บิ๊กตู่เบรกอาชีวะชนม็อบมุ้งมิ้ง


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ย้ำขั้นตอนปรับ ครม.เสร็จแล้วเหลือแค่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย “ทักษิณ” ชี้นิ้วสั่ง “สุดารัตน์” ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. “บิ๊กตู่” รับห่วงปัญหาม็อบชนม็อบ หวั่นกลับไปสู่จุดเดิม เพื่อไทยเร่งรื้อรัฐธรรมนูญ หวัง 10 ส.ค. สรุปแนวทางเสนอในสมัยประชุมนี้ “ก้าวไกล” ชงหนักทั้งให้นายกฯ ลาออก แก้กฎหมายประชามติ

    เมื่อวันพุธที่ 29 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับคณะรัฐมนตรีว่า ได้ดำเนินการในส่วนของตนเองเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะทำหลักฐานเอกสารทั้งหมดเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นไปตามเวลาที่กำหนด ไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม
“อยากจะขอร้อง ขอให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อะไรที่มันร้อนๆ ก็ช่วยลดกระแสลงไปบ้าง อย่าให้มันร้อนมากนัก ผมก็ขอยืนยันว่าผมจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุดบนพื้นฐานของความเป็นธรรม”
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่าช่วงก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรคได้หารือกัน โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ต่อสายวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงและได้ข้อสรุปที่จะเสนอให้คุณหญิงสุดารัตน์ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรค รวมทั้งได้หารือถึงการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคที่จะเกิดขึ้น ที่จะให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น แต่ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อตำแหน่งของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน  
     น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค พท. กล่าวในเรื่องนี้ว่า เท่าที่ทราบมีเพียงพรรคจะตั้งคณะทำงานเพื่อวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น กทม. ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ส่วนโอกาสที่คุณหญิงสุดารัตน์จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.นั้น จากการพูดคุย ส.ส.กทม.ของพรรคทุกคนก็พร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับชาติหรือการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.
    ส่วนความเคลื่อนไหวของการชุมนุมของกลุ่มนิสิต-นักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ นัดชุมนุมปกป้องสถาบัน ในวันที่ 30 ก.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเกรงจะเกิดเหตุม็อบชนม็อบนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ยอมรับว่าเป็นห่วง เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ก็ได้พูดคุยไปกับตัวแทนและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอร้องว่าอย่ามาเคลื่อนไหวอะไรในเวลานี้เลย เพราะจะทำให้เกิดมี 2 ฝ่ายขึ้นมา มันจะลุกลามบานปลายไปในวันข้างหน้า แล้วทุกอย่างจะกลับไปสู่ที่เดิม ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ
ย้ำอย่าก้าวล่วง
“เรื่องนี้ต้องฝากไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมอีกทางหนึ่งด้วย ทางนี้ก็ต้องหาทางออกกันในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็มีช่องทางอยู่แล้ว เรื่องการชุมนุม ผมไม่ได้ไปห้าม แต่ก็ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมาย และอย่าทำผิดกฎหมาย ก็เท่านั้นเอง แต่ถ้าถามว่าผมห่วงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าผมห่วงที่สุด เพราะเหล่านี้คือบุคลากรของชาติในอนาคต แต่เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย และไม่ก้าวล่วงผู้อื่น และไม่ไปใส่ร้ายในสิ่งที่ไม่บังควร ซึ่งก็ได้กำชับไปไม่ให้มีการชุมนุมเผชิญหน้ากัน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลทุกคนทุกฝ่ายให้ดีที่สุด” นายกฯ กล่าว
    มีรายงานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวปรารภกับที่ประชุมหลายเรื่อง รวมไปถึงการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ โดยระบุว่าไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่อยากให้กลับไปถึงจุดเดิม และไม่อยากให้มาชนกัน
    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวพรรค พท. กล่าวเรื่องนี้ว่า ขอเตือนว่ารัฐบาลอย่าได้ประมาท ประเมินสถานการณ์ต่ำเตี้ย และใช้มาตรการคุกคามระงับยับยั้งขัดขวางการชุมนุม จะเป็นเหตุให้ลุกลามขยายวงกว้างจนยากจะควบคุมดูแล พล.อ.ประยุทธ์ ควรใช้ภาวะผู้นำกล้าตัดสินใจหาทางออก โดยนายกฯ ครม. ผบ.เหล่าทัพ และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องควรเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอ และทำสัญญาประชาคมเรื่องดังกล่าว
    ส่วนความคืบหน้าในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีมี ส.ว.บางคนแสดงความเห็นว่าแล้วถึงเวลาที่ควรแก้ไขว่าไม่ทราบ หากมาถามก็ตอบไม่ถูก ส่วนที่มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพแก้ไขนั้น ก็รับทราบเช่นกัน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลจะตอบในนามส่วนตัวไม่ได้
    ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคมีความชัดเจนและเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักในการเข้าร่วมรัฐบาลว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้น เมื่อกำหนดไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเริ่มต้นได้แล้ว เพราะตอนนี้ก็ล่วงเลยระยะเวลามาหนึ่งปีตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้ว
    ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ในฝั่งพรรค พท.หารือกันว่า ในวันที่ 31 ก.ค. จะหยิบยกเรื่องการกระชับเวลาการศึกษามาหารือ เพื่อที่จะไม่ต้องทอดเวลาออกไป โดยตั้งใจอยากให้กระบวนการทุกอย่างจบ โดยเราตั้งเป้าว่าจะต้องเสนอเข้าสภาภายในเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้น ขั้นตอนการศึกษาควรเสร็จอย่างช้าวันที่ 10 ส.ค. จากนั้นก็นำเรื่องเข้าสู่สภาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอได้ก่อนปิดสมัยประชุมนี้
        เมื่อถามว่า มีสัญญาณจาก ส.ว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร นายสุทินกล่าวว่า ตอนแรกเรามีความหวังกับ ส.ว.น้อย หรือแทบไม่มีความหวังเลย แต่ในระยะหลังเห็นว่าสถานการณ์เริ่มเป็นบวกขึ้น หลังจากที่มีเสียงของประชาชนและนิสิตนักศึกษาเรียกร้อง เราจึงมีความหวังกับ ส.ว.เหมือนกัน ส่วนจะแก้ทั้งฉบับหรือบางมาตรานั้นยังไม่สรุป แต่แก้อย่างไรก็ตามที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ก้าวไกลชงแก้ 5 มาตรา
ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า พรรคมีการประชุมและมีมติที่เป็นข้อเสนอถึงการแก้ไขวิกฤติการเมือง 5 ข้อ 1.ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2.ทบทวนคดีความทางการเมือง 3.เลิกคุกคามนักศึกษาและประชาชน 4.พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากนายกฯ และ 5.แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากได้เคยมีข้อเสนอไป ก็มีประเด็นทางการเมืองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น พรรคจึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อ เพื่อผ่าทางตันประเทศ นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เป็นใบอนุญาตในการต่ออายุให้กับรัฐบาลชุดนี้
สำหรับข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา คือ มาตรา 269, 270, 271, 272 ที่เป็นบทเฉพาะกาลเกี่ยวข้องกับ ส.ว. และมาตรา 279 ที่ให้การรับรองประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทำก่อนหน้านี้ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 มาตราที่น่าจะเป็นการหาฉันทามติได้ง่าย เป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ  
     นายชัยธวัธ ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวว่า รายละเอียดการขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 มาตรา หลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกับ ส.ส.เพื่อรวบรวมรายชื่อให้ได้ 1 ใน 5 ให้ได้จำนวน ส.ส.ประมาณ 100 คน เพื่อที่จะได้ยื่นต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพิ่มเติมหมวดจัดทำแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเสนอให้มีการปิดสวิตช์ ส.ว.อย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันหากมีการยุบสภาหรือนายกฯ ลาออก ส.ว.ก็จะไม่มีส่วนเข้ามาเลือกนายกฯ ได้ ยกเลิกการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายปฏิรูประเทศของ ส.ว.ด้วย ซึ่งจะนำมาสู่การปลดล็อกเพื่อเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ
     นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า การจัดทำประชามติ 2559 ก็มีปัญหามาก ดังนั้นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเพื่อให้การแสดงความคิดเห็นในการลงประชามติเป็นไปอย่างปลอดภัยด้วย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"