อย่ามองไปไกลกว่า 'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย'


เพิ่มเพื่อน    

   กลับมาผุดเป็นดอกเห็ดเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดอีกครั้ง สำหรับการออกมาชุมนุมของบรรดานักศึกษาและประชาชนกลุ่มที่เลือกยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล โดยชนวนสำคัญเริ่มมาจากกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก-Free Youth” ที่จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอ 3 ข้อ 1.ต้องประกาศยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อหยุดสืบทอดอำนาจ ซึ่งบรรดาแกนนำของกลุ่มเยาวชนปลดแอกก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าแต่อย่างใด

            ทั้งตัวของ “เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์” แกนนำฮาร์ดคอร์ที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัยที่เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ หรือจะเป็น “ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี” ซึ่งหากยังไม่ลืมกัน เจ้าตัวคือคนที่เข้าไปจูบกับแฟนหนุ่มในสภา ตอนแถลงข่าวเรียกร้องการแก้กฎหมายสมรส เมื่อกลางเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ส่วนอีกคนที่เพิ่งจะมาสร้างชื่อตอนหลังคือ “ไมค์ ภาณุพงษ์ จาดนอก” 1 ใน 2 วัยรุ่นที่ไปชูป้ายต้อนรับ “บิ๊กตู่” ตอนไปเยือนระยอง จากปัญหาโควิด-19 และถูกควบคุมตัว จนทำให้ชื่อของ “ไมค์ ภาณุพงษ์” กลายเป็นนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับตามากที่สุดในช่วงนี้ ยังไม่รวมกับบรรดานักเคลื่อนไหวที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีในหลายๆ สมรภูมิ

            และยังไม่ทันจะครบอาทิตย์ดี กลายเป็นว่ามีหลายพื้นที่ในประเทศไทยกลับมาชุมนุมแบบ “แฟลชม็อบ” กันอีกครั้ง ทั้งใน จ.เชียงใหม่ อุบลราชธานี มหาสารคาม สงขลา ปทุมธานี ขอนแก่น และยังคงมีอีเวนต์ที่หลายๆ มหาวิทยาลัยกำลังเตรียมจะจัดการชุมนุมกันอย่างเอิกเกริกอย่างต่อเนื่องในช่วงสองอาทิตย์จากนี้

            ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แฟลชม็อบกลับมาลามอย่างรวดเร็วอีกครั้ง นอกจากความ “กระเหี้ยนกระหือรือ” ของบรรดาเด็กร้อนวิชาแล้ว การยั่วยุจากภาครัฐก็เป็นอีกสาเหตุที่ยิ่งเป็นการสุมไฟให้แฟลชม็อบเหล่านี้ฮึกเหิมกว่าเดิม ทั้งการที่ กทม.เอาต้นไม้มาจัดในพื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ค. ทำให้หลายฝ่ายมองว่า กทม.รับบัญชาจากผู้มีอำนาจ เพื่อขัดขวางการนัดชุมนุม

            เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อมีวลี “ม็อบมุ้งมิ้ง” ออกมาจากคู่ขัดแย้งโดยตรงของพวกเขา เมื่อ “ผู้พันเจี๊ยบ” พ.อ.หญิงนุสรา วรภัทราทร โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กตัวเองจนนำไปสู่การนัดชุมนุมที่หน้ากองทัพบก จนปรากฏเป็นภาพการบุกลูบคมถึงหน้าบ้าน เมื่อแกนนำผู้ชุมนุมจัดการฉีกรูป “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่ว

            อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กลายเป็นเรื่อง “กอสซิป” มากที่สุดในการชุมนุมรอบนี้คือ การแสดงออกของคนบางกลุ่มที่มาร่วมชุมนุม ตามที่มีหลายคนออกมาให้ความเห็นว่า แท้จริงแล้วจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพวกเขา “ไปไกลเกินกว่าการล้มรัฐบาล” ซึ่งคนที่ไปชุมนุม หรือคนที่ติดตามข่าวการเมืองในโลกโซเชียลอยู่เป็นนิจ ย่อมเข้าใจความเห็นที่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้ชุมนุมหยิบยกขึ้นมาได้เป็นอย่างดี

                “ถึงเวลาแล้วที่เราต้องยอมรับความจริงว่านอกเหนือจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ยังมีการแสดงออกในประเด็นอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจในสังคม ซึ่งเป็นความรู้สึกของยุคสมัย ถ้าพวกเราพร้อมและรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่จริงๆ ขอเชิญให้พวกเราตั้งสติใหม่เปิดใจปรับมุมมอง เพราะถ้าเราไม่พร้อมรับฟัง มองเยาวชนที่ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน เช่นนั้นประเทศจะไม่มีทางออก ไม่มีอนาคต เพราะพวกเราช่วยกันฆ่าอนาคตของประเทศเองแล้ว”

                พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวไว้ในการประชุมสภา เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา “อาจเป็น” ประโยคทางการที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่บรรดาผู้ชุมนุมต้องการนำเสนอต่อสังคมมากที่สุด

            ซึ่งการชุมนุมระลอก 2 นี้ไม่ใช่เพียงแค่ที่ใดที่หนึ่งที่มีผู้ชุมนุมแสดงออกในเรื่องดังกล่าวผ่าน “ป้าย” ที่นำมาชูกันสลอน โดยเฉพาะการนำเอาภาพของผู้ลี้ภัยที่ถูกรัฐไทยตีตราว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้ง “นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” และ “นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ 2 คนนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ชื่อกลุ่มในเฟซบุ๊ก” หรือแม้แต่ “สัตว์เลี้ยง” ทำเป็นป้ายผ้า และพยายามผลักดันรูปและข้อความเหล่านี้ให้กลายเป็น “สัญลักษณ์” และ “รหัสลับ” ในการแสดงจุดยืน ซึ่งจนถึงตอนนี้ภาครัฐยังคงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อเรื่องเหล่านี้ออกมา

            อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายต่างออกมาให้ความเห็นต่อสถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าจ่อ “ล่อแหลม” มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นทีมเดินเชียร์ลุง ที่เตรียมจะจัดกิจกรรมตอบโต้หลังช่วงหมดการระบาดของโควิด-19 พร้อมแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้ชุมนุมบางส่วนเรียกร้อง เช่นเดียวกับหลายต่อหลายคน ทั้งนายแพทย์วรงค์ เดชวิกรม อดีตผู้บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นายสาธิต เซกัล นักธุรกิจชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และคนอื่นๆ อีกหลายคน

            ขณะที่ “อดีตเคยแรง” อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนดังที่เคยผ่านมาทั้งเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ และร่วมชุมนุมกับ นปช.อีกหลายครั้ง ก็ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งช่วงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเอา “ตุ๊ดตู่” ออกสื่ออยู่บ่อยๆ ในประเด็นนี้ พร้อมยกตัวอย่างบทสรุปเหตุการณ์การเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

            อย่างไรก็ตาม หากมองจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงผิวเผินนั้น ก็อาจจะคล้ายกับบางเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ดังเช่นที่หลายๆ คนฟันธงตอนจบเอาไว้แล้ว หากบรรดาผู้ชุมนุมยังมองไปไกลเกินกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ในรายละเอียดนั้นต้องอย่าลืมว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยเชื่อมกับโลกได้ รวมถึงการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเผยแพร่อย่างรวดเร็วผ่านโลกออนไลน์ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะความโกลาหลอาจจะเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ลักษณะ “น้ำผึ้งหยดเดียว”

            จึงนับเป็นความท้าทายสำหรับรัฐไทยอย่างยิ่ง ว่าจะหาวิธีรับมือผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่า “คนรุ่นใหม่” ได้อย่างไร ทั้งสมรภูมิบนท้องถนน และสมรภูมิที่หนักไม่แพ้กันอย่างในโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากรัฐบาลใช้วิธีการรับมือที่ “เด็ดขาด” หรือ “กระทำในลักษณะบังคับ” โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเจรจา ย่อมส่งผลโดยตรงกับทั้งภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่วันนี้ก็ดูไม่จืดอยู่แล้ว และสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง และหากไปถึงจุดนั้นจริงๆ ก็คงต้องบอกได้แค่ว่า ตัวใครตัวมันแล้วกัน.

           

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"