เป้าหมายสูงสุดม็อบคนรุ่นใหม่? ไม่มีความคิดจะไปล้มล้างสถาบันฯ
การเคลื่อนไหวของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. และกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันเสาร์ที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา บริเวณถนนราชดำเนิน-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องหลัก คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ประกาศยุบสภา และ 3.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าหากภายใน 2 สัปดาห์นับตั้งแต่นี้ไม่มีการตอบรับใดๆ จากทางรัฐบาล กลุ่มผู้เคลื่อนไหวจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป
การเคลื่อนไหวดังกล่าว ที่หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา นัดรวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองกันอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นความเคลื่อนไหวที่กำลังถูกจับตามองทางการเมืองอย่างใกล้ชิด
"อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะในยุค คสช.จนมาถึงยุครัฐบาลปัจจุบัน ในฐานะแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ"
โดย "อานนท์-ทนายความ" คือหนึ่งในผู้ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา และต่อมาวันจันทร์ที่ 20 ก.ค.ก็ได้ไปเคลื่อนไหวที่หน้ากองบัญชาการทหารบก เพื่อแสดงท่าทีต่อกรณี พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร นายทหารประจำกรมยุทธการทหารบก ที่ระบุว่าม็อบเยาวชนปลดแอกเป็น "ม็อบมุ้งมิ้ง" โดยเขาประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ รวมถึงเป้าหมายสูงสุดของการนัดชุมนุมทำกิจกรรม ที่คาดว่ากลุ่มผู้จัดกิจกรรมในนาม สนท.และเยาวชนปลดแอกจะกลับมานัดชุมนุมกันอีกครั้งในอนาคตอันใกล้
ลำดับแรก "อานนท์" มองว่าสาเหตุที่ทำให้การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกพูดถึง มีคนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยจำนวนไม่น้อย เกิดจากเพราะมีการเคลื่อนไหวในประเด็นที่เข้ากับสถานการณ์ จึงมีส่วนสำคัญทำให้คนออกมาเยอะ โดยเฉพาะการทำงานของรัฐบาลที่มีปัญหา เช่น การแก้ปัญหาไวรัสโควิด ที่มีการสะดุดขาตัวเองของรัฐบาล ที่ปล่อยให้ทหารอียิปต์เข้าประเทศ จนทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในประเทศไทย และพวกวีไอพีที่มีสถานะพิเศษทางการทูต สอง-เป็นจังหวะที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ ที่ตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม รธน.ปัจจุบันไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น สมาชิกวุฒิสภา ที่มีท่าทีไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพราะการทำงานของ ส.ว.มีลักษณะเชียร์รัฐบาลอย่างออกหน้าออกตา รวมถึงกลไกอื่นๆ เช่น ระบบการเลือกตั้งที่มีปัญหา และสาม- สถานการณ์การคุกคามนักศึกษาและนักกิจกรรม ซึ่งรวมถึงกรณีของบุคคลอย่างเช่น นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นผู้ลี้ภัยที่กัมพูชา
"ทั้งหมดคือสถานการณ์ประจวบเหมาะ ที่ทำให้คนรู้สึกกันว่าเขาไม่สามารถทนกับเรื่องพวกนี้ได้ จึงออกมาแสดงออกกันเยอะ หากวันเสาร์ที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาคนออกมาน้อย ก็คงไม่เกิดปรากฏการณ์เป็นโดมิโน แต่ปรากฏว่าคนออกมาร่วมกิจกรรมกันจำนวนมาก มากชนิดเป็นนัยสำคัญจนสามารถปิดถนนราชดำเนินได้ ทำให้สถานการณ์มันคึกคักขึ้นมา จนเป็นที่ตอบรับของคนต่างจังหวัด เช่น ที่เชียงใหม่ อุบลราชธานี และขยายวงจนมีการจัดกิจกรรมกันในสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้สถานการณ์มันน่าสนใจ"
...ก็ไม่อยากใช้คำว่าผิดคาด แต่เป็นเรื่องของการนัดทำกิจกรรมในจังหวะที่ประจวบเหมาะกับทุกสถานการณ์ แล้วการที่เราออกมาชุมนุมโดยที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยิ่งมีลักษณะเป็นการท้าทายว่า ตกลงแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันมีอยู่เพื่อคุมม็อบหรือคุมโรคโควิดกันแน่ ซึ่งคนที่ออกมาชุมนุมเขาไม่ได้กลัวเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด เพราะตัวเลขมันชัดแล้วว่าประเทศไทยไม่มีการระบาดกันภายในประเทศ เป็นศูนย์กันมาหลายสิบวันแล้ว และที่สำคัญบทบาทของรัฐบาลในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบพร่ำเพรื่อ เช่น ไปจับคนที่ไปชูป้ายไปร้องเรียนที่สถานทูตกัมพูชา แล้วตั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือที่พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ไปอ่านประกาศคณะราษฎรที่มาบุญครอง มันก็เลยชัดเจนว่ามีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อจำกัดเสรีภาพมากกว่า
...ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นข้อเรียกร้องกลางๆ อย่างเรื่อง "ยุบสภา" ก็เพราะเกิดจากปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินที่มันไม่เวิร์กแล้ว เช่น การทำงานของคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือภาพลักษณ์ที่ไม่โปร่งใสของรัฐมนตรีบางคน หรือการยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อรวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรี รวมถึงการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.อนาคตใหม่หลังมีการยุบพรรค ทำให้สภา ไม่บาลานซ์ ไม่ฟังก์ชันในลักษณะที่จะเอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย พลเอกประยุทธ์จึงควรคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการยุบสภาที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
“อานนท์-ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องแก้ไข รธน.ที่ผ่านมาเหมือนกับกำลังมีการถ่วงเวลา ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องไปศึกษาอะไร เพราะมาตราที่เป็นปัญหาใน รธน.เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง เช่น การนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร คสช. ในมาตรา 279 หรืออำนาจของ ส.ว.ที่ให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย อีกทั้งที่มาของ รธน.และเนื้อหาที่เป็นโครงสร้างหลักของ รธน.ไม่เอื้อต่อระบบประชาธิปไตย เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตลอดจนเรื่องขององค์กรอิสระที่มีหลายส่วนมีปัญหาที่ชัดอยู่แล้วว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยที่เราเสนอก็คือให้ยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ คือแก้ไขหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไข รธน. ด้วยการให้มีคณะกรรมการยกร่าง รธน.ขึ้นมาทำการยกร่าง รธน.ใหม่ โดยอาจให้มาจากการเลือกในระดับจังหวัด หรือให้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน จากนั้นพอยกร่างเสร็จก็นำไปทำประชามติ
ส่วนข้อเรียกร้องเรื่อง ”หยุดคุกคามประชาชน” ประเด็นดังกล่าว เพราะตั้งแต่รัฐประหาร คสช.มา มีการคุกคามประชาชนเยอะ มีทหาร ตำรวจตามไปบ้าน ไปแอบถ่ายรูป จนถึงดักทำร้ายร่างกาย เช่น กรณีคนร้ายตีหัวจ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ เอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกทำร้ายร่างกายบ่อยๆ ซึ่งรัฐไทยก็ยังไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างจริงจัง โดยคนที่เคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลถูกทำร้ายร่างกายอย่างโจ่งแจ้ง และอีกส่วนที่อันตรายมาก คือการที่รัฐเริ่มปล่อยปละละเลย ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าคนที่ลี้ภัยทางการเมืองที่เขาตาย หรืออย่างกรณีอุ้มวันเฉลิม ใครเป็นคนทำกันแน่ มีการโยนกันไปมาในระดับกระทรวงและระดับประเทศ
เราเชื่อว่าหากรัฐบาลมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ โดยมุ่งมั่นที่จะตามหาคนของตัวเองจริงๆ สถานการณ์ก็ไม่ควรเป็นแบบนี้ หรืออย่างล่าสุดที่มีข่าว จะมีการคุกคามรังสิมันต์ โรม รวมถึงตัวผมและเพื่อนนักกิจกรรมอีกสองคน ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามันคือประเทศที่อยู่ลำบาก อยู่ลำบากเพราะสามารถจะขู่อะไรใครก็ได้ ไม่ได้ขู่ยากด้วย ก็ขู่ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก
เป้าหมายจริงๆ ในการเคลื่อนไหวก็คือ เพื่อให้มีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน แล้วก็ค่อยๆ แก้ไข รธน.กันไป รวมถึงเรื่องการทำร้ายนักกิจกรรม ประชาชน ก็ค่อยๆ แก้กันไป ซึ่งถ้ากองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงเล็งเห็นปัญหาเรื่องนี้ ก็ต้องสร้างความมั่นใจในการอยู่ร่วมกันของสังคมไทยว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องรังแกกัน คือเราไม่รู้หรอกว่าคนที่ตีหัวจ่านิว หรือทำร้ายนายเอกชัยคือใคร แต่ถ้ารัฐดูแลกันอย่างเข้มข้น ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการไปทำร้ายกัน หรือปล่อยให้มีเพจที่ไปยั่วยุให้ไปทำร้ายกัน มันก็จะดีขึ้น เพราะตอนนี้ก็มีข้อมูลออกมาว่าเพจที่มีลักษณะยั่วยุบิดเบือน สร้างโดยรัฐเองโดยใช้ IO
-แต่ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ ยังไงก็ยากที่นายกรัฐมนตรีจะทำตามได้ ถ้าเป็นแบบนี้การนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในกรุงเทพฯ ที่บอกจะกลับมาภายในสองสัปดาห์จะเป็นอย่างไร?
ในช่วงก่อนไปถึงครบกำหนดสองสัปดาห์ ผมคิดว่าจะเกิดปรากฏการณ์ที่เป็นลูกคลื่นแผ่ไปทั่วประเทศ จะเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่มีการจัดตั้ง คนจากส่วนกลางไม่ได้มีการไปนัดแนะให้ทำกิจกรรมอะไร อย่างที่กรุงเทพฯ พอจัดกันวันเสาร์ วันรุ่งขึ้นก็มีการจัดกิจกรรมที่เชียงใหม่ คือเป็นไปโดยธรรมชาติ โดยตอนนี้การเมืองไทยไม่เหมือนกับการเมืองเมื่อห้าปีสิบปีที่แล้ว ที่ต้องมีแกนนำหลัก แกนนำจังหวัด แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ก็อาจจะมีผู้นำ แกนนำ แล้วก็มีผู้นำย่อยๆ ที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน การเคลื่อนไหวจึงแปลกไปกว่าเดิม อย่างที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ก็คือการเคลื่อนไหวที่เป็นเอกเทศ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน แต่ข้อเรียกร้องมีแกนกลางเดียวกันก็คือ เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือให้มีการยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน
“สุดท้ายการชุมนุมที่กระจายอยู่ตามต่างจังหวัดจะกลับมาสู่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นเมื่อครบสองสัปดาห์หลังจากการชุมนุมเมื่อ 18 ก.ค. น่าจะเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย”
...เพราะวันที่มีการชุมนุมกันที่กรุงเทพ มันสะท้อนให้เห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นปัญหากับการจราจร และไม่ได้ไปก่อให้เกิดความวุ่นวายกับใคร รวมถึงสามารถควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบได้ โดยคนที่มาร่วมชุมนุมก็เป็นคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นเยอะมาก โดยก็มีคนรุ่น 40 ปีขึ้นไปก็มาร่วมกิจกรรม โดยทุกคนที่มาร่วมชุมนุมมีความพิเศษคือ ไม่มีการจัดตั้งกันมาอย่างการชุมนุมของเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่ผ่านมา มันอาจจะมีการจัดตั้งมาระดับหนึ่งแต่อาจไม่ทั้งหมด แต่การชุมนุมที่ผ่านมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ผ่านมา มีความเป็นเอกเทศและเป็นอิสระต่อกันอย่างชัดเจน โดยคนที่มาร่วมชุมนุมมีวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างชัดเจน ในการไม่ยอมรับในเรื่องต่างๆ เช่นความไม่ปกติของประเทศ ความเหลื่อมล้ำ โดยตัวนามธรรมเหล่านี้ถูกรีดออกมาให้เป็นรูปธรรมผ่านข้อเสนอต่างๆ
ผมคิดว่าม็อบรอบนี้มีความหลากหลาย คือทุกคนสามารถพูดได้ อันนี้คือเสน่ห์ที่สำคัญ ม็อบก่อนๆ นี้อาจจะเป็น เช่นแกนนำพูดได้ฝ่ายเดียว แต่หากสังเกตดูคนที่มาร่วมชุมนุมเขาจะมีประเด็นของเขา เช่นมีป้ายข้อความ มีรูปวันเฉลิม ทำให้ม็อบมีความหลากหลาย ทำให้สังคมเห็นว่าคนเรามีความเห็นที่หลากหลาย อันนี้คือข้อแตกต่างจากการชุมนุมก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดในสังคมไทย ส่วนพัฒนาการจะไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ที่ก็คงมีการประเมินกันแบบรายวันอยู่แล้ว
-ที่บอกหากจะนัดกันอีกครั้งที่กรุงเทพฯ คนจะมาเยอะ มองว่าเพราะปัจจัยอะไร สถานการณ์สุกงอม?
สถานการณ์สุกงอมหรือไม่ ผมยังมองไม่ขาดว่ามันสุกงอมหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกว่าเพราะคนมันทนมาเยอะ เลยทำให้คนออกมา คือมันผ่านการกดขี่มาเยอะ อย่างประชาชนพวกอายุ 40-50 ปีขึ้นไปที่มาร่วมชุมนุม ก็ผ่านการกดขี่ตั้งแต่สมัยเป็นเสื้อแดงมาแล้ว หลายคนก็ไม่พอใจ คนรุ่นใหม่ก็ผ่านการกดขี่มาอีกแบบหนึ่ง เช่นเคยได้เลือกตั้งครั้งแรกตอนปี 2557 ก็มาโดนยึดอำนาจไป แล้วพอเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่เขาเลือกคือพรรคอนาคตใหม่ก็มาโดนยุบพรรค จึงมีความไม่พอใจการกดขี่ การทำร้าย ที่มีมาอย่างเนิ่นนาน
-คนวิจารณ์กันว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น แม้จะบอกว่าเป็นกลุ่มนักศึกษา แต่ก็มีกลุ่มการเมือง เช่น คณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือมี ส.ส.พรรคก้าวไกลอย่าง รังสิมันต์ โรม อดีตนักกิจกรรมเกี่ยวข้องคอยสนับสนุน?
เป็นการดิสเครดิตแน่นอน เพราะว่าเอาจริงๆ เท่าที่ผมไปคุยกับผู้จัด คือกลุ่มนักศึกษา มันไม่มีใครอยู่เบื้องหลังเลย เขาจัดกันแบบใสมาก ใสจนถามกันว่าจะรอดหรือ คือมันไม่มีใครมาซัพพอร์ต แม้แต่การ์ดเราก็ยังใช้นักศึกษา พบว่าทางผู้จัดค่อนข้างจะใส อย่างลำโพงที่ใช้ในการชุมนุม ตอนแรกก็นำลำโพงแบบธรรมดาไป แต่พอคนเริ่มมาเยอะมาก ก็ค่อยๆ ไปยืมคนนั้นคนนี้มาใช้ เพราะมันไม่ได้ผ่านการเซตมาอย่างเป็นระบบจากพรรคการเมือง หรือคนที่มีประสบการณ์ในการจัดชุมนุมทางการเมืองมา ไม่มีเลย
-การใสๆ ดังกล่าวของพลังนักศึกษาที่ไม่มีประสบการณ์ แล้วหากต่อไปถ้ามีคนมาร่วมกันเยอะๆ พวกเขาจะคุมสถานการณ์ได้หรือไม่?
ตรงนั้นก็ต้องช่วยกัน อย่างผมก็พอมีประสบการณ์การชุมนุมบ้าง ก็ไปช่วยน้องๆ ดูแลเรื่องคน วันนั้นก็มีหลายภาคส่วนไปช่วยดูแลน้องๆ เช่นบรรดา "ป้าๆ" ที่เคยผ่านการชุมนุมมาทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง แล้ววันนี้เขาไม่พอใจรัฐบาลปัจจุบัน เขาก็ไปช่วยดูแล หรือนักศึกษาอาชีวะก็ไปช่วยกันเป็นการ์ด ซึ่งวันนั้นโชคดีด้วยที่ไม่มีมวลชนจัดตั้งมายั่วยุอะไร แต่การชุมนุมครั้งหน้าก็คงต้องให้มีการเตรียมเรื่องพวกนี้ให้เยอะขึ้น เพราะว่ามีแนวโน้มที่มีผู้ไม่หวังดีที่เราไม่รู้ว่าเป็นรัฐหรือเอกชน จะมีการมาสวมรอยจัดตั้งคนมาก่อกวน
อานนท์ ย้ำว่า เรื่องข้อเป็นห่วงว่าจะเกิดการเผชิญหน้าหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีการจัดม็อบมาชนม็อบมันก็จะไม่มีปัญหาแบบนั้น คนที่ชุมนุมไล่รัฐบาลก็อยู่โซนหนึ่ง ส่วนคนที่จะจัดให้มีการรวมตัวเชียร์ก็ไม่ควรมาจัดการชุมนุมในพื้นที่ใกล้ๆ ที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกัน หากไม่มีการสร้างบรรยากาศให้เป็นแบบนั้น มันก็ไม่มีปัญหา อย่างชุมนุม รักลุงตู่ ก็ไปจัดสวนลุมพินี ส่วนพวกต่อต้านก็จัดแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือเรื่องการชุมนุมจริงๆ เป็นเรื่องงดงามของประชาธิปไตย ก็อย่าไปสร้างบรรยากาศให้ปะทะกัน คือหากคิดจะมาขู่กัน เช่นม็อบลุงตู่จะออกมาแล้ว อีกฝ่ายต้องหยุดการชุมนุม มันก็เห็นชัดแล้วว่าม็อบไหนมีเจตนาบริสุทธิ์มากกว่ากัน คือหากฝ่ายหนึ่งเขาทำอยู่แล้ว และจะมีการให้ออกมาปะทะกัน ก็แสดงว่าไม่บริสุทธิ์ใจแล้ว ถามว่าม็อบที่จัดอยู่ก่อนโดยความชอบธรรมจะหยุดไหม เขาก็ไม่หยุด เพราะก็มีความชอบธรรม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐแล้วที่จะมาดูแลการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย ไม่ให้เกิดเหตุอะไรขึ้น
-มีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับการชุมนุมที่มีป้ายข้อความที่ไม่เหมาะสมพาดพิงสถาบันฯ?
ผมคิดว่ามันเป็นความเห็นส่วนตัวของคนที่มาชุมนุม แกนหลักของการชุมนุมครั้งนี้มีอยู่สามเรื่องเท่านั้น คือเรื่องยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน
คราวนี้เมื่อมีความเห็นหลากหลาย คนที่มีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ อันนั้นเป็นความเห็นส่วนตัว หากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็นว่าผิดกฎหมายก็ดำเนินคดีไป มันไม่ได้เกิดจากการจัดตั้งหรืออะไรจากคนที่จัดการชุมนุมเลย ผมคิดว่าเสรีภาพตรงนี้มันไปไกลแล้ว เราจะเอาความคิดของเราของคนรุ่นผมหรือคนที่แก่กว่าผมมาจับการชุมนุมในครั้งนี้แทบจะไม่ได้เลย
-แต่ก็ยังมีคนออกมาวิจารณ์กันว่าต้องการล้มสถาบันฯ?
ถ้าทุกคนสื่อสารกันตรงๆ หากใครมีข้อมูลก็นำออกมาแชร์กัน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันตรงๆ อย่าไปบิดเบือนว่านักศึกษามีเบื้องหลังมาจากฝ่ายอดีตพรรคอนาคตใหม่ มันไม่จริงอยู่แล้ว มันเห็นชัดว่ามันไม่มี มันไม่ใช่ เรื่องล้มล้างสถาบันฯ ก็ไม่มี เพราะข้อเสนอก็ชัดอยู่แล้วกับสามข้อที่ออกมา ส่วนคนที่เขาแสดงออกมาก็ให้ดูเป็นเรื่องๆ ไป หากเป็นสิทธิเสรีภาพที่เขาทำได้ มีเหตุมีผลก็ต้องฟังเขา ไม่ใช่เรื่องที่ไปปิดปากไม่ให้เขาพูด ก็ใช้วิธีการชี้แจงกลับ อย่าไปเติมเชื้อไฟ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง การที่ไปป้ายสีว่าม็อบล้มเจ้า เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมาก เพราะคนที่ไปม็อบเขาก็มีอารมณ์ความรู้สึก และสังคมรอบข้าง คนที่มีสติก็มี แต่คนที่ไม่มีสติแล้วไปเชื่อตามที่ข่าวออกหรือที่รัฐไปป้ายสี แล้วเกิดไปทำร้ายคนที่มาชุมนุม ก็จะเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย คนที่ไม่เห็นด้วยกับม็อบก็ควรให้เหตุผลที่เป็นเหตุผลจริงๆ มันสุ่มเสี่ยงมากนะเรื่องม็อบล้มเจ้า เพราะประเทศเราผ่านการสูญเสียอย่างเช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาแล้ว เรื่องการป้ายสีเรื่องล้มเจ้า ที่เมื่อสูญเสียแล้วมันเอาคืนไม่ได้ แล้วมันเป็นบาดแผลของประเทศของประวัติศาสตร์เลย
เราถามว่านับแต่ออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง ได้รับผลกระทบส่วนตัวอย่างไรบ้าง อานนท์-ทนายความ ออกตัวว่าผมเฉยๆ กับการเคลื่อนไหวของตัวเอง ผมคิดว่าเมื่อถึงเวลาก็จะถึงเวลาในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือคนเราไปหาฟางเส้นสุดท้ายกันเสียเยอะ เช่นยุบพรรคแล้วจะมีคนออกมา รอถ้าโน่น ถ้าอะไรต่างๆ แต่จริงๆ ผมว่ามันไม่ใช่ คือการเมืองไทยต้องรอน้ำผึ้งหยดเดียว ที่เราก็ไม่รู้มันคืออะไร ที่จะรอให้รัฐบาลสะดุดขาตัวเองแล้วให้คนออกมา อย่างครั้งนี้ที่รัฐบาลสะดุดขาตัวเองในเรื่องทหารอียิปต์ มันก็ชัดอยู่ หรือกรณีของวันเฉลิม ที่มันไม่มีความชัดเจน ก็ทำให้คนรู้สึกเรื่องนี้กันมากขึ้น หรือเรื่องการคุกคาม เวลาพูดเรื่องการคุมคามอย่างเอกชัย หงส์กังวาน หรือจ่านิวโดนตีหัว คนก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องออกมาเยอะๆ แต่พอเกิดกรณีวันเฉลิม ผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็มีคนออกมาเรียกร้องให้วันเฉลิมเยอะ
-สรุปสุดท้ายเป้าหมายสูงสุดของการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมที่มีขึ้นคืออะไร?
ผมคิดว่าเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภาพรวม อันนี้คือเป้าหมายสูงสุด คือเวลาเราพูดถึง นายกฯ ให้ลาออก ยุบสภา หรือแก้รัฐธรรมนูญ มันก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในแง่ความคิดของคน ซึ่งคนรุ่นใหม่เขาก็มีไอเดียพวกเรื่องความเท่าเทียม การไม่อยากให้มีอภิสิทธิ์ชน แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จำนวนมากไม่ได้มีความคิดถึงขนาดจะไปล้มล้างสถาบันอะไร
-คิดว่าพลเอกประยุทธ์จะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ก็ดูเหมือนจะทำให้อยู่ได้ยาวนาน เช่นการสนับสนุนจากกองทัพ?
พลเอกประยุทธ์คงอยู่ได้ไม่เกินปีนี้จากเงื่อนไขทั้งภายในและภายนอก โดยเงื่อนไขภายนอกคือการที่มีประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้และต่อต้าน ส่วนภายในก็คือเอกภาพในการบริหารงานไม่มีแล้วตอนนี้ จากกรณีเช่นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ที่เริ่มยึกๆ ยักๆ ทำให้การยุบสภามีความเป็นไปได้สูง เช่นอาจรอให้ร่าง พ.ร.บ.งบปี 2564 ผ่านออกมาก่อน การยุบสภาจึงเป็นทางลงให้กับพลเอกประยุทธ์ด้วยซ้ำ ที่จะไม่ต้องลงแบบประชาชนมาไล่หรือมีเหตุการณ์นองเลือด
เราต้องตระหนักก่อนว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ และเป้าหมายทุกม็อบเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง และครั้งนี้มันชัดเจนอยู่ว่ามีเหตุผลพอสมควร และเป็นเหตุผลที่หนักแน่นที่ทำให้คนจะออกมาร่วม เพราะทุกคนทนมานานแล้วกับการแก้ปัญหา ทุกคนทนมานาน จนมาถึงจุดที่ทุกคนออกมา ก็อยากให้ทุกคนออกมาแสดงความเห็นมาแสดงออก โดยทุกฝ่ายก็ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง อย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดการปะทะกัน อย่าให้มีการยั่วยุ.
วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |