คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และคณะล่องเรือไปพบ “โลกใหม่” เมื่อปลายปี ค.ศ.1492 ในการสำรวจทวีปอเมริกาครั้งแรกนี้เขาได้เดินทางกลับถึงสเปนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1493 พร้อมจับชนพื้นเมืองใส่เรือมาด้วยจำนวนหนึ่ง เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันว่านักสำรวจผู้เกิดในเจนัวไม่ได้กุเรื่องขึ้นมาโอ้อวด ไม่นานนับจากนั้นการล่าดินแดนใหม่ในทวีปอเมริกาก็เริ่มต้น ปฐมบทของการค้าส่งทาสแอฟริกันก็นับหนึ่งเช่นกัน
ก่อนนั้นในปี ค.ศ.1452 พระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ได้มีสารตราพระสันตะปาปา Dum Diversas อนุญาตให้ “กษัตริย์สเปนและโปรตุเกสมีสิทธิเสรีและอำนาจในการกวาดล้าง ปราบปราม จับกุมชาวมุสลิมและพวกนอกรีตอื่นๆ...และเพื่อนำพวกนั้นมาเป็นทาสตลอดไป” นี่คือใบเบิกทางชนิดดีแก่นักแสวงหาโลกใหม่ นักล่าอาณานิคม และผู้มีหัวคิดทางการค้าทาส
ชาวแอฟริกันถูกจับและเคลื่อนย้ายไปยังท่าเรือก่อนถูกขาย ภาพจาก keepthefaith.co.uk
ในคริสต์ทศวรรษที่ 1480 โปรตุเกสที่มีอาณานิคมอยู่ในแอฟริกาตะวันตกอยู่บ้างแล้วได้ขนส่งทาสจากแอฟริกาไปใช้งานในไร่อ้อยที่เคปเวิร์ด (Cape Verde) และมาเดรา (Madeira Island) หมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันออก เมื่อเห็นว่าสเปนค้นพบโลกใหม่และเริ่มส่งทาสแอฟริกันไปยังเกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียนตั้งแต่ปี 1502 เนื่องจากทาสพันธสัญญาหรือแรงงานไพร่จากยุโรปและแรงงานชนพื้นเมืองในโลกใหม่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พ่อค้าทาสชาวโปรตุเกสก็เข้าทำการค้าทาสอย่างจริงจัง โดยตั้งฐานขึ้นในดินแดนแถบคองโกและแองโกลา จากนั้นจึงเป็นพ่อค้าทาสจากเนเธอร์แลนด์ที่เข้าร่วมวงธุรกิจและทำกำไรได้มากมายในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1600 แล้วก็เป็นคิวของอังกฤษและฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองตลาดไปราวครึ่งหนึ่ง สินค้าส่วนมากมาจากเซเนกัล แกมเบีย และกินพื้นที่เข้าไปภายในทวีปถึงไนเจอร์
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความต้องการแรงงานทาสเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำตาลและยาสูบในแคริบเบียนและอเมริกาเหนือเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การส่งทาสแอฟริกันไปยังทวีปอเมริกาทำยอดสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักประวัติศาสตร์ประมาณสัดส่วนไว้ที่ 3 ใน 5 ของปริมาณทาสแอฟริกันทั้งหมดที่ส่งไป ตัวเลขจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างหลากหลาย แต่เห็นพ้องกันว่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน
การจับคนเป็นเชลยและทาสมีอยู่ก่อนแล้วในดินแดนแอฟริกา เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและการแย่งชิงระหว่างชนเผ่าหรืออาณาจักร การค้าทาสก็มีอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะการส่งไปยังดินแดนตะวันออกกลาง เมื่อชาวยุโรปเข้ามาหาซื้อทาส ผู้ปกครองเผ่าต่างๆ ขายทาสให้โดยแลกกับเหล้ารัม ไวน์ เสื้อผ้าอาภรณ์ และที่สำคัญคืออาวุธจำพวกปืนคาบศิลาเพื่อความแข็งแกร่งของเผ่าในการทำสงครามต่อไป แต่การที่ชาวยุโรปมีออเดอร์เข้ามามากๆ ทำให้ผู้ปกครองหรือหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ เกิดแรงจูงใจในการสู้รบแล้วจับตัวคนของอีกฝ่ายเป็นเชลยมากขึ้นทวีคูณ ส่งผลให้ทั่วทวีปแอฟริกาลุกเป็นไฟ ไร้กฎกติกา มีแต่สงครามและความรุนแรง หลายคนกลัวว่าหากถูกจับจะไม่ได้กลับมายังถิ่นฐานเดิมอีก จึงฆ่าตัวตายเสียดีกว่า เพราะเชื่อว่าวิญญาณจะได้ไม่ไปไหน
สิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นคือ การลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร รวมทั้งความหวาดกลัวอันตรายจนธุรกิจการค้าอื่นๆ เกิดไม่ได้ เกษตรกรรมหยุดการพัฒนา ชาวแอฟริกันที่ถูกจับขายจำนวนมากเป็นสตรีในวัยเจริญพันธุ์และชายหนุ่มที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว ประชากรที่เหลืออยู่ในแอฟริกาคือ คนแก่ คนพิการ คนป่วย และเด็กหญิงตัวเล็กๆ
ช่วงแรกๆ พ่อค้าชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่จะซื้อทาสที่เป็นเชลยในสงครามระหว่างชนเผ่า เมื่อความต้องการทาสเพิ่มมากขึ้น พวกโปรตุเกสก็จัดการลงมือล่าทาสเสียเอง ขณะที่ชาวยุโรปอื่นๆ ส่วนมากจะซื้อทาสจากนายทาสแอฟริกันตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก ซึ่งได้ทาสมาจากในทวีป ทาสที่ถูกจับอาจเดินเท้ามาไกลถึง 500 กิโลเมตร โดยที่เท้าถูกล่ามโซ่ไว้กับทาสอีกคน ขณะที่คอก็ถูกเชือกผูกไว้โยงกันมาเป็นแถวๆ ประมาณกันว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์ ของเชลยเหล่านี้ตายก่อนถึงท่าเรือในแอฟริกาตะวันตก
การค้าทาสเส้นทางแอตแลนติก (Transatlantic Slave Trade) ที่แบ่งเป็น 3 ช่วงเส้นทาง คือ 1.ก่อนมาถึงท่าเรือในแอฟริกาตะวันตก 2.จากท่าเรือแอฟริกาตะวันตกสู่ท่าเรือในทวีปอเมริกา และ 3.จากท่าเรือในทวีปอเมริกาถึงการทำงานในไร่และในเหมือง
ช่วงที่ 2 เรียกว่า Middle Passage อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “ระหว่างทางไป” เป็นช่วงเวลาสองสามเดือนที่ทาสได้รับชะตากรรมโหดร้ายที่สุด
เมื่อทาสถึงท่าเรือก็ถูกจัดการโกนหัวเพื่อลดความเสี่ยงการติดเหาติดหมัดและโรคต่างๆ จากนั้นก็ถูกทำเครื่องหมายที่ร่างกายด้วยเหล็กเผาไฟแล้วกักขังไว้รวมกัน อาจเรียกสถานที่ขังว่า “คลังสินค้า” นักประวัติศาสตร์ประมาณตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงนี้ไว้เกือบๆ 1 ล้านคน ส่วนหนึ่งมาจากความทรมานสะสมมาตั้งแต่การถูกล่าและเดินทางไกล
ทาสแอฟริกันขณะกำลังลงเรือสู่โลกใหม่ ภาพจาก antislavery.org
ถึงเวลาลงเรือพวกทาสจะถูกจับมัดให้นอนเรียงกันในเรืออย่างแออัดยัดเยียดเป็นแถวๆ และชั้นเตี้ยๆ ราวกับลิ้นชักในตู้ ไม่สามารถนั่งหลังตรงได้ อากาศหายใจมีอย่างเบาบาง กระทั่งจุดเทียนยังไม่ติด แต่ร้อนเหมือนอยู่ในเตาอบ กะลาสีที่คุมไปอาจให้เชลยขึ้นไปตากแดดบนดาดฟ้าเรือได้วันละชั่วโมงสองชั่วโมงเพื่อไม่ให้ตายก่อนถึงปลายทาง หรือบังคับให้เต้นรำเสมือนเป็นการออกกำลังกาย รวมถึงบังคับให้กินอาหาร เพราะทาสบางคนพยายามอดอาหารฆ่าตัวตาย แต่บางคนก็ฆ่าตัวตายสำเร็จด้วยการกระโดดลงทะเล บ่อยครั้งที่ทาสผู้หญิงบนดาดฟ้าถูกข่มขืนจนร่างกายทรุดโทรม และขายได้ราคาถูกลงเมื่อถึงปลายทาง
มีเหตุการณ์ในเรือ Zong ปี 1781 ทาสแอฟริกันติดโรคใกล้ตายจำนวนมาก กัปตันชื่อ Luke Collingwood แก้ปัญหาด้วยการโยนทิ้งทะเลประมาณ 60 คน ต่อมาเรือเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนทำให้การเดินทางล่าช้า เกรงว่าน้ำจืดจะไม่เพียงพอ กัปตันก็จับทาสโยนลงทะเลไปอีก รวมแล้วในเที่ยวนั้นมีทาสถูกจับโยนทะเลไปกว่า 130 คน แต่เขาได้ทำประกันสินค้าไว้แล้วจึงสามารถเคลมเงินคืนในภายหลัง
คงจะมีหลายครั้งที่เชลยแอฟริกันพยายามลุกฮือก่อจลาจลเพื่อเอาชีวิตรอด แต่มีเพียงกรณีเดียวที่ทำสำเร็จ เกิดขึ้นในปี 1839 ทาสชื่อ โจเซฟ ซินเค นำเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 53 คนก่อการปฏิวัติในเรือชื่อ La Amistad เรือทาสของสเปน ฆ่ากัปตันและลูกเรือได้จำนวนหนึ่ง ดังที่ได้ปรากฏเป็นเรื่องราวถ่ายทอดไปทั่วโลกจากหนังเรื่อง Amistad ของสตีเวน สปีลเบิร์ก ในปี 1997
โดยเฉลี่ยแล้วมีทาสเสียชีวิตระหว่างการเดินทางในเรือประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ยุคแรกๆ ของการค้าทาสจะเสียชีวิตมากกว่ายุคหลังๆ เมื่อการเดินเรือพัฒนาขึ้น เรือขนาดใหญ่ขึ้น ขนส่งทาสได้คราวละมากขึ้น ในขณะที่ใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง จึงทำให้อัตราส่วนทาสที่ไปถึงโลกใหม่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงหลังๆ
เมื่อไปถึงโลกใหม่ นักประวัติศาสตร์ชื่อ Milton Meltzer ระบุว่า ประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ของทาสแอฟริกันจะเสียชีวิตภายในปีแรกใน Seasoning Camp หรืออาจเรียกว่า “ค่ายปรับสภาพ” ทั่วทะเลแคริบเบียน โดยเฉพาะที่จาไมกา หรือประมาณ 5 ล้านคนเลยทีเดียว สาเหตุก็คือโรคต่างๆ ที่เป็นของใหม่สำหรับทาสแอฟริกัน โรคบิดถือเป็นเพชฌฆาตแถวหน้า ตามมาด้วยไข้ทรพิษ มาลาเรีย กาฬโรค ไข้รากสาดใหญ่ ไข้เหลือง หัด เป็นต้น
คำว่าการค้าไตรภาคี (Triangular Trade) หรือการค้าสามเหลี่ยมเกิดขึ้นในยุคนี้ เหลี่ยมที่ 1 เรือจากท่าในยุโรปบรรทุกสินค้า อาทิ ทองแดง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ปืนและกระสุนไปยังท่าในแอฟริกาตะวันตก จากนั้นสินค้าเหล่านี้จะถูกขายหรือไม่ก็ใช้แลกกับทาสแอฟริกัน เหลี่ยมที่ 2 คือการขนทาสขึ้นเรือและเดินทางฝ่ามหาสมุทรแอตแลนติกไปยังโลกใหม่ในทะเลแคริบเบียนและอาณานิคมอเมริกา เมื่อขนทาสลงจากเรือแล้วก็ทำความสะอาดเรือขนานใหญ่ก่อนขนสินค้าจำพวกน้ำตาล ยาสูบ เหล้ารัม โมลาส กัญชา ขึ้นเรือ เหลี่ยมที่ 3 ขนสินค้าเหล่านี้กลับสู่ท่าในยุโรปเพื่อจำหน่ายทำกำไร แล้วจึงวกลงไปแอฟริกาอีกครั้ง วนๆ ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ
การค้าทาสในอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลงตามกฎหมายในปี 1808 แต่ยังมีการลักลอบนำทาสเข้าไปจากแคริบเบียนอีกหลายปี ส่วนการใช้แรงงานทาสมีอยู่ต่อเนื่องกระทั่งฝ่ายเหนือชนะฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง (1861-1865) ด้านอังกฤษได้มีกฎหมายปี 1833 ให้เลิกทาสทั่วทั้งจักรวรรดิของตน (ส่วนการล่าอาณานิคมยังคงถูกต้องต่อไป) ส่วนทางอเมริกาใต้ คือบราซิลได้มีการออกกฎหมายห้ามค้าทาสในปี 1850 แม้ว่ายังมีการลักลอบค้ากันอยู่เรื่อยมา กว่าจะหมดลงจริงๆ ก็ปาเข้าไปปี 1888 รวมระยะเวลาการค้าทาสโดยมหาอำนาจยุโรปประมาณ 4 ร้อยปี
ใบปลิวประมูลทาสผู้หญิงวัย 25 ปี ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ เมื่อปี 1849 ภาพโดย Joyce Gregory Wyels
เมื่อการค้าทาสถูกห้าม ใช่ว่าแอฟริกาจะหมดเวรหมดกรรม มหาอำนาจยุโรปก็ยังเข้าไปยึดครองแบ่งเป็นประเทศอาณานิคมต่างๆ ถูกสูบทรัพยากรธรรมชาติจนเหี้ยน เพิ่งจะปลดปล่อยเป็นอิสระไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังทิ้งไว้ซึ่งปัญหาไม่รู้จบ โดยเฉพาะสงครามระหว่างกลุ่มเชื้อชาติและความยากจน
แม้ภายหลังประเทศในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ต่างได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมทางฝั่งยุโรปกันจนเกือบทั้งหมดแล้ว ผู้นำประเทศปกครองดินแดนอเมริกาก็ยังคงเป็นชาวยุโรปเดิมแทบทั้งสิ้น อาจมียกเว้นบ้าง อาทิ บารัค โอบามา และอีโบ โมลาเรส
Ali Moussa จากโครงการ Slave Route Trade ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม สหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เขียนไว้ว่า ในบรรดาอาชญากรรมที่เกิดกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติต้องถือว่าการค้าทาสมีความหนักหนาชัดเจนมากจากปริมาณขนาด ระยะเวลา และความรุนแรงสะเทือนขวัญ เป็นเรื่องยากยิ่งที่จะทำความเข้าใจได้ว่าโศกนาฏกรรมระดับนี้ได้รับการเพิกเฉยเป็นเวลานานแสนนาน นักประวัติศาสตร์ประมาณการตัวเลขชาวแอฟริกันถูกจับขายเป็นทาสในดินแดนอื่นของโลกไว้ที่ 30 ล้านชีวิต เมื่อเพิ่มจำนวนที่ตายระหว่างการถูกจับ ตายระหว่างการขนย้ายไปยังท่าเรือ ตายในค่ายก่อนซื้อขาย ตายในเรือระหว่างเส้นทาง 8 พันกิโลเมตร ตายในค่ายปรับสภาพก่อนถูกประมูลขายให้นายใหม่ (จากโรคร้ายต่างๆ ในดินแดนใหม่และการละลายพฤติกรรม) จะทำให้ตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่เกือบ 100 ล้านคน
การลดลงของประชากรในทวีปแอฟริกาต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ศตวรรษ จากที่ควรมีประชากรราว 200 ล้านคน เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 19 กลับมีเพียง 100 ล้านคน นอกจากชีวิตคนแล้วแอฟริกายังสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาทุกๆ ด้าน เหลือไว้แต่ความอ่อนแอและการถูกเข้าไปหาผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ขณะที่ยุโรปและอเมริการ่ำรวยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก หลักๆ มาจากการค้าทาส
ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการซื้อขายทาส เรียงตามลำดับปริมาณทาสที่มีการซื้อขาย ได้แก่ โปรตุเกส, อังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก
ในปี 1998 องค์การยูเนสโกได้กำหนดให้วันที่ 23 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงการค้าทาสและวันเลิกทาสนานาชาติ ถัดมา 3 ปีคือ ปี 2001 ในการประชุมการต่อต้านการกีดกันทางด้านเชื้อชาติที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ บรรดาชาติแอฟริกาเรียกร้องให้มีการขอโทษอย่างเป็นทางการ จริงจังและชัดเจนจากประเทศผู้ค้าทาสทั้งหลาย บางประเทศก็ยินยอมจะกล่าวขอโทษ แต่มีการคัดค้านเกิดขึ้นจากอังกฤษ, โปรตุเกส, สเปน, เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าเหตุผลที่ไม่ขอโทษ เพราะชาติเหล่านี้กลัวว่าจะต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลนั่นเอง
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันประกาศตัดงบประมาณรายปีที่จัดสรรให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) และต่อมาถึงขั้นเดินหน้าถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิก WHO ทั้งที่ประเทศยากจนทั่วโลกต่างต้องการความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาและส่งเสริมระบบสุขภาพจาก WHO โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของทรัมป์ไปเต็มๆ
สะท้อนได้ชัดเจนว่าบุคคลระดับผู้นำของประเทศมหาอำนาจไม่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน ขาดจิตสำนึกขั้นพื้นฐาน อีกทั้งไม่รับผิดชอบกับอาชญากรรมในอดีตที่บรรพบุรุษของตนมีส่วนเกี่ยวข้อง
************************
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ Britannica, Unesco, Wikipedia, Arcgis, Youtube ช่อง TED Ed อาทิตย์หน้าและถัดๆ ไป ขออนุญาตเขียนถึงการค้าทาสและการล่าอาณานิคมเป็นรายประเทศ ไม่เว้นฝรั่งเศสที่รักของนักปลุกระดมจอมบิดเบือนบางคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |