หรือจะเป็นจริง...
สงครามระหว่างวัย
จะเอากันถึงขั้นสถาบันครอบครัวแตกแยก พินาศย่อยยับกันเลยหรือ
สื่อนอกถึงได้ร่วมเสี้ยม แฟลชม็อบ คือ การต่อสู้ระหว่างกลุ่ม "ฟันน้ำนม" กับ "ฟันปลอม"
โซเชียลในประเทศ ถึงขั้นเร่งวันเร่งคืนให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่รีบๆ ตายไป เพราะอนาคตคือโลกของคนรุ่นใหม่เท่านั้น
นับวันก็ยิ่งปรากฏชัด ไม่อยากอยู่ร่วมโลกเดียวกัน
นี่มันยิ่งกว่าสงครามระหว่างเหลือง-แดง
ที่เห็นฉิบหายกันมา ยังไม่ได้เศษเสี้ยว
สังคมไทยจะไปต่ออย่างไร
เริ่มจะมืดมนจริงๆ
เรื่องที่เด็กๆ ต้องการในวันนี้ หลายเรื่องเข้าใจได้และควรสนับสนุน
แต่บางเรื่องเข้าใจยาก เพราะมันเลยเถิด
แถลงการณ์ กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ คงผ่านหูผ่านตาหลายๆ คนไปแล้ว แต่อีกหลายๆ คนยังไม่เห็นยังไม่ได้อ่าน
ก็มาอ่านทำความเข้าใจกันซะหน่อย
เป็นแถลงการณ์เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการถ่ายภาพการชุมนุม
ปกติภาพข่าวการชุมนุมทั่วโลก ก็เปิดหน้าเปิดตาผู้ร่วมชุมนุม เว้นเสียว่า มีเด็ก หมายถึงเด็กตัวเล็กๆ ในที่ชุมนุม สื่อก็อาจเซ็นเซอร์ในบางกรณี
เพราะทารกที่ยังไม่หย่านม หรือยังช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่ควรเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุม จากหลายๆ เหตุผล
แต่โดยรวมคือไม่ควรถูกยัดเยียดไปชุมนุมโดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง
จนกว่าจะตัดสินใจไปชุมนุมหรือไม่ชุมนุมด้วยตัวเอง เมื่อนั้นก็ควรเปิดหน้าเปิดตา
แถลงการณ์ ของกลุ่มเกียมอุดม มีรายละเอียดตามนี้
---------------
สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างมากในการทำกิจกรรมทางการเมืองของภาคประชาชน ประการแรก สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่การกระทำและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้ไปถึงผู้รับสารในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงประชาชนทั่วไปและภาครัฐเองด้วย ประการที่สอง สื่อมวลชนช่วยบันทึกเหตุการณ์และเป็นผู้สังเกตการณ์ให้ผู้ชุมนุม ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานที่สำคัญ หากมีการคุกคามใดๆ สื่อมวลชนนั้นมีหน้าที่รายงานสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น ในช่วงเวลาใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร เสรีภาพสื่อถูกจำกัดและกำกับเนื้อหาเป็นอย่างมากจนทำให้เสรีภาพสื่อมีเพดานที่ต่ำลง ไม่สามารถรายงานข่าวสารได้ตามปกติอย่างที่การทำงานของสื่อมวลชนควรจะเป็น
กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการเล็งเห็นความสำคัญของสื่อมวลชนและเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณและหวังว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อในกิจกรรมครั้งต่อๆ ไป เฉกเช่นครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพที่เปิดเผยตัวตนของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน อาจสร้างความเสี่ยงจากกลุ่มบุคคลอื่นนอกจากรัฐให้แก่ผู้ชุมนุมมากขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยความเสี่ยงส่วนหนึ่ง ได้แก่
๑.ความเสี่ยงจากผู้ปกครอง เยาวชนหลายคนยังคงอาศัยอยู่กับผู้ปกครอง และต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ในด้านการเงิน อาหาร และปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตอื่นๆ ซึ่งผู้ปกครองอาจมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับเยาวชน และอาจทำให้เยาวชนเหล่านั้นถูกปิดกั้นเสรีภาพ เช่น ถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองอีก หรือถูกตัดขาดจากปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เช่น ถูกไล่ออกจากบ้าน
๒.ความเสี่ยงจากสถานศึกษา ปัจจุบันเยาวชนในฐานะนักเรียนในสถานศึกษา มีอำนาจน้อยกว่าครูอย่างปฏิเสธไม่ได้ ครูมักมีพื้นที่และเป็นที่เชื่อถือในสถาบันมากกว่า ครูที่มีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับเยาวชน อาจกระทำการใดๆ ที่ส่งผลร้ายต่อเยาวชนเหล่านั้น เช่น พูดจาให้ร้าย ให้คะแนนอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่ไล่ออก ซึ่งตัวอย่างของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนจากการแสดงออกทางการเมืองนั้นมีให้เห็นแล้วจากกรณีของ#โรงเรียนชื่อดังย่านบิ๊กซี
๓.ความเสี่ยงจากบุคคลอื่น เมื่อภาพและอัตลักษณ์ของเยาวชนได้ถูกเผยแพร่ไปแล้ว เยาวชนเหล่านั้นย่อมเสี่ยงตกเป็นเป้าของผู้มีประสงค์ร้ายทางการเมือง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการเมืองในประเทศไทยนั้นมีการใช้สารพัดวิธีเพื่อใส่ร้ายผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองในทิศตรงข้าม โดยอาจใช้คำอธิบายภาพที่บิดเบือนความจริง จนทำให้เสียหาย หรือเขียนคุกคามทางเพศ ทำให้ตกเป็นเป้าสังคมต่อไปได้
ทั้งสามประการที่กล่าวมา ล้วนเป็นความเสี่ยงที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ตัวผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบด้วยตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการจึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ดังนี้
๑.ถ่ายภาพหรือวิดีโอเฉพาะแบบ Extreme long shot, Long shot, Medium long shot และ Medium shot เท่านั้น (สำหรับการถ่ายภาพแบบ Medium long shot และ Medium shot ควรเบลอหรือถมทับใบหน้าส่วนที่ไม่ได้ถูกปกปิดด้วยหน้ากากอนามัยหรือหมวกอยู่แล้ว)
๒.ไม่ถ่ายภาพหรือวิดีโอ รวมถึงถ่ายทอดสดใบหน้าของผู้ชุมนุมแบบ Close up หรือ Extreme close up เด็ดขาด
๓.หากมีความประสงค์ที่จะต้องการถ่ายภาพหรือวิดีโอเจาะจงบุคคลไปที่บุคคลเดียว หรือต้องการถ่ายภาพป้ายที่ผู้ชุมนุมกำลังถืออยู่ สื่อมวลชนควรขออนุญาต และสอบถามกับผู้ชุมนุมถึงความสมัครใจ และเงื่อนไขต่างๆ
๔.สื่อมวลชนควรรับฟัง และปฏิบัติตามคำร้องขอของผู้ชุมนุมที่มีความประสงค์ให้สื่อลบภาพหรือวิดีโอของตนที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว
กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการเข้าใจเป็นอย่างดี ว่าสิ่งที่ได้ขอความร่วมมือไปนั้นอาจทำให้การทำงานของสื่อมวลชนยุ่งยากขึ้น และอัตลักษณ์ของผู้แสดงออกทางการเมืองไม่ควรถูกปกปิดราวกับว่าเป็นอาชญากร แต่ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องเยาวชนที่อาจตกเป็น "เหยื่อ" ทางการเมือง ในประเทศที่มีการจำกัดเสรีภาพเมื่อพวกเขาออกมาแสดงออกทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมถึงมีการจำกัดเสรีภาพของการทำข่าวของสื่อมวลชนโดยรัฐ
ทางกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการเชื่อว่าสื่อมวลชนยังสามารถถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวผ่านภาพได้อย่างยอดเยี่ยมไปตามข้อเท็จจริงเช่นเคย เพียงแต่อาจทำให้สื่อต้องเสียเวลามากขึ้น กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการขออภัยในความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกิจกรรม#วันศุกร์ลุกมาไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ที่อาจทำให้สื่อมวลชนรู้สึกขุ่นเคืองใจกับการปฏิเสธให้ถ่ายภาพของนักเรียนผู้เข้าร่วมชุมนุม กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการคอยย้ำผู้เข้าร่วมชุมนุมเรื่องการปกปิดตัวตนและความปลอดภัยในเข้าร่วมชุมนุมให้ได้มากที่สุดเสมอมา เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระไปตกอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
จึงขอเรียนมาเพื่อความเข้าใจและขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกท่านมา ณ ที่นี้
กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓
-----------------
มุมหนึ่งก็น่าเห็นใจเด็กที่ออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตของตัวเอง
อีกมุมสะท้อนปัญหาที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก
มีเนื้อหาที่พูดถึง "ความเสี่ยง"
พ่อ แม่ ผู้ปกครอง คือหนึ่งในความเสี่ยง
เป็นมุมมองที่ยากจะเชื่อได้ว่าเรามาถึงจุดนี้แล้ว
เด็กๆ ส่วนใหญ่อาจไม่ได้คิดแบบนี้
แต่เด็กๆ ระดับแกน สามารถชี้นำคนอื่นได้ มีความคิดที่ผู้ใหญ่ต้องวางมือจากเรื่องอื่นๆ แล้วหันกลับมาดูลูกหลาน ก่อนที่จะสายเกินไป
อดนึกถึง นวนิยาย "กาเหว่าที่บางเพลง" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้ แม้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็มีส่วนคล้าย
และน่ากังวล
กาเหว่าที่บางเพลง เริ่มเรื่องด้วย เหตุการณ์ในคืนแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ มียานอวกาศลอยต่ำลงบริเวณท้องน้ำที่หมู่บ้านบางเพลง
ต่อมาผู้หญิงในบางเพลงก็ตั้งครรภ์พร้อมกันทั้ง ๒๑๔ คน
ตั้งแต่เด็กสาวจนถึงหญิงอายุ ๘๐ ปี
เมื่อถึงเวลาคลอด เด็กกลุ่มนี้มีลักษณะคล้ายกัน ทำทุกอย่างเหมือนกันราวกับเป็นคน
คนเดียวกัน
ที่สำคัญเด็กเหล่านี้ใช้พลังจิตในการสื่อสารกัน และมีจุดประสงค์ที่มาบางเพลงเพื่อต้องการยึดครองโลก เพราะโลกของตนนั้นเพศแม่มีคุณภาพแย่ลง จึงไม่สามารถสืบเผ่าพันธุ์ได้
เด็กเหล่านี้ไม่เคารพนับถือศาสนา ไม่เชื่อในอริยสัจ แต่เมื่อเด็กส่วนหนึ่งเกิดอาการเจ็บป่วยและเสีย ชีวิต ผู้ที่รอดชีวิตจึงเข้าใจในสัจธรรมว่าไม่มีใครสามารถหนีความตายได้ ถึงแม้จะมาจากโลกอื่นก็ตาม
ดังนั้นพวกที่รอดชีวิตจากการเจ็บการตาย จึงได้รับคำสั่งให้กลับไปทดลองในโลกอื่นต่อไป.......
ครับ...เด็กๆ พูดถึงความเสี่ยงจากผู้ปกครอง ที่ให้เงิน ให้อาหาร ว่าอาจถูกไล่ออกจากบ้าน หากความเห็นขัดแย้งกัน
พูดถึงอำนาจที่ตัวเองมีน้อยกว่าครู
พูดถึงสื่อมวลชนว่าควรรับฟัง ต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของเด็กๆ ให้ลบภาพที่เผยแพร่ไปแล้ว
ตบท้ายว่าทั้งหมดเพราะไม่อยากตกเป็น "เหยื่อ" ทางการเมือง
นี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่อาจละเลยได้อีกแล้ว
เพราะไม่ใช่มุมมองปกติ
แต่เป็นมุมมองเชิงปฏิปักษ์
เมื่อลูกมองว่าพ่อแม่คือศัตรูทางความคิด สามารถแตกหักกันได้ทุกเมื่อ แต่แก้ปัญหานั้นด้วยการไม่ให้พ่อแม่รับรู้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ
นับเป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ
ลูกประเภทไหนกันที่เอาแต่คิดว่า พ่อแม่จะไล่ออกจากบ้าน
การปิดกั้นตัวเองจากคนในครอบครัว และเปิดรับเฉพาะคนกลุ่มเดียวกัน เป็นสิ่งบ่งบอกในเบื้องต้นว่าสถาบันครอบครัวอาจถึงคราวพินาศได้
หรือนี่คือโลกใหม่ที่ต้องการ.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |