แน่นอน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยเราจะมีแผนพัฒนาประเทศด้านการแก้ปัญหาการจราจร และเดินหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร วันนี้ “อาทิตย์เอกเขนก” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ปัญญา ชูพานิช” รองผู้อำนวยการและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คนใหม่ป้ายแดง หรือที่พี่น้องสื่อมวลชนเรียกกันติดปากว่า “รองปู” ก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง รองปูเล่าว่า แต่เดิมอยู่กรมทางหลวง (ทล.) เคยผ่านงานจากกรมทางหลวงที่เป็นงานหลักด้านวิศวกรรม และหลังจากได้ย้ายมารับตำแหน่งรอง ผอ.สนข. ก็ได้รับมอบหมายให้ดูโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรม
“รองปู” เล่าว่า เข้ารับตำแหน่งพร้อมปฏิบัติหน้าที่ที่ สนข. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 โดยได้รับมอบหมายจากนายชยธรรม์ พรหมศร ผอ.สนข.ให้รับผิดชอบงาน เนื่องจากมีพื้นฐานด้านวิศวกรรม จบมาทางด้านวิศวกรรมโยธา รวมถึงด้านการขนส่ง โดยรับผิดชอบโครงการเช่น การศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม หรือ TOD เป็นการพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟฟ้าตามพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เช่น คนพิการ หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะได้ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดทำช่องทางพิเศษสำหรับรถโดยสารประจำทาง (Bus Lane) อยู่บริเวณกลางถนน คาดว่าเส้นทางที่จะเริ่มดำเนินการได้คือสายพระรามสี่ จากพระโขนงไปถึงศาลาแดง ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด, โครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น เป็นอุโมงค์เชื่อมจากสาทร-บางนา, โครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับรถที่ใช้ไฟฟ้า ส่วนโครงการใหม่ที่ได้รับมอบหมายที่เป็นงบประมาณในปี 2564 มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาการเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ 2.การเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งสองโครงการได้มีการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จ และได้รับมอบหมายให้ดูแล
“รองปู” เล่าต่ออีกว่าภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจราจรและขนส่งนั้น หลักๆ ต้องการผลักดันให้คนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเยอะขึ้น เช่น พยายามให้คนมาใช้รถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) มากขึ้น จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ให้นำรถเมล์มาวิ่งที่เกาะกลางเพื่อจัดเป็นช่องทางพิเศษ ทำให้รถเมล์แล่นสะดวกขึ้น คนจะมาใช้เยอะขึ้น จุดหมายปลายทางคือให้คนขึ้นรถเมล์แล้วมาต่อรถไฟฟ้า
นอกจากมีขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบหลักแล้ว ก็ต้องมีระบบที่เสริมกับระบบหลัก ซึ่งก็คือการเชื่อมต่อ (Fedder) ที่จะให้คนเดินทางออกจากบ้านสามารถเข้าถึงตัวระบบขนส่งสาธารณะหลักได้อย่างสะดวก หรืออาจจะมีที่จอดรถให้คนสามารถขับออกจากบ้านมาจอดและขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานได้ ส่วนขากลับก็คือขึ้นรถไฟฟ้าจากที่ทำงานกลับมา เอารถที่จอดไว้ และขับรถกลับบ้าน ผมหมายถึงการพยายามที่จะทำให้คนที่เดินทางออกจากบ้านมาใช้รถระบบขนส่งสาธารณะให้ได้ แล้วระบบขนส่งสาธารณะก็ต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ตรงเวลา มีความสุขสบาย
อย่างไรก็ตาม รองปูยังเล่าว่าการทำงานไม่มีความหนักใจ ก่อนหน้านี้เคยช่วยงานที่ สนข.มา 2 ปี ถือว่าคุ้นเคยกับงานที่นี่ ต้องยอมรับว่ามีความหลากหลายทุกมิติ ไม่ใช่แค่ถนน แต่รวมเป็นบก ราง น้ำ อากาศ มองว่าตัวเองได้มาเรียนรู้งานทุกระบบ จากนี้ไปจะได้มีพื้นฐาน มีความรู้เพื่อที่จะทำงานต่อไปได้ เมื่อเรารู้ปัญหาแล้วเราทำงานเชิงรุก โดยการเข้าไปดู ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องรถ เรือ ราง อากาศ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่ในฐานะที่ สนข.รับผิดชอบดูแลเรื่องแผนเรื่องนโยบายต่างๆ เราต้องเข้าไปดูปัญหาตรงนั้นว่ามันเกิดจากอะไร แผนตรงไหนมีความผิดพลาด แล้วก็นำเสนอแผนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือนำเสนอแผนให้กับกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
“ยอมรับว่างานที่ สนข.เยอะมาก เมื่อเทียบกับงานที่กรมทางหลวงเป็นงานหน้าเดียว คือการก่อสร้างถนน ส่วนที่ สนข.หลายหน้า ประชุมเยอะมาก บางวันต้องนั่งกินข้าวในที่ประชุม ส่วนการทำงานก็ทำให้เสร็จจากที่ทำงานเลย เสาร์-อาทิตย์จะได้มีเวลาพักผ่อน เลือกที่จะไปต่างจังหวัดใกล้ๆ ชะอำกับเขาค้อ เพราะเป็นคนชอบธรรมชาติ คือเราอยู่กับงานแล้วทำให้คิดหลายเรื่อง พอได้อยู่กับทะเลกับภูเขาทำให้เรานิ่งขึ้น การนิ่งจะทำให้เราตั้งสติได้ใหม่เพื่อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ส่วนคติพจน์ในการทำงาน ก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่จะบอกกับตัวเองว่า เวลาทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด แต่ต้องมีสมดุล คือต้องทำให้ดีที่สุดตามศักยภาพที่เรามีอยู่ ส่วนหลักการทำงานคือเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศ เพราะบางอย่างการทำงานแน่นอนว่าต้องเจอปัญหาและอุปสรรค เราต้องเลือกว่าไปทางซ้ายหรือขวา ต้องชั่งดู ประโยชน์ของประเทศได้อะไร เลือกสิ่งที่ดีที่สุด รองปูกล่าวทิ้งท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |