นักวิจัยจุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลกสิ่งประดิษฐ์คิดค้นแห่งเจนีวา ในผลงานนวัตกรรม “BioGreenoTech” ทำสมุนไพรให้เพิ่มปริมาณและยับยั้งการสลายตัวของสารออกฤทธิ์ได้สำเร็จ ทดลองในกระเทียม กระชายดำ ไพล และสมุนไพรอื่นๅอีกมาก
ศ. ดร. นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม และอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วยคณะวิจัยได้แก่ นางสาวอุฬาริกา ลือสกุล นายศักดิ์ชาย หลักสี นำนวัตกรรม “ BioGreenoTech” คว้ารางวัล Special Prize จาก SPACE Research Institute of RAS และรางวัลเหรียญเงิน ในการประกวดรางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก ภายใต้ชื่อ “International Exhibition of Invention of Geneva” ครั้งที่ 46 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-16 April 2018 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีผู้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงมากกว่า 1,000 สิ่งประดิษฐ์และมี Licences ที่พร้อมขายภายในงาน มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านยูโร มีผู้เข้าชมงานราว 30,000 คนจากทั่วโลก ทีมวิจัยเผยพร้อมนำผลงานวิจัยดังกล่าวออกสู่เชิงพาณิชย์ ตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งสนับสนุน พัฒนาธุรกิจจากเทคโนโลยีและงานวิจัย โดยเปิดกว้างให้ผู้สนใจนำไปต่อยอด
สำหรับ นวัตกรรม BioGreenoTech (ไบโอกรีนโนเทค) ว่าเป็นกระบวนการทรีทเม้นท์สมุนไพรเพื่อเพิ่มปริมาณ หรือยับยั้งการสลายตัวของสารออกฤทธิ์สำคัญในสมุนไพร นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนกลิ่นของสมุนไพรให้มีความละมุนอโรมา ตามชนิดของสมุนไพรชนิดนั้น ๆ รวมถึงจะได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนกระบวนการผลิต และที่สำคัญคือกระบวนการดังกล่าวจะเข้ามายกระดับและพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรไทยให้อยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพ มาตรฐาน และความเสถียรของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
"กระบวนการ BioGreenoTech มีจุดเด่นคือ เป็นกระบวนการสีเขียว ไม่ใช้สารเคมีหรือความร้อนสูง และไม่ใช้เครื่องจักรราคาแพง เหมาะสำหรับการนำมาใช้กับสมุนไพรชนิดหัว อาทิ กระเทียม ไพล ขมิ้น กระชายดำ เป็นต้น "ศ.ดร.นงนุชกล่าว
ผอ.หลักสูตรเทคโนโลยีกล่าวอีกว่า BioGreenoTech ยังเป็นกระบวนการที่จะเข้ามาปฏิวัติและพลิกโฉม กระบวนการสกัดสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรทั่วไป คือ ในอดีตกระบวนการสกัดสมุนไพรจะต้องสกัดสารด้วยตัวทำละลาย ต้องใช้ตัวทำละลายปริมาณมาก จากนั้นต้องกรองระเหยโดยลดความดันออก ต้องใช้ความร้อน และเวลานาน เพื่อให้ได้สารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์เพียงพอ หลังจากนั้นก็จะนำสารสกัดดังกล่าวไปเติมสารเพิ่มปริมาณ หรือนำไปตอกเม็ด บรรจุแคปซูล ซึ่งสมุนไพรประเภทหัว ปริมาณสารออกฤทธิ์ก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ปลูก สถานที่ปลูก ฤดูที่เก็บ บางที่พ่อค้าหัวหมอก็ผสมอะไรมาอีก เก็บมาก่อนเวลาอีก ทำให้เสียเวลาสกัด เสียเงิน แล้วสารสกัดที่ได้ก็น้อย หากปริมาณสารไม่เพียงพอจำเป็นต้องทำการสกัดซ้ำ ที่สำคัญคือ ในขั้นตอนการสกัดอาจสูญเสียสารสำคัญบางตัวไป
ที่ผ่านมาทีมงานวิจัยได้มีการทดสอบนำกระบวนการนี้ไปทดสอบกับกระเทียม พบว่า กระเทียมที่ผ่านกระบวนการ BioGreenoTech จะมีสารออกฤทธิ์อัลลิอิน (alliin) สูงกว่า ซึ่งกระเทียมที่มีอัลลิอินสูงกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน และยุโรป โดยจากงานวิจัยก่อนหน้านี้พบอีกว่าอัลลิอิน สามารถดูดซึมและขับออกจากกระแสเลือดได้เร็วกว่าอัลลิซิน (allicin) ที่เป็นสารหนืดสีน้ำตาลและมีกลิ่นฉุนที่มักพบอยู่ในกระเทียมทั่วไป ทำให้ไม่มีสารตกค้างในร่างกาย ด้วยเทคโนโลยีนี้ สามารถผลิตกระเทียมที่มีกลิ่นน้อย และมีปริมาณอัลลิอินสูงที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานมา
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้นำไปทดสอบในกระบวนการทำครีมลดอาการปวดที่ผลิตจากไพลซึ่งเป็นสมุนไพรคู่วงการยาแผนไทยของไทยมาอย่างยาวนาน และมักประสบกับปัญหาว่าน้ำมันหอมระเหยจากไพลนั้นมีกลิ่นแรงมากและปริมาณสารออกฤทธิ์สำคัญคือกลุ่มฟีนิลบิวทานอยด์ (Phenylbutanoids) ที่มีฤทธิ์แก้อักเสบมีปริมาณน้อย เมื่อนำมาผลิตเป็นครีมไพล ก็จะมีกลิ่นติดผิว แต่เมื่อนำไพลมาผ่านกระบวนการ Bio GreenoTech พบว่าสามารถลดกลิ่นฉุนของไพลและยังคงมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มของฟีนิลบิวทานอยด์ไว้ได้ในปริมาณที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับไพลที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ
อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ กระชายดำ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการพบว่ามีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวม (total phenolic content) สูงขึ้น ซึ่งสารประกอบเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น
หลังจากนี้คณะผู้วิจัยจะได้มีการเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการของไทยที่สนใจโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสมุนไพร ได้เข้ามาทำความรู้จักกับกระบวนการ BioGreenoTech เพื่อการต่อยอด ยกระดับมาตรฐาน และพัฒนาธุรกิจจากสมุนไพรไทยให้สามารถก้าวไกลและเติบโตในตลาดโลก ตามที่ภาครัฐได้คาดหวังไว้ในนโยบาย Thailand 4.0 ที่ต้องการให้ธุรกิจไทยเติบโตโดยใช้เทคโนโลยีและงานวิจัยมาเป็นพื้นฐาน