17 เม.ย.2561- คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
นอกจากนั้น ครม.ยังให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้มี การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรืออาคารชุดตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเครื่องจักรตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องจักรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ตามที่ กค. เสนอต่อไปด้วย รวมทั้งให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา คือ 1.กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน 2.กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน 3.กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
4. กำหนดให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ไม่ใช่เป็น การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ให้แก่ 4.1 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 4 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 2 เท่า (ร้อยละ 100 ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง) 4.2 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.75 เท่า (ร้อยละ 75 ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง) 4.3 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.5 เท่า (ร้อยละ 50 ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง) 4.4 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.25 เท่า (ร้อยละ 25 ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)
ทั้งนี้ รายจ่ายที่สามารถนำไปหักรายจ่ายได้จะต้องเป็นรายจ่ายตามที่กำหนด และเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามความข้างต้นต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ควบเข้ากันหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |