โคเคนพลิกคดีบอส! ทันตแพทย์ยันไม่เคยใช้/ตำรวจรอผลชัดก่อนแจ้งข้อหาเพิ่ม


เพิ่มเพื่อน    

  "วิษณุ" แจงหน้าที่ คกก.ชุด "วิชา" สางปมไม่สั่งฟ้อง "บอส" พร้อมเสนอแนะแก้ช่องโหว่กระบวนการยุติธรรม "ตร." เผยพบสาร 4 ชนิดในร่างกาย "วรยุทธ" รอตรวจละเอียดใช่ยาเสพติดหรือไม่ "ผู้การฯ เชียงใหม่" สั่งสอบเชิงลึกปมพยานเสียชีวิต "หมอฟัน" รักษาทายาทกระทิงแดงยันไม่เคยใช้โคเคน "ทันตแพทยสภา" ชี้เลิกใช้มากว่า 100 ปี "สิระ" เตรียมเรียกให้ข้อมูล กมธ.กฎหมายฯ

    เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีคำสั่งแต่งตั้งนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ว่า ไม่รู้จะได้ข้อสรุปจบเลยหรือไม่ แต่เขาคงจะต้องทำไปจนจบให้เสร็จภายใน 1 เดือน แต่ก็ต้องทำหลายอย่าง คือ สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ความเป็นมา พฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยที่ไม่ไปแทรกแซงดุลยพินิจ ถ้าพบจุดอ่อนตรงไหนจะต้องบอกทั้งหมด
    นายวิษณุกล่าวว่า อีกส่วนคือไหนๆ จะต้องทำเรื่องนี้แล้วต้องทำเป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตอีกว่าควรจะแก้อะไรตรงไหน ทั้งในส่วนอัยการ ตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม ให้ชี้แนะมาด้วย โดยในส่วนนี้จะต้องเสร็จพร้อมกันกับส่วนแรกใน 1 เดือน ซึ่งในส่วนที่สองนี้จะมีความละเอียดและยาว ดังนั้นถ้าจะต้องลงในรายละเอียดลึกต้องขอนายกฯ ให้ขยายเวลาเกิน 1 เดือน จะต้องทำให้เสร็จ หากไม่เสร็จก็บอกมา เพราะแต่ละคนมีงานราชการ แต่เราหวังว่าถ้าทำไประยะหนึ่ง เขาจะบอกเราว่าจะต้องทำอะไรต่อ เขาอาจจะสมัครใจทำต่อก็ได้   
     "คณะกรรมการชุดนี้สามารถเรียกใครมาชี้แจงได้ แต่ในส่วนของอัยการ คำสั่งนายกฯ ไม่ได้เขียนให้ไปเรียกมา เพราะไม่สามารถทำตรงได้ แต่ใช้วิธีประสานงานขอเชิญมาได้ ส่วนตำรวจสามารถเรียกได้ เพราะนายกฯ เป็นคนดูแล อัยการนายกฯ ไม่ได้ดูแล ไม่ได้เกี่ยวข้อง และนายกฯ ไม่มีอำนาจ จึงต้องใช้วิธีประสาน เชื่อว่าถ้าประสานไปเขาก็มาเหมือนที่คณะกรรมาธิการของสภาฯ เรียกเขาก็ไป" นายวิษณุกล่าว
     ถามว่า ต้องไปดูกระบวนการตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนเลยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการจะไปกำหนดว่าจะเอาอย่างไร ต้องไว้ใจและเชื่อคณะกรรมการว่าจะสามารถไปหยิบเอาสำนวนเก่ามาว่าทำไมจึงไม่ฟ้อง ทำไมขาดอายุความ เอามาได้หมด เท่าที่ทราบเขาจะประชุมกันทุกวัน  
     ซักว่า หากมีข้อสรุปออกมาแล้วจะเปลี่ยนแปลงผลของอัยการได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ให้เขามาบอก รัฐบาลจะไม่ไปพูดอย่างนั้น ถ้าพูดเวลานี้ต้องพูดตามกฎหมายก่อน ว่าเมื่อคำสั่งนี้ได้สั่งอย่างนี้ ถือว่าเป็นคำสั่งเด็ดขาด กฎหมายใช้คำว่าอย่างนั้น ซึ่งเมื่อเป็นคำสั่งเด็ดขาดมันก็จบ ยกเว้นจะทำให้เกิด 3 อย่าง คือ 1.ผู้เสียหายสามารถไปฟ้องคดีใหม่ 2.ขอตรวจสอบเหตุผล หลักฐาน ซึ่งนั่นแปลว่าติดใจ และ 3.ยกคดีขึ้นเพื่อสอบใหม่และดำเนินการใหม่ หากว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งรัฐบาลไม่รู้หรอก เป็นเรื่องของคณะกรรมการชุดที่จะตรวจสอบว่ามีหลักฐานใหม่หรือไม่  
    ถามถึงกรณีมีพยานเสียชีวิตไปแล้ว 1 คน จะทำให้พยานหลักฐานอ่อนลงหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้จริงๆ และไม่ทราบว่าเขาไปพูดอะไรเอาไว้ คนรู้อาจจะมี แต่ตนไม่รู้
    ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ กล่าวก่อนการประชุมคณะทำงาน ซึ่งเป็นวันที่ 4 ว่า จะมีการพิจารณากันต่อตามที่วางกรอบไว้ คาดว่าภายใน 7 วันน่าจะแล้วเสร็จ ถ้ามีการแถลงวันไหน ต้องมีการนัดหมายสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ การทำงานในรูปของคณะทำงาน สิ่งที่จะเรียนต้องเป็นมติของคณะทำงานที่แล้วเสร็จในแต่ละประเด็น จะว่าไปในคราวเดียวกัน ตนเป็นหนึ่งในคณะทำงาน ไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้
พบสาร 4 ชนิดในตัวบอส
    นายประยุทธกล่าวถึงกรณีมีพยานเสียชีวิตว่า เรื่องนี้ตนและทางคณะทำงานทราบจากสื่อ กรอบภารกิจในการทำงานที่อัยการสูงสุดมอบหมายคือ ดูว่าการสั่งคดีนี้เป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่ เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ มีเหตุผลในการสั่งสำนวนสอดคล้องข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ข้อกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ส่วนพยานเสียชีวิตเป็นคนละประเด็น
    ซักว่า มีการตรวจสอบประเด็นสารโคเคนในตัวนายวรยุทธหรือไม่ ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบระบุว่า เราดูทุกประเด็น แต่ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ ต้องรอมติคณะทำงาน
    ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร .ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีไม่เห็นแย้งอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามความคืบหน้า
    พล.ต.อ.ศตวรรษ แถลงผลการประชุมว่า ได้เชิญตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสำนวนคดีนายวรยุทธมาซักถามเกี่ยวกับการทำสำนวนคดีดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกรอบที่วางไว้ 3 แนวทาง คือ การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน การสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของอัยการ และตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะพิจารณาว่าการสอบสวนที่ผ่านมา ทำไปถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ หรือมีความขาดตกบกพร่องอย่างไร นอกจากนี้ยังได้เชิญตัวแทนจากทันตแพทยสภามาซักถามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โคเคนในการรักษาฟัน
    "กรณีเกี่ยวกับการใช้โคเคนในการรักษาฟัน จากผลตรวจร่างกายนายบอส แพทย์ยืนยันว่ามีการพบสารแปลกปลอมในร่างกาย 4 ชนิด โดย alprazolam ที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คือส่วนสาร benzoylecgoonine และ cocaethylene ที่พบในร่างกายไม่จัดเป็นยาเสพติด แต่เป็นเมตาบอไลต์ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ตัวสุดท้ายที่พบคือ caffeine ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ นอกจากนี้ทันตแพทย์ที่ให้การรักษานายบอสก็ได้ยืนยันว่าไม่ได้ให้ที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด แต่เพียงแค่ให้ยาอะม็อกซีซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะเพียงเท่านั้น หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้งว่าสารที่พบเกิดจากการเสพโคเคนร่วมกับแอลกอฮอล์หรือเกิดจากปฏิกิริยาของยาปฏิชีวนะ ถ้ามีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าสารทั้ง 2 ตัวเป็นสารเสพติด ทางคณะทำงานก็จะต้องพิจารณาเสนอให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มต่อไป" พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าว  
    หัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบกล่าวว่า กรณีพยาน 2 คนที่มาให้การเพิ่มเติมในปี 2562 ทั้งคู่เป็นพยานเดิมที่เคยให้การไปแล้ว คนแรกคือ นายจารุชาติ มาดทอง ซึ่งเคยให้การเมื่อปี 2555 ขณะนั้นมาให้ปากคำกับตำรวจเองหลังทราบข่าว โดยมีคำให้การตั้งแต่แรก แต่ในครั้งนั้นไม่ได้ให้การเกี่ยวกับเรื่องของความเร็ว โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเร็วนั้นเป็นการสอบเพิ่มเติมตามคำสั่งของอัยการที่มีคำสังให้สอบเพิ่มเติม ขณะที่พยานอีกคนคือ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร ที่ให้การแล้วเมื่อปี 2558 นั้นเป็นการสอบปากคำหลังพนักงานสอบสวนได้สั่งฟ้องนายบอสกรณีขับรถโดยประมาทไปแล้ว
    "การเสียชีวิตของนายจารุชาติไม่ส่งผลต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ เพราะคณะทำงานจะตรวจสอบรายละเอียดในส่วนสำนวนคดีเก่าเท่านั้น ไม่ได้สอบสวนในประเด็นใหม่เพิ่มเติม โดยชายคนดังกล่าวจะเป็นคนเดียวกับพยานในคดีและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือมีความผิดปกติใดหรือไม่ เป็นหน้าที่ของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง" หัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบกล่าว
สอบเชิงลึกเหตุพยานตาย
    ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ได้แจ้งข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต กับนายสมชาย ตาวิโน อายุ 50 ปี คู่กรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของนายจารุชาติ จนรถล้มทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้นายจารุชาติเสียชีวิต บริเวณถนนห้วยแก้ว หลังสอบปากคำนานกว่า 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้พาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล โดยนายสมชายยืนยัน ไม่เคยรู้จักกับผู้ตาย
    พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐาน กล้องวงจรปิด ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุทั้งหมดก็พบเป็นอุบัติเหตุเฉี่ยวชน ส่วนใครผิดใครถูกทางพนักงานสอบสวนจะดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์อย่างถูกต้องรอบด้านที่สุด ซึ่งคนที่เฉี่ยวชนกันนี้อาจจะแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
    "ทาง? ตร.และ ผบช.ภ.5 ได้กำชับให้ตรวจสอบดำเนินการอย่างละเอียดว่าคดีที่เกิดขึ้นมีนัยอะไรหรือไม่ ซึ่งเราก็จะตรวจสอบปูมหลังของคู่กรณีทั้งหมด แล้วจะชี้แจงให้ทางประชาชนได้ทราบว่าเป็นอย่างไร โดยต้องชัดเจนรอบด้าน จะทำการตรวจเช็กให้ละเอียด" พล.ต.ต.พิเชษฐกล่าว
    ผู้การฯ เชียงใหม่กล่าวว่า จากการชันสูตรศพนายจารุชาติ เบื้องต้นนอกจากบาดแผลที่ศีรษะกระแทกกับพื้นถนน ก็ไม่มีบาดแผลอื่นใดนอกจากรถชน แต่จากหลักฐานที่เรามีทั้งจากภาพวงจรปิดก็พบว่าผู้ตายขับมาแล้วเฉี่ยวชนกับนายสมชายคู่กรณี? จนรถของนายสมชายและตัวนายสมชายไปอยู่บริเวณกลางถนน ส่วนนายจารุชาติล้มตรงจุดชน
    "ขอเวลาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบซักระยะหนึ่งทุกอย่างจะกระจ่างทุกปม? รวมถึงการตรวจสอบกล้องวงจรปิด?ช่วงก่อนเกิดเหตุว่ามีไทม์ไลน์?ของผู้ตายเป็นอย่างไร แม้มีข้อสังเกตว่ามีรถยนต์?ตามผู้ตายก่อนมาเกิดเหตุก็ต้องดูว่าเกี่ยวโยงหรือไม่ เราไม่ได้ทิ้งประเด็นใด? รวมทั้งข้อมูล?สอบปากคำคู่กรณี?ที่ถูกเฉี่ยว?ชน?ด้วยที่เจ้าตัวก็ยืนยันชัดเจนว่าไม่ทราบ ไม่รู้จักผู้ตายที่มาชนท้าย? รวมทั้งดูหลักฐาน?ทางนิติวิทยาศาสตร์?อื่นๆ ด้วย" ผู้การฯ เชียงใหม่กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนศพนายจารุชาติ ญาติได้เดินทางมารับจากโรงพยาบาลนำไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดในจังหวัดเชียงรายแล้ว ซึ่งญาติพี่น้องไม่ได้ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต เนื่องจากเชื่อว่าเกิดจากอุบัติเหตุ ขณะที่นายสมาน วังมูล บิดาของนายจารุชาติ ที่เป็นคนเดินทางไปรับศพด้วยตัวเอง ยอมรับไม่ทราบเรื่องราวของนายจารุชาติมากนัก เพราะนายจารุชาติไปทำงานต่างจังหวัดตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น นานๆ จะกลับมาบ้าน เจอกันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และไม่ทราบว่าไปเป็นพยานในคดีสำคัญที่สังคมจับตาอยู่
    ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องว่า การตายของพยานคดีนายวรยุทธหากตำรวจจะเร่งสรุปสำนวนคดีว่าไม่ใช่การฆ่าตัดตอนพยาน อาจจะเป็นการเร่งสรุปคดีเร็วเกินไป เพราะยังมีข้อสงสัยหลายประการที่อาจไม่ใช่อุบัติเหตุก็ได้ หากความเป็นไปได้ของกรณีนี้อาจจะเป็นแผนลึกลับซับซ้อนหลายชั้นหลายขั้นตอนแบบการก่อวินาศกรรมในหนังสายลับฝรั่ง ที่ลงท้ายแล้วกลับตาลปัตร ขมวดปมเรื่องเกินคาดคิดหรือเกินคาดเดาอย่างนึกไม่ถึงก็ได้ ดังนั้นตำรวจเจ้าของคดีจึงอย่าเพิ่งเร่งรีบสรุปสำนวนการเสียชีวิตของพยานนายวรยุทธในครั้งนี้เป็นเพียงแค่อุบัติเหตุธรรมดา เพราะประเทศไทยอะไรๆ ก็เป็นไปได้เสมอ
เลิกใช้โคเคนกว่า 100 ปี
    วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีมีข่าวตำรวจให้ข้อมูลการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธว่า ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคนจากพืชโคคาในการทำฟันแล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพในการให้ความชาที่ไม่นาน ประกอบกับมีผลข้างเคียงกับสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้มีความดันโลหิตสูง จนมีผลต่อการทำงานของหัวใจ จึงหันไปใช้สารสังเคราะห์ชนิดอื่นที่ให้ฤทธิ์การชา ได้แก่ ลิโดเคน, เมพิวาเคน, อะทิเคน ที่ให้การชาดีกว่า แต่มีผลข้างเคียงน้อยกับผู้ป่วย ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารนี้จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้และหายไปจากวงการทันตกรรม
    "ตามปกติแล้วการใช้สารโคเคนในอดีตเพื่อให้ความชาในการรักษาฟันจะไม่ใช้ในปริมาณมาก แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยมากและใช้เฉพาะจุด" พ.ต.ท.ทพ.พจนารถกล่าว
    ถามว่า ตำรวจระบุข้อมูลของทันตแพทย์ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษา นายกทันตแพทยสภากล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก และโดยปกติทันตแพทย์จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย ยกเว้นเป็นคดีความ ตำรวจมีสิทธิ์ในการเรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ทั้งนี้ทางทันตแพทยสภาพร้อมให้ข้อมูล และอยากขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่ให้การรักษานายวรยุทธว่ามีการรักษาด้วยโคเคนจริงหรือไม่
    ด้าน ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล อุปนายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธว่า ขณะนี้ทันตแพทย์ที่รักษานายวรยุทธได้ติดต่อมาเป็นการส่วนตัวกับทางกรรมการทันตแพทยสภาท่านหนึ่ง ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันแต่อย่างใด เพราะคลินิกทันตกรรมหรือในวงการทันตกรรมไม่มีการใช้สารโคเคนอยู่แล้ว เพราะเป็นยาเสพติด จะมีการใช้เพียงยาชา ที่อนุญาตทางทันตกรรมเท่านั้น
    ถามว่า จะเชิญทันตแพทย์รายดังกล่าวมาให้ข้อมูลหรือไม่ อุปนายกทันตแพทยสภากล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้เขาพร้อม และเตรียมข้อมูลการรักษา เนื่องจากผ่านมา 7 ปีกว่า แต่ที่จำได้คือยืนยันว่าไม่ได้ใช้โคเคน และก็สงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนบอกว่ามีการใช้สารโคเคน
    "ทันตแพทยสภาขอรอเวลาสักระยะเพื่อติดต่อและประสานในการให้ข้อมูล เนื่องจากปัจจุบันยังมีคณะกรรมการอีกชุดที่นายกรัฐมนตรีตั้ง ดังนั้นคงต้องมีหลายฝ่ายอยู่ในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ขอยืนยันว่าไม่มีการใช้โคเคนในวงการทันตกรรมแน่นอน" อุปนายกทันตแพทยสภากล่าว
     ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า การใช้โคเคนในทางทันตกรรมมีการใช้ในอดีตเป็น 100 กว่าปี เพราะขณะนั้นยังไม่มียาชา แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปไกลมาก จึงไม่มีการนำสารโคเคนที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติดเข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรม ปัจจุบันที่ใช้กันในทางทันตกรรมเพื่อเป็นยาชา จะเรียกว่า ลิโดเคน (Lidocaine) โดยปริมาณการใช้น้อยมาก ตัวยาออกฤทธิ์และหายไปในเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง
    ส่วน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเสพติดทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และ 4 โดยสารออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 มีอยู่ 20 ตัว อาทิ มอร์ฟีน โคเคน โดยกลุ่มนี้จะเป็นยาที่ อย.เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนมากจะพบว่ามีการใช้ในห้องผ่าตัดเฉพาะจุด โดยเฉพาะจมูกและคอ ซึ่งที่ผ่านมา อย.จัดส่งให้สถานพยาบาล ตามการร้องขอและทำรายละเอียดว่ามีการใช้จำนวนมากเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละปีจะมีการใช้ปริมาณ 1 กิโลกรัม โดยข้อมูลปี 2562 ครึ่งกิโลกรัม ปี 2561 มีการใช้ 0.75 กิโลกรัม และปี 2560 มีการใช้ 1.2 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมียาชาตัวอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า
    ซักว่า มีการตรวจสอบการใช้ย้อนหลัง 10 ปีหรือไม่ ภญ.สุภัทรากล่าวว่ามี แต่ปริมาณการใช้อยู่ที่เฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อปี สำหรับฤทธิ์โคเคนจะออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้เคลิ้ม มีผลต่อการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะและช็อกได้ หากใช้เยอะไปนานๆ จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า
กมธ.เรียกสอบหมอฟัน
    ที่รัฐสภา นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรรมาธิการเตรียมเชิญทันตแพทย์ของนายวรยุทธที่ให้การกับตำรวจว่าสารเสพติดโคเคนในเลือดของนายวรยุทธเป็นสารที่ผสมอยู่ในยาชาที่ใช้รักษาฟันให้นายวรยุทธมาให้ข้อมูล เพราะอุปนายกทันตแพทยสภา และนักวิชาการภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันตรงกันยาชาที่หมอฟันใช้ในปัจจุบันที่ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติคือลิโดเคน แม้จะลงท้ายด้วยเคนเหมือนกัน แต่เป็นคนละตระกูลกันกับโคเคน และปัจจุบันไม่มีหมอฟันคนใดในโลกใช้อีก
    “หากพบว่าข้อมูลของทันตแพทย์คนนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับหลักวิชาชีพ ทันตแพทย์จะต้องรับผิดทางกฎหมายในการกระทำผิด ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ต้องหา ซึ่งกรรมาธิการจะส่งหนังสือเชิญแพทย์เกี่ยวข้องกับคดีนี้ทุกคนมาให้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะเชื่อว่าแพทย์ทุกคนยึดหลักวิชาการสากล คงไม่มีใครมีตำราส่วนตัวมาใช้ประกอบวิชาชีพได้" นายสิระกล่าว
    ส่วน นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีนายวรยุทธขอความเป็นธรรมจาก กมธ.กฎหมาย จนทำให้เป็นจุดเปลี่ยนสั่งไม่ฟ้องคดีว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อคลาดเคลื่อนไปบางประการคือ ประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามคำสั่งอัยการสูงสุดที่มีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติม ตามคำร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ ซึ่งพนักงานอัยการมิได้นำประจักษ์พยานที่สอบเพิ่มเติมมาพิจารณา โดยมีคำสั่งให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว และเมื่อนายวรยุทธเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.กฎหมายฯ
    จากนั้น กมธ.เชิญประจักษ์พยานที่ได้ให้การไว้แต่เดิมมาประชุมชี้แจงต่อคณะ กมธ. ไม่ได้มีประจักษ์พยานใหม่เพิ่มเติมจากที่ให้การไว้เดิมแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 16 ธ.ค.59 คณะ กมธ.มีมติรวบรวมผลการสอบหา และการศึกษาข้อเท็จจริงส่งให้กับพนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 14 ก.พ.2561 แจ้งผลการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับกรณีการร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธว่า อัยการสูงสุดได้พิจารณารายงานผลการศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการแล้วมีคำสั่งให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม
    "การที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมาธิการมิได้มีอิทธิพลที่จะส่งผลให้อัยการสูงสุดเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ซึ่งโดยบทบาทอำนาจหน้าที่ของ สนช. ส.ส. ส.ว. ทำหน้าที่นิติบัญญัติ มิได้มีอำนาจไปบงการหรือสั่งการฝ่ายบริหารหรือองค์กรต่างๆ แต่อย่างใด" นายธานีกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อพยายามขอความชัดเจนและสอบถามรายละเอียดถึงการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมาธิการหลายประเด็น ทั้งกรณีความสัมพันธ์ของทนายประจำตระกูลอยู่วิทยา และ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ การนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยาเสพติดโคเคนที่อยู่ในร่างกายของนายวรยุทธ เป็นต้น แต่นายธานีปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุสั้นๆ ว่า ขอให้รอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด น่าจะได้ข้อเท็จจริงที่สุด
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบจากหลายฝ่ายที่มุ่งให้ความจริงกระจ่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการให้ความคุ้มครองพยานเพื่อให้มีความปลอดภัย ไม่มีการคุกคาม รวมถึงผู้ใกล้ชิดของพยานในคดี เพราะทั้งหมดนี้คือส่วนสำคัญที่จะทำให้เห็นถึงที่ไปที่มาของคดี
    "คดีนี้หากมีกระบวนการที่ไม่ชอบก็จะมีการรื้อฟื้นคดีนี้มาได้ เพื่อนำคดีให้ศาลได้พิจารณาต่อไป โดยคดีนี้สัปดาห์หน้าจะมีการเดินทางไปขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการขอเอกสารที่เป็นทางการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำมาพิจารณาในรายละเอียดดำเนินการในขั้นตอนต่อไป" โฆษก ปชป.กล่าว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"