27 ก.ค.63-ชง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ เข้า ครม. พิจารณาต้นเดือนส.ค.นี้ "ณัฏฐพล"เผยปรับเนื้อหาบางส่วนให้รองรับ การนำระบบเรียนออนไลน์มาใช้ และเป้าหมายเพิ่มผู้เรียนอาชีวะ รวมทั้งนำผลกระทบโควิด -19 มาถอดบทเรียนด้วย ด้าน"สุภัทร" ระบุแผนขับเคลื่อนการศึกษาชาติ 20ปี (2561-2580) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ เป็นแผนสำคัญลำดับ 2 เทียบเท่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ว่า ตามที่สภาการศึกษา (สกศ.) ได้เสนอรายงานการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มาให้ตนพิจารณาแล้วนั้น พบว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ตนมีความเห็นว่า ควรนำบางส่วน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับการสถานการณ์ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป มีการนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้มากขึ้น ดังนั้นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ก็จะต้องมีการรับรองในเรื่องเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ตนยังให้ความเห็นในส่วนของการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาที่จะต้องมีการปรับแนวทาง สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาต่อในสายอาชีพที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ
“อย่างไรก็ตาม จะขอทบทวนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ในรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะเสนอได้ช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ และเมื่อร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว ก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป”รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า ในการประชุมสภาการศึกษา (สกศ.) วันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ตนจะนำแผนการศึกษาชาติ (2561-2580) ซึ่งมีการปรับมาจากแผนเดิมที่มีการยกร่างไว้เมื่อ พ.ศ.2560 โดยการปรับในครั้งนี้จะดำเนินการให้สอดรับการแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) และแผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงจะมีการกำหนดตัวชี้วัดในลักษณะโรดแมป เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามแผนการศึกษาชาติฉบับนี้ ทั้งนี้แผนดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว และจะนำมาพิจารณาในที่ประชุม สกศ. อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่าจะเร่งดำเนินการยกร่างแผนการศึกษาชาติให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะแผนดังกล่าว ถือเป็นแผนหลักของการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ ที่ สกศ.คาดหมายว่าจะเป็นแผนลำดับ 2 เทียบเท่ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สกศ.จะนำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับปรับปรุงเสนอที่ประชุม สกศ.ด้วย เนื่องจากแผนเดิมที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เสนอไปนั้น ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2561 ดังนั้น สกศ.จึงได้นำมาปรับแต่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และอาจจะมีการรวมในบางหัวข้อ เช่น ยุทธศาสตร์ที่ 7 มีการรวมเรื่องการสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลให้แก่พลเมืองไทย และการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ให้อยู่ในหัวข้อเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีที่ประชุม สกศ.ให้ความเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไป คือ การนำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสนอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา และเสนอต่อให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
“ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สกศ.เองได้มีการถอดบทเรียนนำมาปรับปรุงแผนต่างๆ ที่จะใช้สำหรับการขับเคลื่อนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษาทางไกล (Distance Learning) จะต้องมีการนำมาใช้มากขึ้น ในกรณีที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนได้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก และครูจะต้องมีการปรับตัวกับการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ จะต้องทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจเรียนในขณะที่เด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ซึ่งในส่วนของ สกศ.ก็มีการรวบรวมสื่อการเรียนการสอนที่มีความโดดเด่น เพื่อที่จะออนไลน์ให้แก่ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษา หรือครู สามารถดาวโหลดไว้เป็นแนวทาในการปรับการสอนให้แก่เด็กได้”เลขาฯ สกศ.กล่าว