เรื่องไม่สนุก 'แต่ควรอ่าน'


เพิ่มเพื่อน    

       วันนี้.........

                "เรื่องคุยมีเยอะ" มีทั้งเรื่องม็อบมุ้งมิ้ง เมายากันยุง เรื่องตำรวจ-อัยการ เมากระทิงแดง

            เรื่องอดีตอธิการเฒ่าเป่าตูดเด็ก รวมถึงเรื่องสาวกแซงต์ฌุสต์ เมากาว ยุให้นักศึกษาปลุกอารมณ์โกรธ ไม่งั้นปฏิวัติล่มชาติ-ล้มสถาบันไม่สำเร็จ

            แต่........

            ไม่อยากคุยเลยซักเรื่อง วันนี้!

            เพราะทั้งหมด เป็นมิจฉาทิฐิทางอำนาจ และตัณหา โมหะของมนุษย์เฉโก พูดไปก็ไม่ต่างตักน้ำรดหัวสาก คือเปล่าประโยชน์

            เพราะที่ทำกัน ใช่ว่า "ผิดด้วยซื่อ"

            หากแต่ "จงใจ" ด้วยเล่ห์ กันทั้งนั้น!

            คุยเรื่องนี้ดีกว่า ไม่สนุกหรอก แต่ผมเห็นว่า มันสำคัญต่อ "มนุษยชาติ" อันว่าด้วย "ความหวัง" ในเส้นทางท้อแท้จากโควิด

            คือเมื่อวาน (๒๔ ก.ค.๖๓) MGR ออนไลน์ และ "สำนักข่าวไทย" รายงานความคืบหน้าเรื่องวัคซีนต้านไวรัสโควิด

            ผมเห็นว่า มีคุณค่า ควรให้ความสนใจมากกว่าเรื่องน่ารังเกียจเหล่านั้น วันนี้ จึงคัดลอกข่าวจาก ๒  สำนักดังกล่าว มาจี้-มาไช ให้ได้รับรู้กัน

            เริ่มจากข่าวของ MGR ออนไลน์ก่อน ดังนี้

            "ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล" เลขาฯ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ

            รายงานการติดตามความคืบหน้าการพัฒนา "วัคซีนโรคโควิด-19" ของทั่วโลก ว่า

            "ในสัปดาห์นี้ มีข้อมูลสำคัญน่าตื่นเต้นตลอดสัปดาห์"

            โดยมีรายงานผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ในระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒ ที่ให้ผล น่าพอใจ

            โดยเฉพาะ วัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ร่วมกับบริษัท แอสตราเซเนคา ประเทศอังกฤษ

            และวัคซีนที่พัฒนาโดย "บริษัท แคนไซโน" ประเทศจีน

            พบว่า วัคซีนทั้งสองแบบนี้

            สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในอาสาสมัคร และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง

            ประกอบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มีรายงานผลการทดสอบวัคซีนของ "บริษัท โมเดิร์นนา" สหรัฐฯ ผลเป็นไปทิศทางเดียวกันด้วย

            ผลดังกล่าว.....

            "ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความมั่นใจมากขึ้นว่า จะสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ใช้งานได้"

             ขณะนี้ มีวัคซีนที่กำลังทดสอบในมนุษย์ถึง ๓๐ แบบ อย่างน้อยแบบใด-แบบหนึ่ง หรือหลายๆ  แบบ น่าจะใช้งานได้

            การพัฒนาวัคซีนช่วงต่อไป.....

            "จะเข้าสู่การทดสอบระยะที่ ๓ ในประชากรจำนวนมาก"

            เพื่อดูผลการป้องกันการติดเชื้อ

            ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะได้รับการรับรองเพื่อใช้งานทั่วไป

            การทดสอบในช่วงต่อไป จะติดตามว่า ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนี้ จะอยู่ได้นานแค่ไหน

            รวมทั้งติดตามโดยละเอียดในเรื่องความปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

            ที่สำคัญ จะต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้น จะไม่ติดเชื้อ โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน

            เพราะในการทดสอบที่รายงานกันนี้ เป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการว่ามีระดับแอนติบอดี หรือมีภูมิคุ้มกันด้านเซลล์เพิ่มขึ้น

                แต่ยังไม่ได้ยืนยันว่า "ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้ จะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่"

            ซึ่งจะต้องใช้เวลาติดตามพอสมควรเพื่อให้มั่นใจ นอกจากนี้ ยังต้องเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย

            "ช่วงเวลาที่น่าจะมีวัคซีนที่ใช้งานได้จริง" โดยผ่านการทดสอบครบทุกขั้นตอน และผลิตได้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับคนจำนวนมาก

            ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกได้คาดเอาไว้นั้น

                "น่าจะเป็นกลางปีหน้า เป็นต้นไป"

            ในช่วงต้นปี ๒๕๖๔ จะเริ่มมีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่พร้อมใช้ในคน

            "แต่จะยังคงมีจำนวนจำกัด"

            หลังจากนั้น จึงจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีวัคซีนจำนวนมากเพียงพอ

            ในเรื่องรูปแบบการใช้งานและราคานั้น.........

            วัคซีนแต่ละแบบที่กำลังทดสอบในขณะนี้ ให้ผลที่ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่ จะเห็นผลว่า มีระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอ หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ ๒

            ดังนั้น จึงคาดว่า......

            "จะต้องฉีดวัคซีนคนละ ๒ ครั้ง ห่างกันหนึ่งเดือน"

            และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มีการเปิดเผยผลการเจรจาบ่งบอกแนวโน้มราคาวัคซีน

            โดยรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งซื้อวัคซีนที่พัฒนาโดย "บริษัทไบออนเทค" ประเทศเยอรมนี ร่วมกับ "บริษัท ไฟเซอร์" สหรัฐอเมริกา เป็นการ "จองซื้อล่วงหน้า" หากวัคซีนประสบความสำเร็จโดยระบุราคาไว้เลย

            ทั้งนี้ ได้สั่งซื้อจำนวน ๑๐๐ ล้านเข็ม (สำหรับฉีดในคน ๕๐ ล้านคน) ที่ราคา ๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับเข็มละ ๒๐ เหรียญสหรัฐฯ

            ประเมินกันตอนนี้ว่า "วัคซีนโควิด-19" จะราคา ๒๐ เหรียญ หรือ ๖๒๐ บาท

            "ฉีดคนละ ๒ เข็ม เท่ากับค่าวัคซีน ๑,๒๔๐ บาท"

            นี่เป็นครั้งแรก ที่มีการเปิดเผย "ราคาคาดการณ์" วัคซีนซึ่งก่อนหน้าที่มีการจอง เป็นกึ่งการให้ทุนวิจัย ไม่ได้ระบุราคาเอาไว้

            "ราคาเข็มละ ๒๐ เหรียญ ใกล้เคียงกับราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่”

            สำหรับประเทศไทย.......

            มีการดำเนินงานด้านวัคซีนคู่ขนานกันทั้ง ๓ แนวทาง คือ           

            -การพัฒนาวัคซีนในประเทศ

                -การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วจากต่างประเทศ เพื่อให้ผลิตได้เพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ

                -การเตรียมจัดหาวัคซีนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

                ครับ......

            เรื่องวัคซีนต้านโควิด ไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จเฉพาะประเทศใด-ประเทศหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องเพื่อมนุษยชาติโดยรวม

            เมื่อออกซฟอร์ดพัฒนาไปถึงขั้นนั้นแล้ว อะไร-ช่องทางไหน ที่จะเป็นมรรคผลกับคนไทยได้เร็ว  รัฐบาลเราไม่ทิ้งช่องทางนั้น

            และนี่คือ ต้นเหตุนำไปสู่ข่าว ที่ "สำนักข่าวไทย" เผยแพร่เมื่อวาน ก็ตั้งใจอ่านกัน และทำความเข้าใจไปทีละบรรทัดนะ

            "นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร" ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019-ศบค.

            กล่าวถึง กรณีมีรายงานข่าว ว่า.......

            ประเทศไทย เตรียมไปเจรจา "ขอซื้อวัคซีน" ป้องกันโควิด-19 จากออกซฟอร์ด ด้วยงบประมาณ  ๖๐๐ ล้านบาท ว่า

            "เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน"

            ข้อเท็จจริงคือ......

            "ตอนนี้ ออกซฟอร์ด โดยความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนของเขาเอง มีการพัฒนาวัคซีนก้าวหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จในเร็วๆ นี้

            เพราะมีการทดลองในคนกว่า ๑๐,๐๐๐ คน โดยการฉีดวัคซีนในคนเข็มแรก ให้การตอบสนองที่ดีมาก ร้อยละ ๙๐ มีภูมิต้านทาน"

            ทั้งนี้ ออกซฟอร์ด มีวัตถุประสงค์ว่า....

            หากพัฒนาวัคซีนสำเร็จ จะให้คนทั้งโลกได้ใช้วัคซีนนี้ด้วย ด้วยราคาที่ไม่มีกำไร

            แต่ถ้าผลิตเอง คงไม่เพียงพอ

            จึงมีการพิจารณาโรงงานผลิตวัคซีนในแต่ละทวีปว่ามีที่ไหนมีศักยภาพที่จะผลิตได้ ก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ซึ่งในเอเชีย ก็ได้ที่อินเดีย

            ในขณะที่ประเทศไทยเราเอง ก็มี "บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด" ที่สามารถรองรับการผลิตได้

            จึงหารือกันว่า......

            ถ้าเราสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาได้ ก็จะเป็นการผลิตวัคซีน ตั้งแต่ ต้นน้ำ, กลางน้ำ, ปลายน้ำ เลย

            ดังนั้น ผมจึงขอให้รัฐบาลเป็นตัวแทนไปเจรจากับออกซฟอร์ด เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้คนไทยผลิต

            ส่วนงบ ๖๐๐ ล้านบาท.......

            ก็จะใช้เพื่อการพัฒนาบริษัทของคนไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับกับเทคโนโลยีที่เขาจะให้มา

            ซึ่งตอนนี้....

            ก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ลงไปตรวจสอบโรงงานผลิตแล้ว 

            คาดว่า จะสามารถให้การรับรองมาตรฐาน GMP ได้ประมาณเดือนกันยานี้

            ในการเจรจานั้น......

            ประเทศไทยเรามีทีม "บริษัท สยามซีเมนต์ กรุ๊ป จำกัด" (มหาชน) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับออกซฟอร์ด

            ดังนั้น จะร่วมกับ "กระทรวงการต่างประเทศ" ไปเป็นผู้เจรจาทำความยืนยันเพื่อรับเทคโนโลยีมาผลิต

            ซึ่งอันนี้ มีความเป็นได้ที่สุด เพราะทำได้เร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

            หากทำสำเร็จ แล้วเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมานั้น

            "เราจะสามารถผลิตได้ หลังจากนั้นประมาณ ๖ เดือน" ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะผลิตได้ คือ ๒๐๐ ล้านโดส

            "ถือว่าเป็นปริมาณมาก สามารถนำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย"

            ส่วนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย โดยคนไทยนั้น ยืนยันว่า

            "ไม่ว่าจะเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยนั้น จะไม่หยุดเดินหน้า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่"

            ครับ........

            ในความหลากหลายเรื่องวัคซีน ทั้ง ๒ ข่าวนี้ ถือเป็นมาตรฐานในทิศทางไทย ที่เป็น "รูปธรรม" ด้านวัคซีน

             จึงอยากให้รู้กันไว้ เพื่อไม่มืดตื้อ ในทางเดินชีวิต.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"