อาชีวะต้านนศ.ปลดแอก เตือนก้าวล่วง-ซ้ำตุลา19


เพิ่มเพื่อน    

  กลุ่มอาชีวะช่วยชาตินัดชุมนุม 30 กรกฎา. ประกาศปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อต้านม็อบเยาวชนปลดแอกก้าวล่วงเกินขอบเขต หวั่นอาจซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา 19  "อธิการบดี ม.รังสิต" วอนนักเรียนนักศึกษาแยกแยะ วิพากษ์วิจารณ์เฉพาะการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ตามสิทธิที่ควรทำ แต่อย่าก้าวล่วงสถาบันหลัก "สุภรณ์" จวกยับ "จาตุรนต์" พวกอีแอบยุให้ท้ายชุมนุมไล่นายกฯ

    กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2563 เรื่อง “เพื่อประชาธิปไตยด้วยใจที่จงรักภักดี” โดยมีเนื้อหาระบุว่า  จากการที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกและ สนท. ได้จัดกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ขึ้น และต่อมาได้เกิดการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และมวลชน ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น
    กิจกรรมดังกล่าว แม้จะยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ปรากฏหลักฐานและข้อเท็จจริงว่า มีการแสดงออกเพื่อต้องการท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม และมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จ และ fakenews เพื่อปลุกระดมให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและจุดประสงค์ของการชุมนุมเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคมไทย
    แต่กระนั้น ทางแกนนำการชุมนุมกลับบ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธ โดยยืนกรานเหมือนไม่รู้ไม่ชี้กับหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้แต่น้อย ซึ่งการกระทำที่ท้าทายและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนี้ สร้างความสับสนและความเป็นกังวลให้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้างว่าจะส่งผลต่อการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก รวมถึงการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะตามมา ซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริงที่กระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนในวงกว้าง
    ทางกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ซึ่งมีความจงรักภักดีและเห็นว่า ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังเป็นหมุดหมายที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น ทางกลุ่มอาชีวะช่วยชาติมิได้ต่อต้านการชุมนุมทางการเมืองด้วยเจตนาเพื่อรักษาประชาธิปไตย แต่ต้องตระหนักถึงการกระทำที่ไม่ก้าวล่วงไปในขอบเขต ที่อาจนำสังคมไทยเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงเหมือนเมื่อครั้งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
    ทั้งนี้ ทางกลุ่มอาชีวะช่วยชาติจะเคลื่อนไหวโดยจะดำเนินกิจกรรมให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเจตนาที่แท้จริงและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือในการต่อต้าน ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
    นอกจากนี้ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติยังประกาศนัดชุมนุมวันที่ 30 ก.ค. เวลา 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
    นายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มอาชีวะช่วยชาตินัดชุมนุม 30 ก.ค.ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ? รองนายกฯ ระบุว่าการชุมนุมจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถือเป็นหลักขั้นพื้นฐานที่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายและกติกา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีปัญหาอะไร ทั้งนี้? ในช่วงนี้จะมีการใช้พื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น แต่เรามีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.โรคติดต่อ? และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คนที่จะจัดกิจกรรมก็จะต้องทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ ไม่ทำผิดกฎหมาย
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของรัฐบาลจะต้องมีการจับตาการชุมนุมเป็นพิเศษหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า รัฐบาลจะดูแลภาพรวมให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย การใช้สิทธิตามกฎหมาย คนที่เห็นต่างมาชุมนุมอาจจะต้องมีการอดทน อดกลั้น และรับฟังความเห็นต่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยเจ้าหน้าที่จะช่วยดูแลไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไร
    "รัฐบาลเปิดกว้างให้สามารถทำกิจกรรมได้ และเราเชื่อว่าจะมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างคึกคัก จนกว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น หากไม่มีอะไรผิดกฎหมาย สามารถใช้สิทธิ์ได้ รัฐบาลไม่ได้ห้ามปรามอะไร ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายอยู่แล้ว ฝ่ายความมั่นคงจะดูในภาพรวมสถานการณ์กว้างๆ ทั่วไป แต่อาจจะต้องมีกรณีการชุมนุมที่กังวล เช่น กรณีการชุมนุมที่กระทบกับสถาบัน" ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงกล่าว
         วันเดียวกัน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานรัฐสภา แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการชุมนุมของเยาวชนนักเรียนนักศึกษาที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ในช่วงเวลานี้ว่า ขอนักเรียนนิสิตนักศึกษาและพี่น้องประชาชนไทย ได้โปรดแยกแยะการวิพากษ์วิจารณ์ และประท้วงเรื่องการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพและควรได้รับการส่งเสริมให้กระทำได้ แต่ต้องแยกแยะออกจากการก้าวล่วงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันชาติ ศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด และพระมหากษัตริย์ยึดโยงกัน การก้าวล่วงโดยมีเจตนาเพื่อล้มสถาบันหนึ่งสถาบันใดย่อมหมายถึงการล้มทั้งชาติด้วย
    “ผมเชื่อมั่นและมั่นใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปณิธานและความรับผิดชอบต่อชาติสูงยิ่ง ขอให้พวกเราทุกคนให้โอกาสและการสนับสนุนพระองค์ท่านด้วย” ดร.อาทิตย์ระบุ
    ขณะที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ระบุว่า ประชาชนจะไม่ทนกับพวกล้มเจ้า 2 ประเภท 1.พวกล้มเจ้าที่แอบแฝงกับม็อบ เพื่อบิดเบือนให้เห็นว่าคนในม็อบจำนวนมากนั้นเป็นพวกล้มเจ้า พวกนี้มีราว 10 คนแฝงอยู่ในม็อบ และรับคำบงการจากต่างประเทศ พวกนี้อีกไม่นานจะถูกประชาชนจัดการกันเอง
    2.พวกโหนเจ้า ที่แอบอ้างความจงรักภักดีบังหน้า แต่แท้จริงสร้างศัตรูให้กับเจ้า ผลักไสประชาชนไปเป็นศัตรูกับเจ้า ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ล้มเจ้ามาแล้วในเนปาล แต่เพิกเฉยไม่จัดการใดๆ กับพวกล้มเจ้าตัวจริงที่ประกาศเปิดหน้าทาง facebook โจ่งแจ้งอยู่ในขณะนี้ พวกนี้เปิดหน้าเล่นประจำในขณะนี้เหลือแค่ 10 คน ส่วนคนมีอำนาจหน้าที่ ถ้ายังประพฤติเช่นนี้ยังจะมีหน้าเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ อีกหรือ
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวหานายกฯ คุกคามเด็ก รวมถึงให้คืนประชาธิปไตยให้ประเทศว่า นายจาตุรนต์เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ทำไมจึงชอบทำเป็นแผ่นเสียงตกร่อง หรือกลัวโลกจะลืมตนเอง จึงพยายามออกสื่อโจมตีรัฐบาล
     นายสุภรณ์กล่าวต่อว่า การที่นิสิตนักศึกษาออกมาชุมนุม ก็ไม่เห็นมีใครไปห้ามหรือไปคุกคามสิทธิแต่อย่างใด และวันนี้แม้รัฐบาลจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อใช้ในการควบคลุมไวรัสโควิดที่ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อและความปลอดภัยให้ประชาชนอย่างเข้มข้น ไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินเพื่อห้ามการชุมนุม แต่การชุมนุมต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายบ้านเมือง และอย่าก้าวล่วงสถาบันฯ
    "ดังนั้นจึงขัดแย้งกับสิ่งที่นายจาตุรนต์กล่าวหาว่าไปคุกคามประชาชน ทั้งที่รัฐบาลไม่ได้คุกคามอะไรเลย มีแต่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังถูกคุกคามจากคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์"
    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภาคืนประชาธิปไตยให้ประเทศนั้น วันนี้นายจาตุรนต์ก็เห็นอยู่ว่าประเทศปกครองโดยประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลก็บริหารบ้านเมืองได้อย่างปกติมีเสถียรภาพ สภายังเปิดประชุมได้อย่างปกติ จะมีเหตุอะไรที่จะต้องยุบสภาให้มีการตั้งใหม่ เอาภาระไปให้ประชาชนเดือดร้อน
    ขณะนี้ก็พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็ลงพื้นที่หาเสียงเตรียมส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นอย่างคึกคักภายในไม่ช้านี้ นี่คือบรรยากาศของประชาธิปไตย เป็นการสร้างประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการปกครอง ขณะที่การเมืองระดับชาติ ก็มีการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สมุทรปราการ นี่ก็เป็นประชาธิปไตยที่กำลังจะมีการเลือกตั้งของประชาชนที่กำลังจะเกิดขึ้น มิใช่เผด็จการอะไรเลย
        "ผมอยากถามว่า นายจาตุรนต์เอาอะไรมาคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเผด็จการ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มาตามรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญปี 60 ก็มาจากประชาพิจารณ์ฉันทานุมัติของประชาชนส่วนใหญ่ และก็จัดให้มีเลือกตั้งใหญ่ทั้งประเทศ เลือกตั้งเสร็จก็ให้สภาเป็นตัวแทนประชาชนเลือกนายกฯ ต้องแข่งกับตัวแทนของพรรคการเมืองอื่นมา ไม่ใช่มาคนเดียวแบบไม่มีคู่แข่ง ก็เป็นขั้นตอนตาม รธน.ในระบอบประชาธิปไตย"
      นายสุภรณ์กล่าวต่อไปว่า วันนี้แม้นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่เมื่อมีคนเรียกร้องว่ารัฐธรรมนูญยังมีข้อบกพร่องต้องแก้ไข ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้านก็ได้ร่วมกันผ่านญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแนวทางการแก้ไขแล้ว หากนายจาตุรนต์และนักศึกษาบางคนมีอะไรอยากจะเสนอแก้ไขประเด็นไหน ก็ให้เสนอผ่าน กมธ.คณะนี้ได้ นี่แหละคือประชาธิปไตยที่แท้จริง
    ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังดำเนินการขอให้นายจาตุรนต์ หยุดกล่าวหาแบบเลื่อนลอยไร้ข้อเท็จจริงเสียที ควรทำตัวเป็นตัวอย่างแก่นิสิตนักศึกษา ว่าระบบรัฐสภาเป็นช่องทางให้เดิน มิใช่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนที่จะทำให้บ้านเมืองเสียหายเดือดร้อนส่งผลถึงประชาชนที่ทำมาหากินเพิ่มขึ้นไปอีก ทุกอย่างต้องมีกติกาไม่ใช่ทำตัวยุยงปลุกปั่นให้มีการเคลื่อนไหวจนทำให้วุ่นวายอีก เพียงหวังตนเองจะได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีหรือมีอำนาจการเมืองเหมือนในอดีตใช่หรือไม่
    "เพราะตอนนี้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ นายจาตุรนต์เลยว่างมากไปหรือเปล่า พอเสียทีเถอะกับประชาธิปไตยตามโมเดลของนายจาตุรนต์ ที่เปิดโอกาสให้คนแค่บางกลุ่มไม่กี่คนเข้ามามีอำนาจเพื่อโกงกินบ้านโกงกินเมือง ซึ่งนายจาตุรนต์ก็รู้ดีที่ผมพูดแปลว่าอะไร ในความหมายประชาธิปไตยแบบโกงกินบ้านโกงกินเมือง จนประเทศชาติเสียหายย่อยยับเหมือนที่ผ่านมา คงไม่ต้องให้คนอย่างแรมโบ้อธิบายมากกว่านี้นะครับ" นายสุภรณ์กล่าว
    ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่การชุมนุมของกลุ่มประชาชนและคนรุ่นใหม่ รวมถึงหลายพรรคการเมืองเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาฯ มีกรอบเวลาที่จะได้ข้อสรุปผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าวภายในกลางเดือน ก.ย.นี้ โดยระหว่างนี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมาธิการฯ กำลังลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งก็ต้องรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาชุมนุมด้วย
        อย่างไรก็ตาม ตนกังวลอยู่เรื่องเดียวคือต้องตอบคำถามให้ได้ว่าประชาชนจะได้อะไรจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และประเทศจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ เพราะต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้ประโยชน์ ซึ่งการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้น้ำหนักในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมในการขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถูกนำเสนอให้กรรมาธิการพิจารณาอยู่แล้ว
     ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางคนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเป็นเจ้าภาพการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลคงให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้ารัฐบาลทำเอง อาจมีข้อครหาได้ว่ารัฐบาลจะแก้ไขเพื่อประโยชน์ตัวเองหรือไม่ ขณะเดียวกัน ในสภาผู้แทนราษฎรก็มี ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนอยู่แล้ว
    เมื่อถามว่า คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมควรรอให้ กมธ.วิสามัญฯ สรุปผลการศึกษาเรื่องนี้ออกมาก่อนหรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า สามารถดำเนินการคู่ขนานกันได้ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถรอดูก่อนว่าข้อสรุปความคิดเห็นของ กมธ.วิสามัญฯ เป็นอย่างไร ถ้ามีประเด็นที่ตรงกัน ก็เชื่อว่าจะทำให้การชุมนุมบรรเทาลงบ้าง แต่หากมีประเด็นที่ไม่ตรงกัน เมื่อมีโอกาสที่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถนำเสนอหรือผลักดันประเด็นของตัวเองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้
    นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องรับฟังและไม่ควรดันทุรังเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงประชาชน เพราะสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา เริ่มแผ่ขยายวงกว้างออกไปแทบทุกจังหวัด
    "ขอเตือนว่ารัฐบาลอย่าได้ใช้มาตรการใดๆ ก็ตามที่เป็นการคุกคาม หรือพยายามระงับยับยั้งขัดขวางการชุมนุม เพราะจะยิ่งเป็นเหตุให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย และขยายวงกว้างจนยากจะควบคุมดูแลได้ในที่สุด"
    นายการุณกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับชุดความคิดใหม่เสียใหม่ ที่ผ่านมาชุดความคิดเก่าของพล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้องพาประเทศไปสู่ทางตัน การเสนอแนะของนักวิชาการ นักการเมือง และผู้นำทางความคิดที่พยายามให้แนวคิดในการเดินหน้าประเทศ มักถูก พล.อ.ประยุทธ์มองข้ามไป ตนเองไม่มั่นใจว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ชอบปฏิเสธข้อเสนอแนะของคนอื่นเป็น เพราะคิดว่าตัวเองเก่งกว่าใครหรือเปล่า จึงไม่เชื่อและไม่ยอมรับฟังข้อเสนอจากใครทั้งสิ้น
    "วันนี้ทางออกที่ดีที่สุดของประเทศคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารอีกต่อไป เมื่อได้รัฐธรรมนูญแล้วก็รีบยุบสภาโดยเร็ว เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่าทางออกนี้จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อย่างแน่นอน” นายการุณกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"