28 ก.ค.63-นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่า 27-29 กรกฎาคม 1830 : 3 วันอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการลุกขึ้นสู้โค่นล้ม Charles X เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
ภาพเขียนที่คนรู้จักกันมากและถูกนำมาเผยแพร่ ดัดแปลง ประยุกต์ใช้กับการต่อสู้ทางการเมืองมากที่สุดภาพหนึ่ง คือ ภาพ La Liberté guidant le peuple ซึ่ง Eugène Delacroix วาดขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ปฏิวัติ 3 วันอันรุ่งโรจน์ในเดือนกรกฎาคม 1830
การปฏิวัติ 27-29 กรกฎาคม 1830 คือ การผนึกกำลังระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐนิยม ฝ่ายกษัตริย์นิยมสายเสรีนิยม-ปฏิรูป ฝ่ายกระฎุมพี ฝ่ายชนชั้นล่าง กรรมกร ฝ่ายปัญญาชน เพื่อโค่นล้มกษัตริย์ Charles X ที่มีแนวนโยบายนำพาฝรั่งเศสกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 1789 ภายใต้การสนับสนุนของปีก Ultra-Royalist
16 กันยายน 1824 หลุยส์ที่ 18 เสียชีวิต กลุ่ม Ultra-royaliste ได้ผลักดันน้องชายของหลุยส์ที่ 18 ขึ้นครองราชย์แทนในนามชาร์ลส์ที่ 10 กลุ่ม Ultra-royaliste และชาร์ลส์ที่ 10 ร่วมมือกันสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเก่าด้วยการรื้อฟื้นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ก่อนปฏิวัติ 1789 กลับมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพิธีราชาภิเษก การก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งโดนคณะปฏิวัติประหารด้วยเครื่องกีโยติน การออกกฎหมายชดเชยค่าเสียหายให้แก่เจ้าและขุนนางที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ซึ่งคำนวณกันว่าต้องใช้งบประมาณถึง 630 ล้านฟรังค์ ตลอดจนการออกกฎหมายกำหนดโทษแก่ผู้หลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ที่ขโมยหรือทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีโทษถึงประหารชีวิต นอกจากนี้ยังเพิ่มความเข้มงวดการเซ็นเซอร์สื่อและการจำกัดเสรีภาพการพิมพ์อีกด้วย
ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้ชาร์ลส์ที่ 10 ต้องยุบสภา ผลการเลือกตั้งทำให้ได้สภาที่มีสมาชิกสายปฏิรูปมากขึ้น ชาร์ลส์ที่ 10 จึงจำใจต้องตั้ง Martignac นักการเมืองนิยมเจ้าสายปฏิรูปเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชาร์ลส์ที่ 10 และกลุ่ม Ultra-royaliste ที่เห็นว่ารัฐบาลโน้มเอียงไปทางเสรีนิยม ในขณะที่กลุ่มเสรีนิยมก็มองว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายปฏิรูปแบบกระมิดกระเมี้ยน ในที่สุด Martignac จึงลาออกจากตำแหน่ง ชาร์ลส์ที่ ๑๐ ตัดสินใจตั้ง Prince de Polignac นักการเมืองกลุ่ม Ultra-royaliste ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
สมาชิกสภาประท้วงและไม่พอใจกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 10 เพราะ พระองค์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามอำเภอใจ โดยไม่ให้สมาชิกสภาลงมติให้ความเห็นชอบเสียก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล
Prince de Polignac บริหารประเทศด้วยนโยบายแข็งกร้าวตามบัญชาของชาร์ลส์ที่ 10 ทำให้สมาชิกสภาและประชาชนต่อต้านจำนวนมาก ในท้ายที่สุดชาร์ลส์ที่ 10 จึงตัดสินใจยุบสภาเพื่อผ่าทางตัน
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าฝ่ายค้านได้สมาชิกสภาเพิ่มเป็น 270 ที่นั่งจากเดิม 221 ที่นั่ง ในขณะที่รัฐบาลเก่าได้เสียงลดลงเหลือ 145 ที่นั่ง จากเดิม 181 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ คือ การแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของชาร์ลส์ที่ 10 อย่างชัดเจน แต่แทนที่ชาร์ลส์ที่ 10 จะโอนอ่อนหรือประนีประนอมตามเสียงของประชาชน กลับกลายเป็นว่า พระองค์ตัดสินใจเปิดหน้าสู้กับประชาชน ด้วยการออกประกาศพระบรมราชโองการ Saint-Cloud รวม 4 ฉบับในวันที่ 25 กรกฎาคม 1830 ได้แก่
ประกาศยุบสภา (ห่างจากยุบสภาครั้งก่อนครั้งก่อนเพียง 70 วันและหลังเลือกตั้งไม่ถึงเดือน)
ประกาศยกเลิกเสรีภาพการพิมพ์
ประกาศจำกัดผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เฉพาะคนที่เสียภาษีเกิน 300 ฟรังค์ ประมาณการกันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 25,000 คน
ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน 1830
กล่าวกันว่าประกาศทั้ง 4 ฉบับเสมือนเป็นการรัฐประหารโดยชาร์ลส์ที่ 10 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจำนวนมาก
ในที่สุดนักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน กรรมกร ชนชั้นกระฎุมพี ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม ฝ่ายกษัตริย์นิยมสายปฏิรูป จึงรวมตัวกันโค่นล้มชาร์ลส์ที่ 10 โดยใช้เวลาเพียง 3 วันตั้งแต่ 27 – 29 กรกฎาคม 1830
ชาร์ลส์ที่ 10 และครอบครัวลี้ภัยไปประเทศอังกฤษ เกิดข้อถกเถียงกันว่าฝรั่งเศสจะยังคงมีกษัตริย์ต่อไปหรือเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง ในท้ายที่สุด นักการเมืองปีกเสรีนิยมนำโดย Adolphe Thiers, François Guizot, Talleyrand, Lafayette รีบเข้าช่วงชิงการนำจากฝ่ายสาธารณรัฐนิยม พวกเขาสนับสนุนให้มีกษัตริย์ต่อไป เพราะ เกรงว่าหากก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นมาทันที อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรง และกลายพันธุ์เป็นเผด็จการอำนาจนิยมเหมือนสมัย Bonaparte ได้ รวมทั้งอาจถูกประเทศมหาอำนาจอื่นในยุโรปที่ยังมีกษัตริย์อยู่เข้าโจมตีได้อีก
ฝ่ายกระฎุมพีเสรีนิยมมองว่า ฝรั่งเศสต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญให้ได้ จึงตัดสินใจเชิญเจ้าสายราชวงศ์ออร์เลอองอย่างหลุยส์ ฟิลิปป์ขึ้นเป็นกษัตริย์ พร้อมกับออก Charte ลงวันที่ 14 สิงหาคม 1830 ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแทน
เราเรียกระบอบนี้ว่า “ Monarchie de Juillet” เพราะเหตุการณ์ที่ประชาชนร่วมกันขับไล่ชาร์ลส์ที่ ๑๐ เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม (Juillet)
โดย Thiers ยืนยันลักษณะกษัตริย์ของระบอบใหม่นี้ด้วยประโยคที่นิยมใช้แพร่หลายกันจนถึงทุกวันนี้ว่า
"กษัตริย์ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง" หรือ "กษัตริย์ครองราชย์ แต่ไม่ครองรัฐ".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |