภคินอ้างถึง ส.ส.ร.ปี 2534โดยให้ทุกคนที่สนใจในแต่ละจังหวัดมาสมัคร และทำการคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน และให้รัฐสภาเลือกเหลือ 1 คน รวมกับนักวิชาการที่รัฐสภาจะเลือกมาอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็น 99 คน แต่ร่างที่ กมธ.เสนอไว้ให้เลือกคนมาเป็น ส.ส.ร. 200 คน ต้องมีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน ถ้าจังหวัดใหญ่ก็มีได้หลายคน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าบุคคลเหล่านี้จะเข้ามาแก้ไขอย่างไร และไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงอะไรได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม และหากรัฐสภาจะมีการแก้ไขปรับปรุงอะไร ก็สุดแล้วแต่
ทั้งนี้ ในการประชุม กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า สำหรับสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาตอนนี้ มีเรื่องข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นเอกภาพ เพราะมีทั้งอยากให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ อยากให้ยกเลิก ส.ว. อยากให้ยกเลิกองค์กรอิสระ เป็นต้น ในฐานะที่เราเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งต้องช่วยกัน ใครทำอะไรได้ต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้การชุมนุมนี้ไปสู่จุดที่เราไม่อาจคาดหมายได้ คิดว่า 2 เดือนก่อนปิดสมัยประชุมยังมีโอกาส รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตามมาตรา 256 ที่บอกว่าแก้ยาก ก็อยู่ที่ทุกฝ่ายจะแก้หรือไม่
"สำหรับผม มีข้อเสนอแก้ 3 กรณีคือ 1.แก้วิธีการแก้ มาตรา 256 พร้อมเพิ่มบทบัญญัติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 2.ระหว่างกระบวนการในข้อหนึ่งที่ใช้เวลานาน ก็ให้แก้ไขบางมาตราที่สามารถทำให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติได้ นั่นคือมาตรา 279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ต้องเปิดทางให้คนโต้แย้งได้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับว่าเรามีมาตราสุดท้ายนี้ที่ยกเว้น ทั้ง 278 ก่อนหน้าทั้งหมดเมื่อเจอกับประกาศคำสั่ง คสช. และ 3.ยกเลิก ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269-272 และไปใช้ช่องทางการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามระบบปกติ" นายปิยบุตรกล่าว
ขณะเดียวกัน นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญตามญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา แถลงภายหลังการประชุม กมธ.นัดแรก ว่าที่ประชุมมีมติให้นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ., นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 1, นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 2, น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 3, น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 4, นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย เป็นเลขานุการ กมธ. และนายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษก กมธ.
วางกรอบรับฟังนศ. 90 วัน
นายกรวีร์กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือกรอบการทำงานและแนวทางระยะการดำเนินงาน โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า เรื่องที่เร่งด่วน กระแสสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ แม้จะได้รับกรอบการทำงานจากสภา 90 วัน แต่ กมธ.คาดว่าจะสามารถรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา และสรุปประเด็นสำคัญต่างๆ โดยอาจจะใช้เวลา 30-45 วัน เพื่อเสนอเข้าสู่สภาให้สั้นที่สุด ก่อนเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญหน่วยงานความมั่นคง คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาให้ข้อมูลเรื่องการดำเนินคดีต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการแสดงความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วย
ด้านนายคณวัฒน์กล่าวว่า แม้เบื้องต้น กมธ.ชุดนี้จะเป็นสิ่งที่ติดลบในมุมมองของนิสิต นักศึกษา แต่เราจะพยายามรับฟังข้อเสนอ แต่ กมธ.จะใช้วิธีการรับฟังความเห็น โดยมีจุดมุ่งหมายว่านิสิต นักศึกษา อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางใด อย่างไรก็ตาม นอกจากที่จะได้เชิญ สตช.มาให้ข้อมูลแล้ว จะมีการเชิญอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535 มาให้ความคิดเห็นด้วย และ กมธ.จะลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมและรับฟังความเห็นนักศึกษาด้วย โดยจะส่งนายสิริพงศ์ เริ่มที่ จ.ศรีสะเกษ ในสุดสัปดาห์นี้ และจังหวัดอื่นๆ ต่อไปทุกพื้นที่ ในลักษณะแบบดาวกระจาย
“ยืนยันว่าไม่ได้มีการเตะถ่วงหรือซื้อเวลา แต่เป็นความตั้งใจของ กมธ.ทุกคน อยากขอความร่วมมือ เวลาเราลงพื้นที่รับฟังความเห็น กมธ.ทุกคนมีธง เห็นภาพสุดท้ายว่านิสิตนักศึกษาอยากให้เป็นอย่างไร แต่เราจะมาพูดคุยกันถึงวิธีการ ทางออก ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าต่อไป โดยไม่มีการนองเลือด ไม่มีการชนกันในระหว่างกลุ่มบุคคล กลุ่มรุ่น และทำอย่างไรที่จะหาทางออกที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี” นายคณวัฒน์กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มนักศึกษาว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาควรเร่งสรุปประเด็นให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หลังการศึกษาและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายมาระยะหนึ่งแล้ว และรายงานให้สภาได้รับทราบว่ามีประเด็นใดบ้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมต่อไป พรรค ปชป.มีความชัดเจนมาแต่ต้นว่า อย่างน้อยที่สุดควรแก้ ม.256 เพื่อเป็นการสะเดาะกุญแจให้สามารถเปิดประตูไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ เพราะถ้าไม่แก้ ม.256 ก็เป็นการยากที่จะนำไปสู่การแก้ไขในมาตราอื่นๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นการเปิดประตูไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้โดยไม่ต้องฉีก รธน.
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ใส่ร้ายนายกฯ และรัฐบาลที่อยากให้มีม็อบชนม็อบเกิดขึ้น จนนำไปสู่จุดจบด้วยการยึดอำนาจว่า นายกฯ ไม่เคยคิดที่จะให้เกิดม็อบชนม็อบ มั่นใจว่าไม่มีนายกฯ หรือรัฐบาลใดต้องการทำเช่นนั้น เพราะทุกคนหวังดีต่อบ้านเมือง ตรงกันข้ามนายกฯ ยังระบุว่าไม่อยากให้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มใดในขณะนี้ รวมถึงความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาชีวะ นายกฯ ก็บอกแล้วว่าได้หารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษา ขออย่าเคลื่อนไหวเวลานี้ ไม่อยากให้กลับไปจุดเดิมและไม่อยากให้มาชนกัน ทะเลาะกันจนเกิดความวุ่นวาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมให้ทั่วทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงหรือใช้อาวุธต่อกัน
ดีดปากสุทินใส่ร้าย รบ.
"เป็นการแสดงให้เห็นว่านายกฯ รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แทนที่จะช่วยกันพูดเพื่อไม่ให้มีความเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้น แต่กลับออกมาพูดเพื่อที่จะให้สถานการณ์เลวร้ายลง คิดแต่แง่ลบ เพราะอยากให้ประชาชนเข้าใจผิด รวมทั้งอาศัยความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาหวังผลทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลหรือไม่ ทำไมนายสุทินไม่ห้ามฝ่ายนักศึกษาบางกลุ่มที่ออกมาชุมนุมก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง ใช้คำหยาบคายด่าว่านายกฯ และรัฐบาลอย่างเสียหาย เอาเวลาที่กลัวการยึดอำนาจไปช่วยพูดคุยกับกลุ่มบุคคลที่ออกมาชุมนุมบางคน และคนที่อยู่เบื้องหลังคิดล้มล้างสถาบันเบื้องสูงที่คนไทยเคารพเทิดทูน ขอให้หยุดพฤติกรรมนั้นดีกว่า" นายสุภรณ์กล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตเลขานุการ รมว.การคลังและอดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวตอบโต้นายสุทิน เช่นกันว่า ไม่เข้าใจนายสุทินว่าใช้ส่วนไหนคิด เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำเสมอว่าไม่อยากให้เกิดม็อบ ไม่ต้องการให้ประเทศไปสู่ความขัดแย้งอีก และไม่ต้องการให้เกิดม็อบชนม็อบ ซึ่งมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลตามกรอบกฎหมาย รัฐบาลไม่อยากให้มีการชุมนุม เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งและประเทศเสียหาย ส่วนที่ระบุว่าจบด้วยการยึดอำนาจนั้น นายสุทินวิตกจริตเกินเหตุ ยืนยันว่ารัฐบาลนี้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์และอำนาจ นายสุทินพูดในทำนองม็อบอีกฝ่ายเกิดขึ้นแบบไม่เป็นธรรมชาติ เสมือนรัฐบาลรู้เห็น ซึ่งการพูดแบบนี้ทำให้รัฐบาลเสียหาย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า สถานการณ์ขณะนี้เปราะบาง อย่ากะพริบตา เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้เสมอ ต้องเตือน นศ.ให้ระวังในขั้นสูงสุด และดีที่สุดคือการร่วมทำงานกับตำรวจ เพราะสิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกันในเรื่องการตั้งจุดตรวจตราความปลอดภัย สกัดเผชิญหน้า ขอให้รับข้อเรียกร้อง เหตุแก้ รธน.เป็นนโยบาย รัฐบาลจะทำอยู่แล้ว ให้รับปากแก้ รธน. ประกาศไทม์ไลน์ชัดเจน แล้วยุบสภา เชื่อทุกอย่างจบอย่างเป็นสุขด้วยชัยชนะทุกฝ่าย ไม่มีเลือดนองท้องช้าง
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุม เพื่อแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนกลุ่มต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม.เข้าสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ในเรื่องที่มีความเห็นต่าง พึงระมัดระวังการกระทบกระทั่งกัน ขอให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่น และขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมาย กับขอให้สังคมมีความอดทนและเคารพต่อความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมที่จะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 บุคคลที่มาชุมนุมกัน พึงปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ราชการกำหนด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่มีการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ โดยเคารพและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ทั้งยังต้องดูแลให้การชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล รับประกันความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ชุมนุม รวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ยุติการคุกคามและข่มขู่ประชาชนเพียงเพราะไปเข้าร่วมการชุมนุม และหยุดการคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทั้งนี้เพราะมีการรายงานจากผู้ชุมนุมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าพบผู้ชุมนุมและครอบครัวถึงที่พักของพวกเขา พร้อมทั้งตักเตือนไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |