ประมวลสรุปท่าทีฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะ "ตำรวจ-อัยการ" หลังคนทั้งสังคมวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมาก กรณีอัยการมีความเห็นสั่งยุติคดี-ไม่ฟ้อง "วรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง" ในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จนทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อ 3 ก.ย.2555
การสั่งยุติคดีดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมเป็นอย่างมากกับเส้นทางสำนวนคดีนี้ที่ใช้เวลาร่วม 8 ปี นับจากปี 2555 ในการสอบสวนและพิจารณาความ แต่สุดท้ายทายาทตระกูลธุรกิจดังระดับหมื่นล้านในประเทศไทยก็หลุดคดี หลังจากหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ เรื่องนี้ได้สร้างกระแสไม่พอใจให้กับคนในวงกว้างจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ถึง "ความสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย" จนเกิดวาทะเสียดสีจากสังคมดังอื้ออึง เช่น "คุกมีไว้ขังคนจน"-"เงินซื้อความยุติธรรมได้ในประเทศไทย"-"ขบวนการผีโม่สำนวน"-"เงินมาสำนวนอ่อน คดีหลุด" เป็นต้น
ความร้อนแรงของเรื่องนี้ส่งผลให้ผู้นำหน่วยสององคาพยพ ทั้งตำรวจที่เป็น "ต้นน้ำกระบวนการยุติธรรม" และฝ่ายอัยการที่เป็น "กลางน้ำกระบวนการยุติธรรม" ก้นร้อนอย่างหนัก ต้องมีการตั้งคณะทำงานในช่วงวันหยุดราชการเพื่อหวังกลบกระแสความไม่พอใจของสังคมที่ร้อนฉ่า
ฝ่ายอัยการที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงบทบาทการทำหน้าที่ของ "วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด" กับการเป็นผู้นำหน่วย "ทนายแผ่นดิน-สำนักงานอัยการสูงสุด" แต่กลับไม่ออกมาชี้แจงสังคม โดยอ้างว่าไม่รู้เรื่องเพราะติดราชการต่างจังหวัด โดยที่ก่อนหน้านี้ตอนอัยการไม่อุทธรณ์คดีกรุงไทยของพานทองแท้ ชินวัตร ตอนนั้น เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ก็ลงนามแทนวงศ์สกุล มาคดีนายวรยุทธก็ยังเป็นเนตร นาคสุข คนเดิมที่ทำความเห็นสั่งยุติคดีอีก
จนเมื่อกระแสสังคมกดดันทุกทาง สุดท้ายอัยการสูงสุดก็ใช้วิธีการเดิมๆ ของ "รัฐไทย" คือ "ตั้งคณะทำงาน-คณะกรรมการสอบ" ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นวิธีการที่ทุกหน่วยงานภาครัฐและภาคการเมืองใช้วิธีนี้เพื่อ "ซื้อเวลา-กลบกระแส" พอเรื่องเริ่มเงียบก็ทำลืมๆ ไป
สำหรับการสอบดังกล่าว ในคำสั่งอ้างว่าเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าการสั่งสำนวนคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีเหตุผลในการสั่งพิจารณาคดีอย่างไร จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี โดยมีสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
ซึ่งผลการประชุมนัดแรกของคณะทำงานฝ่ายอัยการที่ประชุมกันไปเมื่อ 28 ก.ค. ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และหนึ่งในคณะทำงาน เปิดเผยว่า คณะทำงานได้เรียกสำนวนคดีอาญาคดีดังกล่าวมาเพื่อพิจารณาว่าการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีเหตุผลการสั่งคดีดังกล่าวอย่างไร แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ จึงนัดประชุมครั้งต่อไป วันพุธที่ 29 ก.ค. พร้อมกับบอกว่าคณะทำงานชุดดังกล่าววางหลักการตรวจสอบไว้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.การพิจารณาสั่งคดีของอัยการเป็นไปตามระเบียบกระบวนการหรือไม่ 3.คณะทำงานจะพิจารณาว่ามีเหตุและผลการพิจารณาอย่างไรที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี โดยจะพยายามสรุปผลออกมาภายใน 7 วันนับหลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ที่ก็คือประมาณต้นสัปดาห์หน้า
ฟากฝั่งตำรวจ-สีกากี ซึ่งที่ผ่านมาสังคมก็แลเห็นชัดว่ามีความพยายามช่วยเหลืออำพรางคดีเพื่อช่วยทายาทกระทิงแดงตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว จนตำรวจนครบาล พื้นที่ สน.ทองหล่อ โดน ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิดกันไปหลายคน และที่ผ่านมาตำรวจก็ถูกสังคมตั้งคำถามมาตลอดหลายเรื่องในคดีนี้ เช่น การไม่เอาจริงเอาจังกับการติดตามจับกุมตัว "วรยุทธ" ที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ แต่สื่อต่างประเทศกลับสามารถบุกไปเกือบประชิดตัวเพื่อสัมภาษณ์ได้ถึงหน้าบ้านพักที่อังกฤษ หรือแม้แต่ข้อกังขาว่ามีความพยายามทำสำนวนให้อ่อน-สอบสวนเพิ่มเติมทางคดีในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเพื่อช่วยนายวรยุทธ เป็นต้น
ฝ่าย "พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร." ที่กำลังจะเกษียณในเดือนกันยายนนี้ ก็รับรู้ได้ถึงความร้อนแรงของสังคมที่ตั้งคำถามถึงการทำงานของตำรวจเช่นกันในเรื่องนี้ จนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สอดรับกับอัยการ โดยให้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน
ลูกแอคชั่นทั้งของตำรวจและอัยการข้างต้น แม้ทำท่าจะดูดี ผู้นำหน่วยรับฟังเสียงประชาชนจนไม่รอช้า ต้องออกลูกขึงขัง แต่เมื่อเป็นการตรวจสอบแบบคนภายในตรวจสอบกันเอง
"ตำรวจสอบตำรวจ"-"อัยการสอบอัยการ"
ด้วยเหตุนี้จึงห้ามไม่ได้ที่สังคมจะมีข้อกังขาว่าคณะทำงานของทั้งฝ่าย อัยการและตำรวจ จะมีลูกดึง-ซื้อเวลา ลูบหน้าปะจมูก ทำนอง “เสือไม่กินเนื้อเสือ” เกิดขึ้นหรือไม่
ขณะเดียวกัน ครั้นจะให้ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ออกลูกแอคชั่นบ้าง เช่น ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ประธาน ก.ตร. แต่หากมองให้รอบด้านก็ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของ "กระบวนการยุติธรรม" ทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ โดยเฉพาะกับ "อัยการ" ในฐานะทนายแผ่นดิน
ดังนั้นหาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกลูกแอคชั่นมากไป มองในระยะยาวก็ย่อมไม่เป็นผลดีกับตัวเองและรัฐบาล เพราะอีกมุมหนึ่งก็จะถูกมองว่าการเมืองแทรกแซง เข้าไปยุ่มย่ามการสั่งคดีของอัยการหรือไม่ ซึ่งหากรอบนี้นายกฯ ทำ แล้วต่อไปในอนาคตหากเกิดคดีความของตัวเองหรือคนในรัฐบาล หรือนักการเมืองในพลังประชารัฐ จนเรื่องไปถึงมืออัยการ แล้วผลทางคดีออกมาไม่เป็นที่สบอารมณ์ของคนบางส่วน สุดท้ายคนบางกลุ่มอาจหยิบยกเคสพลเอกประยุทธ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของอัยการในคดีบอส-กระทิงแดง มาตลบหลังเอาได้ ทำให้พลเอกประยุทธ์ก็ต้องรัดกุมพอสมควรกับการรักษาระยะห่างที่พอเหมาะในเรื่องนี้
ท่ามกลางข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ที่เริ่มทยอยออกมา เช่น ความเห็นของ “คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา” ที่ให้ทัศนะและข้อเสนอไว้ว่า หากจะใช้ระบบคณะกรรมการมาตรวจสอบก็ควรเป็น “คณะกรรมการอิสระระดับชาติ” ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒินอกองค์กรอัยการและองค์กรตำรวจอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยประธานกรรมการต้องไม่ใช่อัยการหรือตำรวจ และตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้อำนาจเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกเอกสาร เรียกสำนวนการสอบสวน และบุคคลทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจง
นายกฯ จะเอาด้วยกับข้อเสนอแนวนี้หรือไม่ หลังประชุม ครม. วันพุธที่ 29 ก.ค. ต้องรอดูกันว่าพลเอกประยุทธ์จะตอบเรื่องคดีนี้อย่างไร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |