29 ก.ค.63 - ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. แถลงภายหลังการประชุมหาข้อเท็จจริงกรณีการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส
พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการประชุมสืบหาข้อเท็จจริงขั้นตอนการดำเนินคดีอาญากับนายวรยุทธ สำหรับวันนี้ได้กำหนดกรอบการประชุมขึ้นมา 3 กรอบ โดยกรอบแรกเป็นเรื่องการสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน กรอบที่สอง การสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการ และกรอบที่สาม การดำเนินการพิจารณาความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 หลังจากพนักงานอัยการมีความเห็นแล้ว ต้องส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าจะเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้ง
เบื้องต้นทางคณะกรรมการได้ประชุมทั้งสามกรอบ และแบ่งหน้าที่ให้คณะกรรมการแต่ละส่วนรับไปดำเนินการ โดยเฉพาะรายละเอียดข้อเท็จจริง บุคคลหรือพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่แรก เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาเข้าที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะกรรมการจะมีการเชิญ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาสอบถามต่อไป
พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวอีกว่า ทาง ผบ.ตร. ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานไว้ 15 วัน พร้อมกำชับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ต้องได้ข้อเท็จจริงและโปร่งใส สามารถธิบายได้ ตั้งแต่คดีเกิดขึ้นมาพนักงานสอบสวนดำเนินการมาอย่างไร จนกระทั่งสุดท้ายสั่งไม่ฟ้อง เราต้องอธิบายให้สังคมทราบได้
ด้านพล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า การพิจารณาในกรอบที่สาม เรื่องความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 จะดูการใช้ดุลยพินิจ ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบหรือไม่ชอบ ซึ่ง กรณีที่ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ใช้อำนาจ ผบ.ตร. ตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 นั้น ทั้งนี้การใช้ดุลยพินิจเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้งนั้น 97 เปอร์เซ็นต์ คดีที่มาจากพนักงานอัยการเราไม่แย้ง มีแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แย้ง เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่อ้างมา และข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมาย จะพิจารณาได้เฉพาะคำฟ้องของพนักงานอัยการ จะดูในข้อกฎหมายตามที่พนักงานอัยการมีความเห็นมา มีข้อกฎหมายถูกต้องหรือไม่ และดูข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการมีความเห็นมานั้น มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่ ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวน ที่จะไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพราะไม่มีอำนาจที่จะทำได้ อย่างไรก็ตามจะมีการตรวจสอบคณะกรรมการใช้ดุลยพินิจในชุด ของพล.ต.ท.เพิ่มพูน ว่ามีกี่คน โดยยืนยันว่าไม่มีการฟอกขาวให้ใครและจะมาแถลงทุกขั้นตอนให้สื่อมวลชนทราบเป็นระยะ
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า พยาน 2 ปากที่เพิ่งโผล่มานั้น ไม่ปรากฎอยู่ในสำนวนการสอบสวนของ สน.ทองหล่อ เป็นพยานที่ผู้ต้องหาร้องไปยังพนักงานอัยการ ผ่านกรรมาธิการให้สอบสวนเพิ่มเติม พนักงานอัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิ์ที่จะมีความเห็นในช่วงนี้ได้อีก เพราะไม่ใช่การสอบสวนในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว การสอบสวนเสร็จสิ้นเมื่อพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ส่งสำนวนไปที่พนักงานอัยการแล้ว การสอบสวนภายหลังต้องสอบสวนตามคำสั่งพนักงานอัยการเท่านั้น
ขณะที่ พล.ต.ท.สมชาย กล่าวว่า กรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไม่ลงนามเห็นแย้งสำนวนคดีดังกล่าว ตามขั้นตอนกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ให้ ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. หรือผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งตามปกติ ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ผู้ช่วย ผบ.ตร. แต่ละท่านเป็นผู้พิจารณาคดีแบ่งกันไปตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการแต่ละส่วน
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า เมื่อมีการแบ่งมอบหน้าที่ตั้งแต่ต้น การลงนามเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้ง ผบ.ตร. จะไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากแต่ละวัน มีคดีที่ถามความเห็นมาประมาณ 700 คดี การลงความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 140 มันเป็นทางเทคนิค ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญของกองคดีเฉพาะด้านทำ ทุกอย่างจะดำเนินไปตามกลไกตามปกติ ผบ.ตร. จะไม่มีการสั่งเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะวันละ 700 คดี จะรายงานไม่ไหว และขั้นตอนการทำสำนวน จะทำตั้งแต่ รอง สว. ขึ้นมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นงานทางเทคนิคเท่านั้น ไม่ใช่งานสอบสวน
"ตามหน้างานท่านเพิ่มพูน เซ็นออกไป เป็นประเด็นที่สงสัยไม่ได้ เพราะเขาตรวจสำนวนเฉยๆ ถึงแม้สงสัยก็ไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิ์ถามไปทางพนักงานอัยการ ท่านเพิ่มพูนดูแต่เพียงว่าสำนวนครบองค์ประกอบข้อกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ได้มาถูกต้องหรือไม่ มันเป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน กรณีพยาน 2 ปากที่เพิ่มเข้ามา ต้องเข้าใจว่าขั้นตอนตรงนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำความเห็นทางคดีแล้ว และท่านเพิ่มพูน เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ถืออำนาจ ผบ.ตร. ในการไม่แย้ง ท่านเพิ่มพูนไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักพยาน เรื่องเห็นแย้งกับเรื่องความเห็นทางคดีมันแยกออกจากกัน การตอบคำถามในส่วนของท่านเพิ่มพูน ผมตอบในเรื่องของเทคนิคทั่วไป ไม่ได้ลงรายละเอียดอื่นๆ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีการตรวจสอบ" พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าทางตำรวจจะสามารถทำความเห็นแย้งไปยังพนักงานอัยการได้อีกหรือไม่ พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า ตอนนี้คดีสิ้นสุดแล้ว แต่หากมีหลักฐานใหม่ หรือมีผู้เสียหาย ญาติ จะไปดำเนินการฟ้องร้องเอง ก็คงไม่ตัดสิทธิ์
ด้าน พล.ต.ท.สมชาย กล่าวเสริมว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 147 บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้สอบสวนเกี่ยวกับ บุคคลนั้น ในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
ถามว่าขณะนี้ทางพนักงานอัยการก็มีการตั้งคระกรรมการขึ้นมาพิจารณาการสั่งคดีเหมือนกัน หากพบว่าเป็นการสั่งคดีมิชอบหรือไม่รอบคอบพอ คดีจะเปลี่ยนหรือไม่ พล.ต.อ.ศตวรรษ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คงขอข้อเท็จจริงก่อน เพราะวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก หากมีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ทาง ตร. คงต้องดำเนินการ แต่ตามหลักตอนนี้ก็พิจารณาในกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น ดำเนินการตามระเบียบถูกต้องหรือไม่
โดยพล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หากการตรวจสอบพบการกระทำความผิด แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ 1.การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 2.กระทำความผิดวินัย ซึ่ง ผบ.ตร. สั่งให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด หากผิดอาญา ก็ส่งเรื่องให้ ปปช. หากผิดวินัย ก็ให้ลงทัณฑ์ทันที ทั้งนี้เมื่อปี 2559 สมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.น. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพนักงานสอบสวนในคดีนี้ และพบการกระทำความผิด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในบางขั้นตอน และ ปปช. ได้มีมติ ว่าเป็นการกระทำผิดวินัย ซึ่งทาง ตร. ได้ลงโทษกักขัง ภาคทัณฑ์ ไปแล้ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |