ตัวเลขส่งออก: ผ่านจุดต่ำสุดหรือยัง?


เพิ่มเพื่อน    

          ชุดข้อมูลส่งออกของไทยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ติดลบ 23.17% ต่ำสุดใน 131 เดือน สร้างความน่าหวาดหวั่นให้เราไม่น้อย

            ตัวเลขอีกหนึ่งชุดที่ทำให้เราต้องตกใจไม่แพ้กัน ก็คือการส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งปีที่มีปริมาณ 3.14 ล้านตัน ลดลง 32% มีมูลค่า 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 12%

            มีผลให้เรากลายเป็นประเทศส่งออกข้าวตกมาอยู่ลำดับที่ 3 ของโลก รองจากอินเดียและเวียดนาม

            ยิ่งทำให้เราต้องเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก

            มีคำถามตามมาว่าไตรมาสที่สองถือว่าถึงจุดต่ำสุดหรือยัง และเราจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่สามหรือไม่

            นั่นเป็นคำถามใหญ่ที่ต้องรอคำตอบอย่างใจจดใจจ่อยิ่ง

            คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน มิ.ย.63 ที่จะต้องบันทึกเอาไว้เพื่อเปรียบเทียบกันเดือนต่อเดือนจากนี้ไป

            สำหรับเดือนมิถุนายนปีนี้การส่งออกมีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 23.17% เทียบกับเดือน มิ.ย.62 ถือเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือนนับจากเดือน ก.ค.52

            เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 520,608 ล้านบาท ลดลง 23.06%

            ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 14,833.9 ล้านเหรียญฯ ลดลง 18.05% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 475,987 ล้านบาท ลดลง 17.94%

            นั่นแปลว่าเราได้ดุลการค้า 1,610.4 ล้านเหรียญฯ หรือเกินดุล 44,621 ล้านบาท

            แม้ดุลการค้าจะเป็นบวกแต่ก็ไม่ควรจะยินดีปรีดาแต่อย่างใด เพราะตัวเลขส่งออกตกฮวบอย่างนี้ แสดงว่า "สุขภาพโดยรวม" ของการค้าไทยอยู่ในสภาพย่ำแย่ทีเดียว

            คุณพิมพ์ชนกให้ตัวเลขของ 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 63 ที่จะต้องจดเอาไว้เพื่อเปรียบเทียบกับ 6  เดือนหลังของปีเช่นกัน

            สำหรับ 6 เดือนแรกของปีนั้นการส่งออกมีมูลค่า 114,343 ล้านเหรียญฯ ลดลง 7.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 3.562 ล้านล้านบาท ลดลง 8.29%

            การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านเหรียญฯ ลดลง 12.62% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 3.269 ล้านล้านบาท

            เกินดุลการค้า 10,701 ล้านเหรียญฯ หรือ 293,152.2 ล้านบาท

            อะไรคือสาเหตุที่การส่งออกร่วงหนักเช่นนั้น?

            คำอธิบายคือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันการค้าโลกจนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเกือบทั้งโลกรวมทั้งไทย

            ที่น่ากังวลคือความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อาจทำให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง

            หากเกิดเช่นนั้นจริงก็จะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ

            อีกปัจจัยหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างสองยักษ์ใหญ่คือ สหรัฐฯ กับจีน และจีนกับอินเดีย

            อีกด้านหนึ่งราคาน้ำมันยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกลดลง

            อีกทั้งค่าเงินบาทก็แข็งตัวขึ้น หนีไม่พ้นว่ามีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            สินค้าส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

            ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก ซึ่งลดลงตามราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน

            ที่ดูจะดีหน่อยก็มีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

            ขณะเดียวกันสินค้าในกลุ่มอาหารก็ขยายตัวได้ดีเพราะความต้องการเพิ่มขึ้น

            ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล ไก่สด สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง ผัก และผลไม้

            สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านก็เพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เตาอบ ไมโครเวฟ  ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวมถึงสินค้าที่ป้องกันเชื้อโรค เช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น

            หากดูตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยก็หดตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นสหรัฐฯ กับจีนที่กลับมาส่งออกเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้น 14.5% และ 12% ตามลำดับ

            ส่วนตลาดญี่ปุ่นลดลง 21.6% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 22.7% อาเซียน (5 ประเทศ) ลด  38.8% CLMV ลด 17.8% อินเดียลด 63.1% ฮ่องกงลด 32.3% เกาหลีใต้ลด 22% ไต้หวันลด 13.3%  เป็นต้น

            "แม้มูลค่าส่งออกไทยติดลบมาก แต่หลายสินค้าและหลายตลาดมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างสินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวในแดนบวก อีกทั้งยังมีสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มดีอย่างอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ของใช้ในที่ทำงาน ในบ้าน  สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคอย่างถุงมือยาง ขณะที่การส่งออกไปประเทศคู่ค้าอย่างจีน สหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี ส่วนคู่ค้าอื่นๆ ที่เศรษฐกิจยังไม่ดี แต่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง เช่น สหภาพยุโรป จึงเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย อีกทั้งการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ คาดว่าส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วตั้งแต่เดือนที่แล้วและน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากนี้"

            ภาพรวมทั้งปีเป็นอย่างไร?

            คุณพิมพ์ชนกประเมินว่าจะติดลบมากขึ้นเป็นลบ 9% ถึงลบ 8% จากก่อนหน้าคาดลบ 6%

            กระทรวงพาณิชย์ไทยบอกว่าต้องยอมรับความจริงว่าจะไม่ขยายตัวเป็นบวกอย่างที่คาดการณ์ไว้

            โดยมูลค่าส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือจากนี้ น่าจะทำได้ประมาณ 18,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจะทำให้ทั้งปีขยายตัวเป็นลบ 8%

            ถ้าได้มากกว่านี้ การติดลบจะลดลง

            แต่ถ้าจะให้ขยายตัวเป็นบวก แต่ละเดือนต้องทำให้ได้ 21,988 ล้านเหรียญฯ

            ซึ่งก็น่าจะยัง "เป็นไปไม่ได้" ในปีนี้.

            (พรุ่งนี้: ส่งออกข้าวไทยก็กำลังโดนแซง)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"