จากเหตุการณ์ที่ 4 รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของรัฐบาลลาออกจากหน้าที่ พร้อมกับลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนำทีมโดย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประกาศลาออกของทั้ง 4 รัฐมนตรี เป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในประเทศ และเกิดผลกระทบมากมาย ทั้งคนตกงาน ขาดรายได้ รวมทั้งธุรกิจต่างๆ โดนผลกระทบมากมายเป็นห่วงโซ่ แม้กระทรวงพลังงานจะมีนโยบายออกมา แต่ก็ต้องถูกพับแผนไปก่อน และต้องหันมาลุยกับนโยบายที่จะช่วยเยียวยาผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อน
แต่ก็ต้องยอมรับว่า มาตรการต่างๆ ของกระทรวงพลังงานช่วงแรกๆ นั้นได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างค่อนข้างทั่วถึง และตอบโจทย์กับความต้องการที่ประชาชนกำลังประสบปัญหาอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า, มาตรการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านโครงการ
รวมถึงการเห็นชอบให้ทั้ง 3 การไฟฟ้า ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และมาตรการสำหรับผู้ใช้ไฟประเภท ขึ้นต้นด้วย 111 ใช้ไฟฟ้าฟรี 3 เดือน ส่วนประเภทขึ้นต้นด้วย 112 และ 12 ใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าตามใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.พ. เป็นหน่วยเดือนฐานสำหรับคิดค่าไฟ ขณะในภาคส่วนของเอกชนได้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% (ดีมานด์ ชาร์จ) แก่ผู้ประกอบการประเภทที่ 3-7 โดยกำหนดช่วงเวลาสนับสนุน 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.2563
ส่วนด้านการลดรายจ่ายแก่ประชาชน เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจร, การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ถึง ก.ย.63 และจะพิจารณาขยายไปถึง ธ.ค.63, ช่วยเหลือส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) สำหรับรถสาธารณะ และลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สต.ต่อลิตร
แต่เมื่อสถานการณ์นั้นใกล้จบลงไป ผลกระทบของโควิด-19 นั้นได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในประเทศไทยเองการแพร่เชื้อนั้นลดลงเรื่อยๆ และกลายมาเป็นศูนย์อยู่สักระยะหนึ่ง กิจกรรมทางสังคมก็เริ่มกลับมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นยังกลับมาไม่เต็มที่ พร้อมกับนโยบายที่เข้าไปช่วยเหลือก็เริ่มหมดอายุ จึงทำให้ประชาชนและผู้ทำธุรกิจยังวิตกกังวล ด้วยจากสถานการณ์ของต่างประเทศนั้นยังคงรุนแรง การดำเนินธุรกิจที่จำเป็นต้องการข้ามแดนนั้นยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเหตุการณ์เดิมรวมกับความกังวลในปัจจุบันทำให้เศรษฐกิจของไทยนั้นล้มระเนระนาด รัฐบาลเองก็ยังต้องเดินหน้าที่จะสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง
ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการผ่านทุกกระทรวง ทุกกรม เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจและเยียวยาสังคมให้มากที่สุด หลังจากได้รับผลกระทบมาอย่างหนัก ในส่วนของพลังงานเองก็ได้เสนอโครงการไปหลายอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ต้องอาศัยการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังพอมีกำลัง เพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า
โดยได้รวบรวมอยู่ในนโยบายพลังงานสร้างไทย เป็นการเตรียมแผนงานด้านพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนหลังสถานการณ์เชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะดำเนินการ 3 ด้าน ในช่วงปี 2563-2565 คิดเป็นวงเงินลงทุนด้านพลังงานกว่า 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในปี 63 วงเงิน 200,000 ล้านบาท, ปี 64 วงเงิน 457,000 ล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 450,000 ล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็นเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เริ่มดำเนินการศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี ฮับ) และเริ่มการลงทุนพัฒนากริด โมเดิร์นไนเซชั่น และศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงกริดกับประเทศเพื่อนบ้าน การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม และเร่งคลังเก็บแอลเอ็นจี รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่คาดว่าจะเกิดการลงทุนและสร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน เมื่อครบเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์
แต่ปัจจุบันนั้นเมื่อไม่มีคนคุมบังเหียน การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงก็อาจจะสะดุดไป ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการพลังงานคนใหม่ ซึ่งถ้าไม่ผิดโผก็จะได้เห็น "สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาวน์" นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงาน คนที่ 14 ต่อจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ได้ลาออกจากกระแสกดดันในเกมการเมือง และคงต้องมาลุ้นกันต่อว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะเดินหน้าสานต่อหรือรื้อโครงการต่างๆ เหล่านี้ทิ้งแล้วตั้งโครงการใหม่ๆ ขึ้นมาแทน
ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ผ่านมานายสนธิรัตน์ได้พยายามผลักดันให้บรรจุไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 rev1 ด้วยการทบทวนประเภทเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน ลดสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แล้วบรรจุเพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังการผลิต 1,933 เมกะวัตต์ (ปี 2563-67) โดยจะทยอยเข้าระบบล็อตแรกปี 2564-65 จำนวน 700 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นประเภทควิกวิน 100 เมกะวัตต์ ทั่วไป 600 เมกะวัตต์) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
แม้ว่าได้รับความสนใจอย่างมา แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากติดที่ร่างพีดีพีใหม่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และยิ่งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าจะต้องมีการทบทวนแผนพีดีพีกันใหม่อีกรอบ
โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100) ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ม.ค.63 ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดให้ดีเซล B10 (ดีเซลผสมบี 100 สัดส่วน 10%) เป็นน้ำมันพื้นฐานได้สำเร็จ และยังมีดีเซล B7 และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือก เพื่อยกระดับราคาปาล์มให้แก่เกษตรกรและพยุงราคาปาล์มที่ตกต่ำ และยังมีแผนที่จะยกระดับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน และจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไป
ยังมีแผนของการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ครั้งที่ 23 ในพื้นที่แหล่งปิโตรเลียม จำนวน 3 แปลง บริเวณอ่าวไทย รวมพื้นที่กว่า 34,873 ตารางกิโลเมตร ถูกเลื่อนมาจากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อไปสู่เสรีและหนุนให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางภูมิภาค (Hub) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำร่องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ Shipper เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าให้ กฟผ.เองไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปรับเกณฑ์โซลาร์ภาคประชาชน จะเดินหน้าต่อหรือหยุดไว้ ยังไม่รวมถึงกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ขณะนี้มีโครงการที่ยื่นของบในปี 2563 และอยู่ระหว่างการคัดกรองกว่า 5,100 โครงการที่รอการพิจารณา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |