บริหารESGเพื่อความยั่งยืน ป้องกันความเสี่ยงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

การปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ยั่งยืนอาจก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มต่อธุรกิจ ทั้งต้นทุนการผลิต การวิจัยพัฒนา และการตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่น่าจะส่งผลบวกต่อองค์กรในระยะยาวในหลายมิติ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืนเพิ่มขึ้น ภายใต้บริบทเศรษฐกิจปัจจุบันที่ธุรกิจต้องเผชิญความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เนื่องจากกระแสของผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก

 

 

      ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของมนุษย์ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละประเทศต่างหันมาให้ความสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในตัวชี้วัดเพื่อประเมินประสิทธิผลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมได้แก่ ดัชนี EPI (Environmental Performance Index) สำหรับประเทศไทย ดัชนี EPI ในปี 2563 อยู่ที่ลำดับ 78 ของโลก ปรับตัวดีขึ้นจากลำดับ 121 แม้ว่าภาพรวมระดับประเทศจะอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของโลก แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลากหลายที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากในพื้นที่กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในภาคเหนือ ปัญหาการจัดการน้ำและภัยแล้งที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัญหาการจัดการขยะและของเสียที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภค

      ดังนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า ไทยยังต้องยกระดับการจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบระยะสั้น ควบคู่ไปกับมาตรการการจัดการที่ยั่งยืน เพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาในระยะยาว โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้ว่าภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม แต่บทบาทของภาคธุรกิจที่หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการอย่างยั่งยืนจะทวีความสำคัญมากขึ้นกว่าการทำกิจกรรม CSR เนื่องจากการจัดการธุรกิจที่ยั่งยืนจะส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การออกแบบสินค้าและบริการ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะยาว และคาดว่าการปรับตัวของภาคธุรกิจจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน

      ในภาวะปัจจุบันที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญความยากลำบากจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอยู่รอดและจัดการความเสี่ยงเฉพาะหน้าเป็นลำดับแรก สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัว การนำแนวทางการจัดการเพื่อความยั่งยืน ESG ที่มีองค์ประกอบความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม, สังคมและธรรมาภิบาลมาช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งจะกลายเป็นข้อได้เปรียบหนึ่งของธุรกิจในระยะยาว

      อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวและแหล่งที่มาของสินค้า รวมถึงผลกระทบจากการบริโภคสินค้าตลอด Life Cycle จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมากกว่า 37% ของกลุ่มตัวอย่างเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสินค้าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดยุคใหม่ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อและพฤติกรรมผู้บริโภค

      นอกจากนี้ เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมยังกลายเป็นปัจจัยกดดันจากมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Measures หรือ NTMs) ระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในแทบทุกประเภทสินค้า เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า คุ้มครองผู้บริโภค และคำนึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย เช่น มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ที่กำหนดให้การเพาะปลูกจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นการรุกผืนป่า ไม่มีการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น และพบว่ามาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีกว่า 57% ที่บังคับใช้กับสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหาร, กลุ่มพลาสติก ยางและเรซิ่น และกลุ่มสารเคมี ซึ่งแสดงถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทยใน 3 กลุ่มที่กล่าวมา หากไม่มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับมาตรการดังกล่าว ที่น่าจะมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นต่อเนื่อง ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก

      ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ยั่งยืนอาจก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มต่อธุรกิจ ทั้งต้นทุนการผลิต การวิจัยพัฒนา และการตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่น่าจะส่งผลบวกต่อองค์กรในระยะยาวในหลายมิติ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืนเพิ่มขึ้น ภายใต้บริบทเศรษฐกิจปัจจุบันที่ธุรกิจต้องเผชิญความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เนื่องจากกระแสของผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก

      อย่างไรก็ดี การจัดการธุรกิจที่ยั่งยืนที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจจดทะเบียน ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการกำหนดมาตรฐานการประเมินด้านความยั่งยืนและส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในรายงานประจำปี นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านความยั่งยืน ก.ล.ต.ได้มีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (Filing) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 สำหรับการเสนอขายตราสารหนี้ 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่านการระดมทุน

      ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในประเทศไทยเริ่มมีการออกหุ้นกู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจยั่งยืน และตอบโจทย์นักลงทุนที่หันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ธุรกิจยังมีการปรับใช้แนวทางการจัดการที่ยั่งยืนตามหลัก ESG ที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้ โดยส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากดัชนี SETTHSI หรือ SET Thailand Sustainability Investment ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และผ่านเกณฑ์สภาพคล่องที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ที่จำนวนหลักทรัพย์และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ตามเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

      โดยธุรกิจในกลุ่มพลังงาน ธนาคารและการเงิน และโทรคมนาคม มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของ SETTHSI จากการเติบโตของ SETTHSI สะท้อนได้ว่า ปัจจัยด้านการจัดการที่ยั่งยืนได้เข้ามามีผลต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจในแง่ของ sentiment การลงทุนในหุ้นที่ยั่งยืน รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคถึงจุดยืนขององค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของเงินทุน

      จากการประเมิน EPI ซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ไทยยังคงต้องพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในหลายด้านที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพอากาศ การจัดการของเสีย ทั้งนี้จากการพิจารณาปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ ประกอบกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของไทย ซึ่งสัดส่วนภาคการผลิตที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ในมิติปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาฝุ่นละอองในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตรกรรม พลังงานและขนส่ง เป็นหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร พลังงานและการขนส่ง สารเคมี และพลาสติก จะเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งหากทำได้ก็จะก่อให้เกิดทั้งความได้เปรียบต่อธุรกิจเองในระยะยาว รวมถึงส่งผลในทางบวกต่อความยั่งยืนโดยรวมของประเทศ และน่าจะส่งผลให้ระดับการประเมิน EPI ของไทยดีขึ้นได้ในอนาคต

      กล่าวโดยสรุป ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และหาแนวทางการจัดการที่ยั่งยืนเพื่อป้องกันในระยะยาว โดยภาคธุรกิจถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจยั่งยืน ที่ส่งผลต่อทั้งการผลิตและพฤติกรรมผู้บริโภค ประกอบกับปัจจัยกดดันจากความตระหนักต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระดับโลกก็ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของธุรกิจโดยนำหลักการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนเข้ามาใช้ควบคู่ไปกับนโยบายของภาครัฐ น่าจะส่งผลในทางบวกต่อเนื่องไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศที่มีความพยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อการประเมินดัชนี EPI ของไทยซึ่งจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุนอีกด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"