การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) กับ อนาคตภาคเกษตรไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยกำหนดนโยบายฝากอนาคตของชาติไว้กับความรุ่งเรื่องของภาคการเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นการชูธงให้ไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก เป็นครัวของโลก ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของไทยด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศ และการมีพืชผลหลากหลายพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ตามฤดูกาลตลอดทั้งปี . และล่าสุดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ระบุว่า ศักยภาพของภาคเกษตรเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญสู่ความสำเร็จในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ

หนทางก้าวสู่ความรุ่งเรืองของเกษตรไทย ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กลับต้องพบกับอุปสรรคขวากหนามในหลายด้าน ทั้งที่เป็นเหตุจากปัจจัยภายนอก และที่เป็นเงื่อนไขที่เป็นสนิมในเนื้อในของภาคการเกษตรเอง ทั้งที่เป็นความท้าทายที่พึ่งอุบัติขึ้นใหม่ และที่เป็นความอ่อนแอที่ฝังลึกอยู่ในระบบเกษตรไทยมานานแล้ว ในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ผลผลิตส่งออกทางการเกษตรของไทย ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากคู่แข่งต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงกับเรา ซึ่งได้เริ่มปฏิรูปภาคการเกษตรของตนอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเปิดรับต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคการเกษตรอีกด้วย  ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้นลงผันผวนสูง  ปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีความถี่และความรุนแรงขึ้นอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน  ซ้ำเติมด้วยภาวะที่ศักยภาพของระบบเกษตรไทยถูกกัดกร่อนจากความอ่อนแอหลายประการมาเป็นระยะเวลานาน เกษตรกรไทยจำนวนหนึ่งยังนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งให้ผลผลิตมูลค่าต่ำ ด้วยวิธีแบบดั้งเดิมที่เคยใช้มากว่า 20 ปีแล้ว  (ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ ได้นำการเกษตรสมัยใหม่มาใช้โดยธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว) แรงงานในภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำ การผลิตในภาคการเกษตรไทยมีมูลค่าประมาณร้อยละ 8.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ในปี พ.ศ. 2561)  ในขณะที่ภาคการเกษตรขับเคลื่อนด้วยแรงงานคิดเป็นจำนวนร้อยละ 32 ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ (รวมเกษตกรอาชีพและเกษตรกรบางเวลา)  ผลผลิตต่อไร่ในการปลูกข้าวเปลือกของไทยประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และยังมีต้นทุนการผลิตข้าวสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นผลจากการใช้สารเคมีที่มากเกินควร   นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยเป็นเกษตรกรรายย่อยและสูงวัย มีอายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี 

หนทางหนึ่งในการขจัดจุดอ่อนทั้งหลายทั้งปวงที่บั่นทอนศักยภาพของเกษตรไทย คือ การส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) พลิกโฉมจากการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นการเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการนำนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรและการจัดการธุรกิจการเกษตร มาเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ลดความจำเป็นในการใช้แรงงาน ยกระดับคุณภาพและคณค่าของผลผลิตเกษตร และรักษาสิ่งแวดล้อม สอดแทรกในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การเกษตร ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ระหว่างการเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว  

ในความหมายที่กว้าง การเกษตรอัจฉริยะผสมผสานการใช้เทคโนโลยีหลายประเภท อาทิเช่น เทคโนโลยสื่อสารและดิจิทัล เทคโนโลยีด้านชีวภาพ เทคโนโลยีด้านพันธศาสตร์ เทคโนโลยีด้านเคมี อุปกรณ์และเครื่องทุ่นแรงประเภทต่างๆ  เพื่อประโยชน์ในงานเกษตรด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น 1) การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีหลายประเภทเข้าด้วยกัน มาตรวจจับสถานการณ์และบริหารจัดการข้อมูลที่หลากหลาย ทำการเฝ้าติดตามสภาพความเป็นไปในแปลงเพาะปลูก เพื่อประสิทธิภาพในการปลูกและในการใช้ปัจจัยนำเข้าและทรัพยากร และเพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตามที่ต้องการ  2) การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์  3) การทุ่นแรง และเพิ่มความคล่องตัว ความรวดเร็วและความถูกต้องในการทำงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว 4) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ 5) การควบคุมคุณภาพ เช่น ระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ (Tracking & Tracking) 6) การสนับสนุนการค้าขาย เช่น ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ 7) การสื่อสารและการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารและอุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น Internet of Things

เป็นที่น่าเสียดายว่า ความพยายามผลักดันการเกษตรอัจฉริยะในไทย ยังเป็นแนวนโยบายที่ถูกกำหนดในเชิงหลักการไว้อย่างกว้างๆ  ยังขาดแผนที่นำทาง (Roadmap) ที่ฉายภาพรายละเอียดชัดเจนถึงเงื่อนเวลา เป้าหมายและขอบเขตของการดำเนินงาน และบทบาทหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และเกษตรกร   โดยภาครัฐมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการจุดประกายและวางรากฐานให้กับการพัฒนาระบบการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งภารกิจของรัฐจะมีอยู่ใน 2 ด้านหลัก  ด้านแรกเป็นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพและความครอบคลุม เอื้อให้เกษตรกรในทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม  ภารกิจด้านที่สองเป็นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรขึ้นใช้เองภายในประเทศ   ทั้งนี้ เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่ใช้งานได้ดี จะต้องถูกออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของการเกษตรที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้   เราจึงไม่ควรหวังพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งนอกจากจะมีราคาสูงเกินเอื้อมของเกษตรกรโดยทั่วไปแล้ว เทคโนโลยีนำเข้าก็อาจมีคุณสมบัติหรือความสามารถที่ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ อากาศ และประเภทของผลผลิตเกษตรไทย   รัฐต้องมีวิสัยทัศน์และแนวนโยบายที่ชัดเจนในการกำหนดว่าเทคโนโลยีกลุ่มใดที่จำเป็นจะต้องสามารถผลิตในประเทศได้  และนโยบายจะต้องลงรายละเอียดครอบคลุมตลอดวงจรชีวิต (Life cycle) ของเทคโนโลยี ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การนำไปใช้ และการบำรุงรักษา

ถึงแม้ในปัจจุบัน ได้เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉิริยะภายในประเทศบ้างแล้ว แต่ยังอยู่ในวงจำกัด และส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลเฉพาะในกลุ่มซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้งานประเภทอื่นยังมีค่อนข้างน้อย และที่สำคัญอย่างยิ่ง สถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเอง ก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทเกษตรไทย  นักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ต้องการความมั่นคงในอาชีพ จำเป็นต้องทำวิจัยที่สามารถนำผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศได้  จึงจำเป็นต้องทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่เทคโนโลยีด้านเกษตรที่สอดคล้องกับบริบทเกษตรไทยและภาวะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย อาจไม่จำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากนัก จึงไม่เป็นที่สนใจของวงการวิชาการระหว่างประเทศ

เงื่อนไขสำคัญสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉะริยะ คือ ความพร้อมของเกษตรกร  เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีลักษณะพื้นฐานที่ไม่เป็นคุณต่อการเปิดรับและปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกษตรกรจำนวนมากไม่ชอบความเสี่ยง คิดเฉพาะผลประโยชน์ระยสั้น ไม่คิดถึงอนาคตระยะยาว  กลุ่มเกษตรกรที่จะเข้าใจถึงประโยชน์ที่จากระบบเกษตรอัจฉริยะ จนถึงขั้นยอมรับและลงทุนซื้อหาระบบ และเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่  เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแบบเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmers)   ซึ่งตามนิยามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปว่าหมายถึง ผู้ที่ภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกร รู้จริงในเรื่องที่ทำอยู่ รู้จักแสวงหาข้อมูลประกอบตัดสินใจ คำนึงถึงการตลาดควบคู่ไปกับการผลิต และตระหนักถึงคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยของผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และสังคม 

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องควบคู่ไปพร้อมกันกับการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ  โดยอาจสร้างเกษตรกรปราดเปรื่องจากการปรับฐานความคิดและทักษะให้กับเกษตรกรรายเดิม และจากการปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่    ความยั่งยืนของภาคการเกษตรไทย ต้องอาศัยเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนมากมาเสริมทัพเกษตรกรรุ่นเดิมที่อ่อนแรงลงแล้ว  โดยเป็นเกษตรกรที่รู้เท่าทันโลก มีความตั้งใจ ทักษะ และความสามารถที่จะยกระดับประสิทธิภาพและคุณค่าระบบเกษตรไทย  การส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะจะช่วยลบทัศนคติเดิมๆที่มองว่า การทำเกษตรเป็นอาชีพล้าหลัง ไม่มีความก้าวหน้า และใช้แรงงานเข้มข้น  ระบบเกษตรอัจฉริยะจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เข้ามาเป็นเกษตรกรแทนคนรุ่นเดิมได้  นอกจากจะพัฒนาเกษตรกรในระดับปัจเจกชนแล้ว ยังควรสร้างสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ให้เป็นเวทีการรวมตัวกันของเกษตรกรรายย่อยในการแบ่งปันการลงทุนและการใช้เทคโนโลยีที่มีราคาสูงเกินกว่าที่เกษตรกรรายย่อยจะหาซื้อได้ด้วยตนเอง

สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"