ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายบริษัททั้งในเมืองไทยและต่างประเทศได้ใช้จ่ายเงินไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนมาก เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันจากการให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยี หลายคนอาจลืมใส่ใจเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัทไป ซึ่งจะทำให้เป็นความเสี่ยงต่อองค์กรอย่างหนึ่ง ดังนั้นผู้ประกอบการควรทบทวนการลงทุนในด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาพนักงานในองค์กรให้ทันต่อสถานการณ์ของเทคโนโลยี หรือโลกของธุรกิจที่มีตัวช่วยเป็นดิจิทัลอย่างเช่นทุกวันนี้
ก่อนหน้านี้มีข้อมูลระบุว่ากว่า 40% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจทั่วโลก พบว่าผลลัพธ์จากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุด คือการหยุดชะงักของการดำเนินงานของธุรกิจ ขณะที่ 39% มองว่าภัยไซเบอร์ส่งผลต่อความปลอดภัยของข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ส่วน 32% มองว่าเป็นภัยต่อคุณภาพของสินค้าที่ออกสู่ตลาด และ 22% มองว่าเป็นภัยที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์
ทั้งนี้ แม้ผู้ประกอบการจะมีความตระหนักถึงภัยไซเบอร์ แต่ทว่ากลับไม่มีกลยุทธ์เพื่อป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล โดย 48% ได้เปิดเผยว่ายังไม่มีหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยข้อมูลที่เหมาะสมให้แก่พนักงาน และ 54% ระบุว่ายังไม่มีแผนการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยไซเบอร์ขึ้นอีกด้วย
วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อโลกยิ่งเชื่อมโยงกันมากขึ้น โอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์โดยไม่ทันตั้งตัวยิ่งสูงตามไปด้วย เพราะโดยปกติเมื่อยามเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยทันทีคือการสูญเสียอำนาจในการควบคุม โดยระบบต่างๆ จะถูกโจมตีในระยะเวลาอันสั้นหรือใช้เวลาภายในวันเดียว ซึ่งนั่นแปลว่าผู้ถูกโจมตีจะมีเวลาน้อยมากในการรับมือ หรือแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนที่ภัยพิบัตินั้นจะลุกลาม ดังนั้น การที่โลกมีการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญมากมายเช่นทุกวันนี้ ยิ่งเปิดช่องโหว่ทำให้ผู้ถูกโจมตีไม่สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ก่อนที่การโจมตีจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก PwC 2018 Global Investor Survey ที่ได้ทำการศึกษามุมมองของนักลงทุน และนักวิเคราะห์จำนวน 663 ราย จาก 96 ประเทศทั่วโลก พร้อมทำการเปรียบเทียบกับมุมมองของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,293 ราย เกี่ยวกับการถูกโจมตีทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคามการดำเนินธุรกิจในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้มากน้อยเพียงใด ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ 41% ของนักลงทุนและนักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าเป็นภัยคุกคามอันดับที่ 1 ของภาคธุรกิจ โดยปรับตัวขึ้นจากอันดับที่ 5 ในปี 2560 และใกล้เคียงกับมุมมองของซีอีโอทั่วโลก หรือประมาณ 40% มองว่าภัยไซเบอร์เป็นภัยคุกคามอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป และปัญหาการก่อการร้ายตามลำดับ
จากข้างต้นทำให้นักลงทุนถึง 64% เชื่อว่าผู้นำธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เป็นภารกิจอันดับต้นๆ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังเห็นว่ากระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีการผลิตและบริการจากการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และบล็อกเชน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการเปลี่ยนแปลงช่องทางการจัดจำหน่าย ขณะที่มากกว่า 1 ใน 4 หรือ 26% ยังเชื่อด้วยว่าการเข้ามาของเอไอจะส่งผลให้เกิดแผนการลดจำนวนพนักงานในวงกว้างกว่าปีก่อน
สำหรับในนักลงทุนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่แตกต่างกับนักลงทุนทั่วโลกมากนัก ยังคงมีเรื่องของปัจจัยทางด้านการเมือง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว รวมถึงภัยไซเบอร์ก็เป็นความกังวลหลักๆ ที่มองว่าจะกระทบการเติบโตของธุรกิจในระยะข้างหน้า หากไม่เร่งปรับตัว ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจและตื่นตัว เพื่อวางกลยุทธ์ให้รอบคอบ ไม่ให้การแทรกซึมถูกกระทำอย่างง่ายดาย ยิ่งหากเทคโนโลยีก้าวไกลไปสักเท่าไหร่ รูปแบบการโจมตีก็หลากหลายยิ่งขึ้น ดังนั้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่ดี ย่อมต้องมีมาตรการป้องกันที่รัดกุมในโลกของธุรกิจยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |