24 ก.ค.63- เภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารเเละยา(อย.) เปิดเผยว่า การปลูกกัญชง ในรูปแบบเศรษฐกิจ อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขกฎกระทรวงกัญชง ซึ่งคาดว่าจะจบในสัปดาห์หน้า เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งร่างพระราชบัญญัติ กลับมาเพื่อให้ ครม. รับทราบ และส่งให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ลงนาม โดยจะมีผลภายใน 30 วันหลังจากที่กฎกระทรวงฉบับนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะสามารถปลูกได้ภายในเดือนตุลาคม 2563 นี้
"ส่วนกฎกระทรวงกัญชา เพื่อพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน เพื่อนำผลผลิตไปผลิตยา ได้ผ่านกฤษฎีกาในวาระแรกไปแล้ว รอพิจารณาในวาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในส่วนของกัญชา ไม่สามารถทำได้คล่องตัว เนื่องจากถูกล้อมด้วย บทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติ ที่ต้องให้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐ 5 ปี" เภสัชกรหญิงสุภัทรากล่าว
ทั้งนี้ ทั้งกัญชาและกัญชง ยังคงเป็น ยาเสพติด ให้โทษประเภทที่ 5 เพราะฉะนั้นในเรื่องของการขออนุญาต จะต้องมี เงื่อนไขเข้มงวด และรัดกุม และทางกระทรวงสาธารณสุขมีการเสนอเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ เพื่อให้ผู้ป่วย หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย สามารถปลูกได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วาระที่ 2
“เนื่องจากกัญชา และกัญชง ยังคงติดในเรื่องของยาเสพติด ให้โทษประเภทที่ 5 ดังนั้นการขออนุญาตจะต้องมีเงื่อนไข ที่เข้มงวดและรัดกุม ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา จะต้องมีแผนการ และขออนุญาต ปลูกแล้วต้องมีคนรับซื้อ และผลผลิตไม่ตกค้าง”
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ถือการปลดล็อคครั้งสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้น และ ขออนุญาตปลูกกัญชงซึ่งก็คือ กัญชาสายพันธุ์ที่มี THC ต่ำ ได้ง่ายขึ้น คาดว่า กฎกระทรวงกัญชา และกฎกระทรวงกัญชง จะประกาศใช้ได้ ภายในเดือนสิงหาคม นี้ หลังจากนั้น ประชาชน ก็จะสามารถปลูกกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ ได้จริง เพียงแต่ต้องขออนุญาตปลูก และผลิต ให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข จะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีเนื้อหาให้ประชาชนที่เป็นผู้ป่วย แพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชา ได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ 3 รูปแบบ คือ 1.การปลูกกัญชา ในรูปแบบพืชเศรษฐกิจ เพื่อนำผลผลิตที่มีคุณภาพไปผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสารสกัดใส่ในอาหาร ตลอดจนเครื่องสำอาง เพิ่มมูลค่าทางศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการไทย
2.การปลูกกัญชา ในรูปแบบพึ่งพาตนเองระดับชุมชน เพื่อนำผลผลิตไปผลิตเป็นยาในระดับชุมชน ตามตำรับยาไทย แพทย์แผนไทย และ หมอพื้นบ้าน เพื่อรักษาภูมิปัญญาไทย ไว้ให้คงอยู่กับท้องถิ่น และได้รับการพัฒนาต่อยอด ให้มีประสิทธิผล มีคุณภาพการรักษาสูงสุด โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
และ 3.การปลูกกัญชา ในรูปแบบพึ่งพาตนเองในระดับครัวเรือน เพื่อนำผลผลิตไปใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสมุนไพร เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรในครัวเรือน
ทั้งนี้ การปลูกกัญชาทั้ง 3 รูปแบบ จะต้องมีข้อกำหนด เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากวัตถุประสงค์ วิธีการปลูก และการนำไปใช้มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติด ตามที่พรรคภูมิใจไทย ได้นำเสนอเข้าสู่รัฐสภาไปก่อนหน้านี้ คือ ผู้ป่วยขออนุญาตปลูกกัญชาได้คนละ ไม่น้อยกว่า 6 ต้น และ เกษตรกรที่ประสงค์จะปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้ในรูปแบบคอนแท็กฟาร์มมิ่ง
เป็นที่น่าจับตาในการเสนอกฎหมายทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว จะเป็นการรุกคืบครั้งสำคัญของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ของรัฐบาลที่ได้บรรจุเอาไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และตามเสียงเรียกร้องของประชาชน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |