"แรมโบ้อีสาน" ป้อง ผบ.ทบ.พูดเพราะห่วงประเทศและสถาบันฯ ข้องใจ "ธนาธร" ยุนักศึกษาหวังผลทางการเมือง ยกบทเรียนปี 53 เตือนน้องๆ อย่าให้ใครชักใย กมธ.รับฟังถกนัดแรก 31 ก.ค.นี้ "ส.ว.สมชาย" เสนอนายกฯ เป็นเจ้าภาพเปิดเวทีรับฟังนักศึกษา ประธาน ทปอ.เป็นประธานร่วมจัด "เพื่อไทย" เตือนรัฐบาลอย่าประมาท จี้เร่งแก้ไข รธน. ถอดชนวนความขัดแย้ง "ไพบูลย์" คาดเดือน ก.ย.ได้ข้อสรุปแก้ รธน.ประเด็นอะไรบ้าง
เมื่อวันอาทิตย์ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ไม่มีสิทธิ์มาให้ความเห็นทางการเมืองว่า การที่ ผบ.ทบ.ต้องออกมาพูดนั้นก็เพราะมีความเป็นห่วงประเทศชาติ และออกมาเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ขัดขวางการชุมนุมของนักศึกษา แต่ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เพียงขออย่าก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่ ผบ.ทบ.ออกมาปรามเรื่องการก้าวล่วงไว้ ซึ่งประชาชนที่รักประเทศและเทิดทูนสถาบันฯ ก็อยากออกมาพูดเรื่องปกป้องสถาบันฯ มากมายเช่นกัน
ส่วนที่นายธนาธรระบุว่า ผบ.ทบ.เปิดบ้านให้นายสาธิต เซกัล นักธุรกิจไทยเชื้อสายอินเดียและคณะเข้าพบ แต่ไม่รับฟังนายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ที่เดินทางไปหาที่หน้ากองทัพบกนั้น นายสุภรณ์กล่าวว่า นายธนาธรต้องเข้าใจว่านายสาธิตเข้าพบ ผบ.ทบ.เพราะเขาไปเพื่อเล่าความไม่สบายใจเกี่ยวกับเนื้อหาการปราศรัยของนิสิตนักศึกษาบางคน และนายสาธิตก็ถือว่าเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมามากมาย และมีเจตนาที่ดี มีความเป็นห่วงประเทศชาติ ซึ่งแตกต่างจากนายพริษฐ์และนายอานนท์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านตลอดมาว่ามีเป้าประสงค์อย่างไร คนไทยทุกคนพออ่านทางออก
"เชื่อว่านายธนาธรน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ แต่กลับออกมาพูดในลักษณะตำหนิทั้ง 2 คน และยังไปพูดดูเหมือนเป็นการสนับสนุนการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา ทั้งที่ประเทศเราต้องการความสามัคคีปรองดอง ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งและวุ่นวายอีกต่อไป ซึ่งแม้นายธนาธรจะออกมาปฏิเสธไม่ได้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา แต่ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่านายธนาธรน่าจะอยู่เบื้องหลังการชุมนุมหรือไม่"
นายสุภรณ์กล่าวอีกว่า นายธนาธรเป็นถึงอดีตนักการเมืองและมี ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นทีมงาน ก็ควรยึดมั่นในระบบรัฐสภาสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยกระบวนการต่างๆ ที่มีอยู่ ไม่ใช่ควรใช้วิธีแก้ไขปัญหาบนท้องถนน ยุหรือส่งเสริมให้น้องๆ นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว เว้นแต่เพียงว่านายธนาธรอยากใช้โอกาสการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาล้มรัฐบาลเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง และเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมา จึงฝากถึงน้องๆ นักศึกษาว่า อย่าให้ใครชักใยหรือหนุนหลังเด็ดขาด เพราะบทเรียนในการชุมนุมของพวกพี่ๆ ในอดีตสมัยปี 52, 53 พวกพี่ๆ เคยตกเป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มบุคคลที่หนุนหลังเพื่อก้าวสู่อำนาจ เพียงหวังผลประโยชน์ให้กลุ่มและพวกพ้องของตนเองทำให้เกิดความขัดแย้งทะเลาะกันวุ่นวายทั้งแผ่นดิน บทเรียนที่พี่ๆ ต้องจดจำในอดีตว่าจะต้องบอกกล่าวรุ่นน้องๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้หากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่อยากจะวิงวอนว่าอย่าพยายามทำอะไรที่จะทำให้ถูกมองว่าเป็นการจาบจ้วงสถาบันฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยรักและศรัทธา เพราะหากยังมีการเคลื่อนไหวแบบนี้ เชื่อว่าพี่น้องคนไทยทั่วประเทศคงไม่ยอม และคงมีการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านแน่ ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวสามารถทำได้ตามระบอบประชาธิปไตยที่สามารถเห็นต่างได้ แต่ไม่ควรนำไปสู่ความขัดแย้งอีก ที่ผ่านมาประเทศบอบช้ำมามากแล้ว ถึงขนาดมีการเผาบ้านเผาเมือง อย่าให้ประเทศไปสู่จุดนั้นอีก และไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่ายค้านจึงไม่ยอมเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญรับฟังความเห็นนิสิตนักศึกษาเพื่อใช้เวทีสภาในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่ในช่วงแรกก็ออกมาเรียกร้องให้ใช้กลไกสภาในการแก้ไข หรือฝ่ายค้านเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่
กมธ.รับฟังถกนัดแรก 31 ก.ค.
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา เปิดเผยว่า จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 31 ก.ค.นี้ โดยย้ำว่ากรรมาธิการจะทำงานเชิงรุกและรวดเร็วที่สุด ซึ่งจะลงพื้นที่ต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลกำหนดการเวทีการชุมนุมไว้แล้ว ยืนยันว่ากรรมาธิการพร้อมจะช่วยเหลือนักศึกษา โดยเฉพาะบางกรณีที่มีการดำเนินคดี โดยจะไปติดตามดูว่าการดำเนินคดีเป็นธรรมหรือไม่ และกรรมาธิการต้องการให้กล่มผู้ชุมนุมรับรู้ว่าประเทศไทยสามารถมีความเห็นต่างได้ และแสดงออกได้ภายใต้กฎหมายเดียวกันนี้
ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาที่ให้มีการยุบสภา นายสิริพงศ์กล่าวว่า ในการอภิปรายของสภาที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องการยุบสภา แต่ที่กังวลคือแม้ยุบสภาไปแล้ว แต่ยังคงใช้กติกาเดิม ฉะนั้นเรื่องที่กรรมาธิการจะคุยและสอดคล้องกับประเด็นที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบกฎหมาย ส่วนตัวเห็นว่าอาจมีการแก้ไขเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าควรมี ส.ว.เข้ามามีส่วนในกระบวนการเลือกหรือไม่
นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีนักศึกษาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่นายกฯ สามารถทำได้ แต่จะต้องอยู่ในภายใต้กฎหมาย ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการจะออกมาเคลื่อนไหวอะไรก็ต้องอยู่ในกรอบกติกา ต้องระมัดระวังคำพูด แต่ถ้าไปก้าวล่วงละเมิดผู้อื่นก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย ทำไม่ถูกต้อง ขอย้ำว่าการที่จะเคลื่อนไหวอะไรต้องอยู่ในขอบเขตระบอบประชาธิปไตย และต้องรับผิดชอบตัวเอง
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. กล่าวถึง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ประกาศจัดหนักพวกชังชาติกระตุ้นการปฏิวัติ ถือเป็นศัตรูแผ่นดิน ขอรวบรวมไพร่พลรับผิดชอบคนเหล่านั้นว่า เป็นความโชคดีของ ปชป. ที่หมอวรงค์ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค นักการเมืองที่ดีไม่ควรชี้หน้าคนอื่นว่าเป็นคนชังชาติ แล้วประกาศว่าตนรักชาติปานน้ำลายไหล ขออย่าได้สร้างความแตกแยกของผู้คนในสังคมให้มากไปกว่านี้ มีสิทธิอะไรที่จะไปตัดสินคนที่มีความคิดตรงข้ามกับหมอวรงค์ว่าเป็นศัตรูของแผ่นดิน หมอวรงค์กำลังทำตัวไม่แตกต่างสถานีวิทยุยานเกราะ หรือ นสพ.ดาวสยาม ที่โจมตีนักศึกษาในสมัย 6 ตุลา 2519 ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสังคมไทยแต่อย่างใด ที่บอกว่าจะรวบรวมคนจัดการคนพวกนี้เองนั้น หมอวรงค์เป็นใคร มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ หากเกิดจลาจลความรุนแรงขึ้นจะรับผิดชอบอย่างไร จะหนีเป็นคนแรกหรือไม่ สงสัยว่าหมอวรงค์รับงานใครมาหรือไม่ หรืออยากมีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลหรือไม่
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "แก้เชือกทีละปมดับไฟทีละกอง" เสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีควรเป็นเจ้าภาพ "รวมพลังสร้างชาติ" เองด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนิสิตนักศึกษา โดยให้ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ร่วมจัดประชุมอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย ร่วมกับนายกองค์การฯ และประธานสภานิสิตนักศึกษาฝ่ายละ 1 คน เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเสนอทางออกประเทศอย่างสร้างสรรค์ และให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ ให้คนไทยทั้ง 69 ล้านคนได้รับทราบไปพร้อมๆ กันด้วย
ส่วนฝ่ายการเมืองในสภาต้องยุติการฉวยโอกาสทางการเมืองแต่ต้องดำรงตนให้เป็นที่พึ่งของคนในชาติ คณะกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญฯ และคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความเห็นฯ ของสภา และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของวุฒิสภาต้องเป็นหลักในการเปิดอีกเวทีรับฟังความคิดเห็นในข้อเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการคุกคามต่อขบวนการนิสิตนักศึกษาที่จัดชุมนุมทางการเมืองจริงหรือไม่ สังคมไทยต้องร่วมปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งการใช้กำลังคนและอาวุธ รวมถึงการปฏิเสธการโจมตีโดยใช้วาทกรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จากผู้เข้าร่วมการชุมนุมและผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในทุกกรณี
พท.จี้แก้รธน.ถอดชนวน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีกรณี ผบ.ทบ. ระบุการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด เเละมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังว่า ไม่เป็นความจริง และเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ที่มีอำนาจจะกล่าวหาว่ามีผู้สมรู้ร่วมคิด หรือ “ม็อบมุ้งมิ้ง ม็อบฟันน้ำนมด้อยค่า” ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิทางรัฐธรรมนูญ และนักศึกษาออกมาพูดชัดเจนว่าอนาคตถูกขโมยไป และการที่ ผบ.ทบ.ระบุว่า เด็กๆ ควรเรียนหนังสือ เลี้ยงดูพ่อแม่ ก็เห็นว่าหากทหารยังพูดเรื่องการเมืองได้ เยาวชนก็สามารถพูดเรื่องการเมืองได้เช่นกัน ไม่ควรเอาคำพูดบางคำมาด้อยค่าเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ และหากจะรับฟังความเห็นของนิสิตนักศึกษา ก็ต้องรับฟังจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำท่าว่าจะรับฟังเท่านั้น
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องตั้งสติ และเปิดใจรับฟังข้อเรียกร้องของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยปราศจากโทสาคติ การชุมนุมของนักศึกษาขยายผลลงไปถึงโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปรับทัศนคติตัวเอง อย่าไปสะกดจิตตัวเองว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามีคนยุยงปลุกปั่นอยู่เบื้องหลัง ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งรอบใหม่ ยังไม่เคยเห็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แสดงความจริงใจว่าจะทำหน้าที่เร่งรัดผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยเร็ว พล.อ.ประยุทธ์ต้องถอดชนวนความขัดแย้งด้วยตัวเอง เพราะหากดื้อแพ่งซื้อเวลาไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะไม่มีโอกาสได้นำการแก้ และจะแพ้ภัยตัวเองในที่สุด
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลอย่าได้ประมาท ประเมินสถานการณ์ต่ำเตี้ย และใช้มาตรการคุกคามระงับยับยั้งขัดขวางการชุมนุมจะเป็นเหตุให้ลุกลามขยายวงกว้างจนยากจะควบคุมดูแล นายกฯ ควรใช้ภาวะผู้นำกล้าตัดสินใจ หาทางออกให้ประเทศ ดังนี้ 1.นายกรัฐมนตรี ครม. ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอเยาวชน สนท. และประชาชนผู้เรียกร้องโดยตรง 2.เจรจาทำสัญญาประชาคมเพื่อนำข้อเรียกร้องสู่การปฏิบัติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ 3.หยุดคุกคามผู้ชุมนุม ผู้เห็นต่างทางการเมือง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 4.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 5.กำหนดเวลายุบสภา หลังจากแก้รธน.เสร็จ 3 เดือนแล้วจัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม 6.ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้รัฐบาลใหม่ เชื่อว่าทางออกนี้ต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
วันเดียวกัน ในเวลา 17.30 น. กลุ่มภูเก็ตปลดแอกและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ต รวมตัวกันกว่า 350 คน พร้อมถือป้ายข้อความต่างๆ ให้รัฐบาลยุบสภา อาทิ ตื่นเถิดชาวภูเก็ต, อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน, ไม่ได้ถูกจ้างมาเพราะค่าตัวแพง, ประชาธิปไตยออกความเห็นไม่ได้หรอคะ?, ยุบสภา ออกไป และถือภาพโปสเตอร์วันเฉลิม ถูกบังคับสูญหาย ฯลฯ ที่บริเวณสะพานหินภูเก็ต
นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ผู้ดำเนินการจัดเวทีกล่าวปราศรัยว่าการรวมตัวกันครั้งนี้ ในฐานะประชาชนที่ใช้สิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดเวทีให้คนภูเก็ตได้ปราศรัย โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ยุบสภา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.ยุติคุกคามประชาชน
ทั้งนี้ เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการสลับกันปราศรัยเรื่องการเมือง และปัญหาปากท้องของประชาชน พร้อมตะโกนโห่ร้อง เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานความมั่นคงเฝ้าดูแลความเรียบร้อยตลอดกิจกรรม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.ศึกษา วิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ กล่าวถึงการเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญปี 60 ว่าขณะนี้ปัญหาต่างๆ ในรัฐธรรมนูญปี 60 ได้นำมาศึกษาในอนุ กมธ.ชุดนี้แล้ว อาทิ การให้แก้ไขระบบการเลือกตั้งและอื่นๆ อีกหลายประเด็น ซึ่งอนุ กมธ.ได้พิจารณา ศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ รวมไปถึงประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา ก็อยู่ในการศึกษาของอนุ กมธ.แล้ว โดยทางอนุ กมธ.จะได้นำเสนอรายงานต่อ กมธ.ชุดใหญ่ ให้ได้พิจารณาและอภิปรายเพิ่มเติม ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ เมื่อ กมธ.ชุดใหญ่ได้พิจารณาเสร็จสิ้นหมดทุกประเด็นแล้วก็จะได้มีการนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมสภาได้คาดว่าประมาณกลางเดือน ก.ย.นี้ แล้วจะได้นำไปสู่ขั้นตอนต่อไปในการแก้รัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีประเด็นอะไรบ้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |