เปิดร่างพรบ.ปฏิรูปตำรวจ บี้นายกฯเร่งนำเข้ารัฐสภา


เพิ่มเพื่อน    

  เปิดร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับล่าสุด กำหนดให้เจ้าพนักงานหลายหน่วยเป็น ตร.ไม่มียศ แบ่งสถานีเป็น 3 ระดับให้ ปชช.ประเมินผลปฏิบัติงาน แต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้กระทำในสายงานเป็นหลัก แบ่งเป็น 3 สายงาน ภายใน 5 ปีโอนงานจราจรให้ กทม. พัทยา เทศบาลนครต่างๆ ให้แล้วเสร็จ "วิรุตม์" ชี้ก้าวหน้าระดับหนึ่งควรนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาเสียที "คำนูณ" บี้นายกฯ เลือกหนึ่งในสี่แนวทาง ย้ำถึงเวลาปฏิรูปฟื้นศรัทธา ปชช.

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ผู้ต้องหาขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ในขณะที่สำนักงานตำรวจก็ไม่มีความเห็นแย้ง จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เร่งดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง โดยเฉพาะตำรวจซึ่งเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม
    ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เมื่อ 22 พ.ค.57 จนกระทั่งหลังได้อำนาจรัฐแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นพิจารณาดำเนินการปฏิรูปรวม 13 ด้าน และที่สำคัญด้านหนึ่งคือการปฏิรูปตำรวจ
    เริ่มด้วยสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน ได้สรุปผลการพิจารณาเสนอให้รัฐบาลดำเนินการโอนตำรวจ 12 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามหลักสากล เช่น ตำรวจจราจร, ตำรวจทางหลวง, ตำรวจน้ำ, ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ, ตำรวจรถไฟ, ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค, ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบและส่งให้ ผบ.ตร.ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2558 แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
    ต่อมาหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้ ได้มีการแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานการปฏิรูปตำรวจ ตามที่มาตรา 258 (ง) บัญญัติไว้ เสนอรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในระยะเวลาหนึ่งปีตามที่กำหนด แต่ว่าไม่ถูกใจนายกฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่อีกชุดเมื่อเดือนก.พ.61 จำนวน 16 คน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานการปฏิรูปพร้อมร่าง  พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เสนอไปให้พิจารณากว่าสองปีแล้ว  แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการนำเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมาย
    และเมื่อวันที่ 22 ส.ค.62 หลัง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ.  … จำนวน 13 คน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานเช่นเดิม และได้พิจารณาร่างปฏิรูปทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว
    สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับล่าสุด มีทั้งสิ้น 173 มาตรา คือ มาตรา 9  กำหนดให้เจ้าพนักงานหลายหน่วยเป็นตำรวจประเภทไม่มียศ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล งานพิสูจน์หลักฐาน งานการศึกษาและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
    มาตรา 13 กำหนดให้การจัดทำแผนงานของกองบังคับการตำรวจจังหวัดต้องหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าสถานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    มาตรา 14 แบ่งสถานีตำรวจเป็น 3 ระดับ ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ การเลื่อนตำแหน่งครั้งแรกต้องขึ้นขนาดเล็กก่อน ต่อมาอีกสองปีจึงเลื่อนไปขนาดกลางและใหญ่ตามลำดับ (มาตรา 74)
    มาตรา 24 ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (คพ.ตร.) มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้าย รวมทั้งการลงโทษทางวินัย
    มาตรา 36 ให้มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กร.ตร.) มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของตำรวจทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่และการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสมในกรณีต่างๆ
    มาตรา 54 การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้กระทำในสายงานเป็นหลัก แบ่งออกเป็นสามสายงาน ได้แก่ บริหาร อำนวยการ สอบสวน ป้องกันอาชญากรรม และวิชาชีพเฉพาะ
    มาตรา 75 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมประเมินผลให้คะแนนการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ 30  คะแนน และนำไปเป็นคะแนนรวมในการประเมินผลประจำปี ใช้เป็นข้อมูลและหลักฐานประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี
    มาตรา 158 ภายในหนึ่งปีให้ยุบ บก.ตำรวจรถไฟลงทั้งหมด มอบหมายภารกิจให้การรถไฟรับไปดำเนินการแทน
    มาตรา 160 ภายในสองปีให้ สตช.ทำความตกลงกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการโอนและมอบหมายงานบางส่วนให้ไป หากทำไม่สำเร็จในสองปี ให้ยุบ บก.ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลง    
    มาตรา 161 ภายในห้าปีให้โอนงานจราจรให้ กทม. เมืองพัทยา และเทศบาลนครต่างๆ ให้แล้วเสร็จ
    มาตรา 162 ภายในห้าปีให้โอนงานการขออนุญาตและการจดทะเบียนสถานบริการต่างๆ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไป หากทำไม่เสร็จตามระยะเวลา ให้อำนาจการอนุญาตนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง
    ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ  และปัจจุบันเป็นอนุกรรมาธิการการยุติธรรม ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจให้ก้าวหน้าขึ้นระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ถึงขั้นเป็นตำรวจจังหวัดสอดคล้องกับระบบตำรวจในประเทศที่เจริญทั่วโลก   แต่ก็ควรให้ผ่านไปก่อน ส่วนที่เหลือประชาชนก็ต้องเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพิ่มเติมต่อไปเมื่อได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในอนาคต ซึ่งปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ตำรวจดังกล่าวอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี ซึ่งควรจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาเสียที หลังจากที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานกว่าหกปี
    นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตโฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ซึ่งถือเป็นกฎหมายการปฏิรูปมาตรา 258 (ง) ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ภายหลังคณะกรรมการโดยมีนายมีชัย  ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้จัดทำขึ้นว่า ขณะนี้ทราบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นชอบในหลักการ แต่ยังมีข้อสังเกตในเชิงไม่เห็นด้วย และเรื่องยังอยู่ในสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็ทราบความคืบหน้าเพียงแค่นี้ ทั้งที่เลยเวลาที่จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 1 ปีหลัง รธน.60 ประกาศใช้
    นายคำนูณกล่าวต่อว่า นายกฯ ควรตัดสินใจเรื่องการปฏิรูปตำรวจได้ในช่วงนี้ ควบคู่กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหลังเกิดคดีดัง เพื่อฟื้นวิกฤติศรัทธาต่อองค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรม และเยียวยาความรู้สึกของพี่น้องประชาชนจากเหตุการณ์นี้ที่เสียไป ด้วยข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1.ส่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ได้พิจารณา และให้ตำรวจที่ไม่เห็นด้วยมาร่วมพิจารณาในชั้น กมธ.วิสามัญ ในฐานะที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 2.ส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดำเนินการเพื่อปรับแก้แล้วส่งกลับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง 3.ตั้งคณะกรรมการชุดที่ 4 ขึ้นทำหน้าที่พิจารณาปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับอีกครั้ง และ 4.ชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน
    "ถึงเวลาที่นายกฯ ต้องเลือกทางใด เพราะเลยเวลามา 2 ปีเศษแล้ว ด้วยเหตุผลใด ควรต้องบอกกล่าวกับพี่น้องประชาชนและวุฒิสภา ที่มีหน้าที่ในการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้ชัดเจน" นายคำนูณกล่าวย้ำ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"