การจัดการน้ำชุมชนด้วยคลองดักน้ำหลาก
ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม เป็นสิ่งที่วนเวียนเกิดขึ้นในประเทศไทยมายาวนาน จนเมื่อกว่า 13 ปีแล้ว ที่เอสซีจี และพันธมิตร ประกอบด้วยกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เอสซีจี มูลนิธิบัวหลวง และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ทำโครงการจัดการน้ำ ก่อเกิดผลสำเร็จ และปีนี้ผลสำเร็จได้เกิดขึ้นอย่างเป็นที่เป็นรูปธรรม มีฝายชะลอน้ำที่ได้สร้างไปแล้ว ซึ่งจะครบ 100,000 ฝาย ในปลายปีนี้
เเถลงความสำเร็จ ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยเเล้ง 108 ชุมชน
การแถลงความสำเร็จ “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง” ได้มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ มาเป็นองปฐกถาบรรยายพิเศษหัวข้อ “จัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” กล่าาตอนหนึ่งว่า สภาพฝนปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากในอดีตมาก ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่ทุกปีประเทศไทย มีคำวนเวียนอยู่ คือ ฝนแล้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง สลับกันอยู่อย่างนี้ ซึ่งเมื่อมากลั่นกรองดีๆ จะพบว่ามีความขัดแย้งกันอยู่ เพราะว่าก่อนที่น้ำจะแล้ง น้ำมักจะท่วมก่อน นั้นแสดงให้เห็นว่ามีน้ำ แต่จะสิ้นสุดทันทีทันใดที่น้ำหายไป ก็จะเกิดภาวะน้ำแล้งทันที ประเด็นก็คือเราไม่มีการบริหารจัดการน้ำเลย ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตลอดระยเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ ทรงสนพระทัยในเรื่องนี้ เพราะเรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่และโครงการในพระราชดำริ ร้อยละ 90 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำทั้งสิ้น เนื่องจาก น้ำเป็นต้นตอของทุกสิ่ง มีดินแต่ไม่มีน้ำ มีปลาแต่ไม่มีน้ำก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หลักการของพระองค์ท่านเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ เก็บข้อมูล รู้ต้นเหตุ รู้ปลายเหตุ รู้ทางแก้ และจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ประเด็นสำคัญจากที่ตนได้ถวายงานมาเป็นระยะเวลา 35 ปี พบว่า ตัวเลขการกักเก็บน้ำของประเทศมีเพียง 7-8 จุดเท่านั้น และเมื่อยามน้ำมา ก็ต้องถูกสูบทิ้งลงทะเล ไม่ได้มีการบริหารจัดการโดยการกักเก็บ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า ดังนั้นพระองค์ท่านทรงสอน ว่า เมื่อยามน้ำมาก็ควรบริหารจัดการน้ำโดนการกักเก็บเหมือนกับการบริหารเงินเดือน ต้องมีการฝากธนาคารไว้ไม่ใช่ใช้จนหมด ทุกๆ ปี มีฝน 3 เดือน แต่อีก 9 เดือนไม่มีฝนก็ต้องหาแนวทางบริหารจัดการเก็บกักน้ำให้พอเพียง สำหรับ 9 เดือนที่เหลือ และขั้นตอนต่อไปต้องรู้จักประเมินตน ประมาณตนว่าเราทำกิจกรรมอะไร ใช้น้ำอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ท่านแนะนำคือการคิดและการวางแผนตลอดเวลา สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นเรื่องที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้รับสั่งให้พวกเราไปทำ ทำจนกระทั่งสามารถประมวลผลความสำเร็จได้ ซึ่งความสำเร็จนี้อยู่ที่ชาวบ้านสามารถทำตามได้จนกระทั่ง เขามีน้ำเพียงพอกับการใช้ ทำให้เกิดความสมดุลเรื่องน้ำขึ้นและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเคยรับสั่งกับตนว่าหากชาวบ้านรู้จักที่จะช่วยตัวเอง เช่น ขุดบ่อ ขุดสระ เป็นต้น ไม่ใช่เพียงแต่จะรอน้ำจากเขื่อน ซึ่งหากสามารถบริหารแบบนี้ได้ความพอเพียงเรื่องการใช้น้ำก็จะเกิดขึ้น และเมื่อชาวบ้านลงมือทำก็จะมีความพอเพียงเกิดขึ้น บริหารชีวิตได้ ผลิตและแปรรูปสินค้าได้ก็เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งขณะนี้มีชุมชนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จำนวน 21 แห่ง ที่บริหารน้ำตามโครงการราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 และเมื่อเอสซีจีมาปรึกษาตนว่าจะทำอะไร เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตนก็ได้แนะนำเรื่องการบริหารน้ำในชุมชน แก้ภัยแล้ง อีกทั้งนักวิชาการได้ระบุว่า ปีหน้าเป็นปีแห่งความหิวโหย การผลิตอาหารจะหยุดไปขณะหนึ่ง ซึ่งบ้านเรามีความพร้อมเรื่องนี้อยู่แล้ว ขอให้ทุกคนมีใจและลงมือทำ
“ วันนี้ความไม่แน่นอนเรื่องน้ำเกิดขึ้น ปริมาณน้ำมีการลดลง ร้อยละ 5-10 และน้ำจะมาในช่วงไหนก็ไม่รู้ คำนวณไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องใช้หลักการตกตรงไหนเก็บน้ำตรงนั้น เชื่อมโยงแหล่งน้ำทั่วประเทศ วางแผนการใช้น้ำ เพื่อให้คำว่าแล้งทุเลาลง อีกทั้งผมคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เมื่อชุมชนเข้มแข็งเราก็สำเร็จ”ดร.สุเมธ กล่าว
การใช้แผนที่เพื่อสำรวจเพื่อนที่ในการจัดการน้ำ
วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office – SCG แถลงผลความสำเร็จโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ตอนหนึ่งว่า เอสซีจีได้เริ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่. 2550 ซึ่งเริ่มจากพื้นที่ จ. ลำปาง เกิดไฟไหม้ป่า และอาจจะกระทบกับหน่วยงานของเอสซีจี ดังนั้น เราจึงได้หาวิธีที่จะนำมาใช้ในการหยุดไฟไหม้ป่าที่ยั่งยืน โดยได้ไปเรียนรู้โครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และได้จัดทำฝายชะลอน้ำ กว่า 300 ฝาย ผลปรากฎว่า ปัญหาเรื่องไฟไหม้ป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น เอสซีจีจึงต้องการที่จะขยายโครงการนี้ โดยเชิญชวนชุมชน ชาวบ้าน มาร่วมกันบริหารจัดการน้ำจัดทำแผนที่ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย จนขยายผลการจัดทำฝายไปยังพื้นที่ที่มีโรงงานของเอสซีจีตั้งอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 90,000 กว่าฝาย และตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2563 จะจัดทำฝายให้ครบ 100,000 ฝายทั่วประเทศ นอกจากนี้ เอสซีจียังได้จัดทำโครงการยริหารจัดการน้ำอื่นๆ เช่น สระบัว แก้มลิง เป็นต้น
“จากเดิมที่เราจะต้องใช้งบประมาณไปช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัจจุบันเราจะทำให้ชุมชนได้ลุกขึ้นมาบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง เริ่มจากการให้ความรู้ ให้ประชาชนรู้จักการประเมินการใช้น้ำของตนเอง และเชื่อมแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง หรือขุดบ่อเพื่อใช้สำหรับกักเก็บน้ำ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความต้องการของชาวบ้านและชุมชน จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการแบ่งปันความรู้ ทั้งในเรื่องการอ่านแผนที่ เรียนรู้เรื่องพื้นที่สูง พื้นที่ต่ำ พื้นที่ที่ควรเป็นที่กักเก็บน้ำ หรือการเชื่อมแหล่งน้ำ การขุดคลอง ตลอดจนไปถึงการทำโซล่าเซลล์เพื่อใช้น้ำให้เกิดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราได้เรียนและขับเคลื่อนมาตลอดระยะเวลา 13 ปี”
แผนผังที่ดินจัดสรรที่ดินของชุมชน เพื่อการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
วีนัส กล่าวต่อว่า สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ขณะนี้เราสามารถเชิญชวนชุมชนและกักเก็บน้ำได้ในปริมาณ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถช่วยพื้นที่ทางการเกษตรได้ประมาณ 45,000 ไร่ มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 16,200 ครัวเรือน ส่งผลให้ 4-5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ต่างๆ มีความชุ่มชื้นมากขึ้น และยังทำให้ป่าในหลายพื้นที่ มีพืชพันธุ์ต่างๆ เกิดมากขึ้นด้วย สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบข้าง และยังทำให้คนในพื้นที่สามารถทำการเกษตร รู้จักการแปรรูป สร้างสินค้าทางการเกษตร ไม่ต้องเข้าไปหางานในเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้เอสซีจียังให้ความรู้เรื่องการขายของผ่านระบบออนไลน์ เพิ่มช่องทางการหารายได้ให้กับชาวบ้าน รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการทำโฮมสเตย์ สร้างแหล่งท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เรามองว่าจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในเรื่องของน้ำ ก็คือ คน ที่จะต้องมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลดต้นทุนในการใช้ไฟสูบน้ำ
อาสา สารสิน ประธานกรรมการมูลนิธิบัวหลวง กล่าวถึง ความสำเร็จโครงการ “บัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง” ตอนหนึ่งว่า ในหลวง ร. 9 ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อ ปี.2529 สรุปความได้ว่า น้ำคือชีวิต หมายความว่าน้ำมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตทั้งเพื่ออุปโภค บริโภค และเพาะปลูก แต่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบกับภัยแล้งมาตั้งแต่ช่วงหมดฤดูฝน ปี.2562 และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดว่าฝนจะตกมากในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงพฤศจิกายน และเราก็หวังว่าฝนจะตกในพื้นที่เหนือเขื่อน จะได้กักเก็บน้ำได้ ซึ่งปัญหาภัยแล้ง เป็นเรื่องที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศไทย มูลนิธิบัวหลวงธนาคารกรุงเทพ จึงร่วมดำเนินโครงการแก้ภัยแล้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จนสามารถพึงพาตนเองได้ การดำเนินการจัดทำใน 22 ชุมชน แบ่งเป็น 17 ชุมชน แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคและ 5 ชุมชน แก้ปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดน้ำให้แก่ชุมชน ทั้งเชื่อมแหล่งน้ำ และกระจายน้ำให้กับชุมชน
การสร้างระบบประปาภูเขา วางท่อส่งน้ำ มาเก็บในถังเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภคในครัวเรือน ติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มสะอาดไว้ใช้ทั้งชุมชน
“มูลนิธิบัวหลวง ธนาคารกรุงเทพ เชื่อมั่นว่าโครงการร่วมชุมแก้ภัยแล้ง ทั้ง 22 ชุมชน และโครงการของเอสซีจี 56 ชุมชน จะเป็นต้นแบบที่ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ให้ชุมชนอื่นๆ ผมหวังว่ารัฐบาลจะร่วมมือกับภาคเอกชนหลายองค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก้ชุมชนในประเทศอย่างยั่งยืนถาวร”อาสา กล่าว
ด้านทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า นอกจากโครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้งแล้ว มูลนิธิฯยังขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เช่น โครงการจัดทำโครงสร้างชลศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม, โครงการเทิดด้วยทำ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่ายินดีที่เราจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน
เมื่อมีน้ำ ก็สามารถทำการเกษตรได้
สำหรับแนวทางขยายผลความสำเร็จ “ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มความมั่นคง เศรษฐกิจของชุมชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน และการทำงานในทุกภาคส่วนจะต้องมีการบูรณาการ เพื่อให้การแก้ไข การบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตนขอชื่นชมกับผลสำเร็จของโครงการร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง ที่ทำให้เห็นในเชิงประจักษ์และเป็นตัวอย่างที่ดีในการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน เป็นกลไกที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะมีการใช้พื้นที่ชุมชน เป็นตัวตั้งและนำหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาถอดรหัสและทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความเป็นปกติสุขของประชาชน ทั้งนี้ตนคิดว่าการขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเรื่องการตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำ แต่เป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้เป็นเหมือนรากฐานสำคัญที่จะนำใช้ต่อยอดนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต หรือ BCG เป็นต้น
“ผมได้รับรายงานว่า ขณะนี้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีชุมชนที่ขาดแคลนน้ำอยู่ประมาณ 3,500 ชุมชน ดังนั้นสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ จะร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 2 ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ เดินหน้าโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งบประมาณจากพรก.เงินกู้ และจะเริ่มใน 2,000 ชุมชนก่อน เพื่อสร้างแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ดีพอ ทั้งนี้ผมคาดว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะนอกจากเราจะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกอจด้วยการจ้างงานแล้ว ยังจะทำให้คนกลุ่มนี้มีองค์ความรู้ เป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้จะไม่ใช่การทดลองทดสอบอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องการขยายผล เพื่อที่จะทำให้สิ่งดีๆ เหล่านี้ ครอบคลุมในทุกชุมชนในประเทศไทย และโจทย์ต่อไปเราอาจจะต้องกลับมาดูแลเรื่องน้ำในส่วนของชุมชนเมืองด้วย”นายสุวิทย์กล่าว
เมื่อมีน้ำ ก็ต่อยอดสู่การทำวิสาหกิจชุมชน