ผอ.สถาบันทิศทางไทย คารวะหัวใจความเป็นคน 'หงา คาราวาน' ในวันที่พี่น้อง-มิตรร่วมรบแขวนป้ายทรยศ


เพิ่มเพื่อน    

31 ก.ค.53 - ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โน้มคารวะ​ "หงา-คาราวาน" ในวันที่​ มิตร-พี่-น้อง ตราหน้าว่า​ "ทรยศ" พร้อมกับแชร์บทความของ เวทิน​ ชาติกุล ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทย โดยมีเนื้อหาดังนี้ งานสัปดาห์หนังสือทุกครั้ง​ บูธหนึ่งที่ผมต้องไปซื้อหนังสือให้ได้คือ​ บูธสามัญชน​ ของคุณเวียง (วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน) เพราะผมเห็นว่าคนทำหนังสือวรรณกรรมเพื่อวรรณกรรมนั้นมันน้อยลงทุกที

แม้ผมจะขยะแขยงข้อเขียนของศิลปินแห่งชาติ​ที่เปลี่ยนตัวเองจาก​ "สิงห์" เป็น​ "สุนัข" สนามหลวงที่​ บก.เวียง อัญเชิญมาเขียนคำนิยมในทุกตัวอักษร​ แต่ก็ยังซื้อ​เพราะเนื้อหาและคุณภาพในส่วนอื่นที่ชื่อชั้นของบก.เวียง​รับประกันอยู่ จะเสียดายอยู่ก็แต่ที่ผ่านมา ผมไม่ได้ซื้อหนังสือของ​ สุรชัย​ จันทิมาธร​​ ที่​ บก.เวียงสู้อุตส่าห์พิมพ์ขึ้นมาให้​ เพราะชื่นชอบ​ "ดนตรี" มากกว่า​ "ตัวอักษร" ของ​ หงา​ คาราวาน

ผมเคยเจอ หงา-คาราวาน​ ครั้งเดียวไม่ใช่ในคอนเสิร์ต​ แต่เป็นในร้านกีตาร์เล็กๆแถวบ้าน​ ผมเอากีตาร์ไปซ่อม​ เจอผู้เฒ่ายืนอยู่ในร้าน​ ไม่ได้ทัก​ ไม่ได้คุย​ ไม่ได้ขอเซลฟี่ (เพราะสมัยนั้นยังไม่มี)​ แค่ยิ้มๆให้กัน​ แล้วต่างคนต่างทำธุระของตนในร้าน​ เสร็จแล้วก็จากลา แต่ตอนที่บังเอิญหลงไปเที่ยวอนุสรณ์ผู้เสียสละที่เขาค้อปีที่แล้ว​ เสียงเพลง​ "ใกล้ตา​ ไกลตีน" ของน้าหงา​ ดังอยู่ในหัวผมตลอด

40​ ปีให้หลัง​ "สงครามประชาชน" (2519-2523) สิ้นสุดลง สมรภูมิเขาค้อกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววันหยุด​ เลือดที่เคยนองทั่วแผ่นดิน​ซึมหายไป​ ร้อยพันร่างที่ถูกฝังฝากไว้ในแผ่นดิน​คืนสู่ธาตุธุลีเดิม​ ชีวิตยังคงดำเนิน​ ความผันแปรปรากฎ​ เรื่องราวการปฏิวัติ​ อุดมการณ์​ การสู้รบ​ และความสูญเสีย​ กลายเป็นเรื่องราวเล่าขานที่นับวันจะถูกลบลืม​

ผมไม่รู้ว่าควรรู้สึกดีใจหรือเสียใจ​ ด้านหนึ่งมันก็ดี​เลิกฆ่ากันไปได้​ แต่อีกด้านความหมาย​ ของการต่อสู้​ของยุคสมัยหนึ่ง​ ที่เอาเลือด​ เนื้อ​ ชีวิต​ เข้าแลก​ กลับเหลือคุณค่าเพียง​ฉากหลังที่คนรุ่นใหม่ใช้ถ่ายรูปเซลฟี่เพื่อโพสต์อวดในโซเซียล

ยุคสมัย​ ถ้ามันจะทำร้าย​ มันก็ทำร้ายทุกคนนั่นแหละครับ​ คุณเวียง​ ทั้งคุณ​ ทั้งน้าหงา​ ทั้งผม​ หรือใครอื่นที่ยังมีความทรงจำเก่าเก็บเกี่ยวกับมันอยู่ คนที่ไม่ถูกยุคสมัยทำร้ายก็คือ​ คนที่ฝังกายอยู่ในธุลี​ดินเหมือนในเพลงของน้าหงา

"...เจ้าเคยฝันถึงวันที่ดี
มาบัดนี้ไม่อาจพบหน้า
ดูใกล้ตา แต่แล้วไกลตีน

แผ่นดินที่หอม แผ่นดินที่ตรอม
จะกอดเจ้าไว้ ยังไออุ่นกัน..."

เพลง​ "ใกล้ตา​ ไกลตีน"
สุรชัย​ จันทิมาธร

เพลงที่หงา​ คาราวานเขียนให้มิตรที่ทิ้งร่างไว้ในป่า...และการเดินทางอันยาวนานในป่า ที่ไปไม่ถึงสักที เหมือนกับการปฏิวัติในป่า เหมือนภูเขาที่มองดูแล้วอยู่ ..ใกล้ตา...แต่เดินไปไม่ถึงสักที

ผมคิดว่า​ทั้งคุณเวียง​ และ​ น้าหงา​ ก็น่าจะเข้าใจ​ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผันผ่านเข้ามาในชีวิต​ เพลงเพื่อชีวิตกลายเป็นของโบราณ​ วรรณกรรมยิ่งใหญ่กลายเป็นเพียงสินค้าเฉพาะกลุ่ม​ แค่ทั้งสองท่านยังยืนหยัดสู้อยู่ได้ในโลกแบบนี้​ ผมก็คารวะแล้วครับ​ มิต้องไปพูดเรื่องทัศนะ​ ความคิด​ หรือ​ การเมืองอื่นใด?

ความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย​ ยุคสมัยเปลี่ยนแต่ก็ยังมีคนอยากให้คนไทยเข่นฆ่ากันอีก​ สร้างความแบ่งแยกแตกต่าง​ ระหว่างรุ่นระหว่างวัย​ ขึ้นแทนที่​ความแตกต่างทางชนชั้น​ ลามปามไปถึงประเด็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่รู้ทั้งรู้ว่าเสี่ยงและอันตราย

ผมไม่ได้เห็นด้วยกับทุกบทกวีที่น้าหงาเขียน​ แต่คุณเวียง​ จะเอาไหมล่ะครับ​ ถ้าเอาแบบไม่ต้องคิดว่าสังคมจะเป็นอย่างไร​ มาเลย​ พวกหนึ่งบอกว่าพวกกูไม่ทน​ อีกพวกก็บอกกูก็ทนไม่ไหว​แล้ว​ ไม่ว่าจะรุ่นไหน​ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเหี้ยอะไรก็เถอะ​ มันง่ายครับ​ จะทะเลาะ​ จะเข่นฆ่า​กัน​ มันไม่ยาก​ ไอ้ที่ยากก็คือ​ หลังจากฆ่ากันเสร็จแล้ว​ มานั่งรำพึงรำพัน​ สำนึกเสียใจ ขณะที่ไอ้คนที่ยุเด็กอยู่ข้างหลังมันโผล่ออกมาเกี่ยวเก็บประโยชน์โภชผลจากกองซากศพและเลือด...จะเอาแบบนี้หรือครับ​

ในวันที่น้าหงา​ ถูกคุณเวียง​ พี่​ น้อง​ มิตร​ร่วมรบ​ ตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ​ ทำไมผมกลับรู้สึกว่า หงา​ คาราวาน​ มีความเป็นคน​มากขึ้น​ คนที่รู้เจ็บรู้ปวด​ กับ​ "บาดแผล" ที่ครั้งหนึ่งเราแม่งเคยเข่นฆ่ากันด้วยอะไรก็ไม่รู้ที่ต่างฝ่ายต่างเรียกขานยกย่องด้วยถ้อยคำสวยหรู

คุณเวียงอาจรู้จักหงา คาราวานมากกว่าผม​ แต่เวลาผมอ่านบทกวีที่น้าหงา​เพิ่งเขียน​ที่ทำให้แกถูกหาว่าทรยศ​อุดมการณ์

“...จะปลดแอกเพื่อใครที่ไหนหนอ
ผู้เฒ่ารอร้อรอจนหัวขาว
ที่ผ่านมารบกันก็นานยาว
เห็นแต่ศพทบท่าวธุลีดิน...”

"...อย่าเย่อหยิ่งทะนงตนคนรุ่นใหม่
ไม่กี่ปีผ่านไปมันก็เก่า
ความเป็นคนที่แท้อยู่แก่เรา
จะแก่เฒ่าสาวหนุ่มก็กลุ่มคน..."

ทำไมผมนึกถึงท่อนนี้ของเพลง​ "ใกล้ตา​ ไกลตีน"

"...รักเจ้าไว้ยังไออุ่นกัน
ฝันและฝันให้ไกลที่สุด
เจ้ามนุษย์ เจ้าหวังสิ่งใด..."

แทนที่จะก่นด่า​กันเอง​ อายุปูนนี้แล้ว​ เด็กแม่งมันไม่สนทั้งน้าหงา​ ทั้งคุณ ทั้งผมที่หัวหงอกแล้ว​หรอกครับ เราควรถามกับใครดี​ กับคำถามสุดท้าย​ในเพลงที่หงา คาราวานทิ้งเอาไว้​ "เจ้ามนุษย์เจ้าหวังสิ่งใด? "

ถามเยาวชน? ถามธนาธร? ถามประยุทธ์? ถามอะไรอื่น?

หรือ​ ถามตัวเอง?

(ปล.​ งานหนังสือคราวหน้า​ ผมจะไปซื้อหนังสือของนักเขียนชื่อ​ สุรชัย​ จันทิมาธร​ ที่บูธสามัญชน​ หวังว่าคงไม่โล๊ะทิ้งไปก่อนนะครับ)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"