"นายกฯ" ขอบคุณ "บัวแก้ว" ดูแลคนไทยต่างแดน-พากลับบ้าน ย้ำเราต้องไม่ทิ้งกัน ปลุกเอกชนร่วมมือรัฐคัดกรองแรงงานต่างด้าว ลั่นรับคนแต่ไม่รับโรค พร้อมขอนักธุรกิจทำโครงการคู่ขนานฟื้นฟู ศก.หลังโควิด "ศบค." เผยพบติดเชื้ออีก 8 ราย กลับจาก ตปท. "สธ." ปลื้มไทยที่แรกร่วม WHO ถอดบทเรียนโควิด
ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2563 ถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ขอบคุณเจ้าหน้าที่ กต.ทั้งในและต่างประเทศ ในการเป็นด่านหน้าดูแลพี่น้องคนไทยในต่างแดน วันนี้ได้นำคนไทยกลับจากต่างประเทศประมาณ 60,000 คน โดยผ่านการคัดกรองทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ขณะเดียวกันยังมีคนค้างอยู่จำนวนมากพอสมควร ซึ่งเรื่องการดูแลให้สิ่งของอุปโภคบริโภคได้ทำอย่างต่อเนื่อง คนที่ไม่ได้กลับมาเราไม่ทิ้งกันไม่ว่าอยูที่ไหนก็ตาม ในประเทศก็ต้องไม่ทิ้งกัน รัฐบาลมีนโยบายอย่างนั้นอยู่แล้ว ขอให้กำลังใจทุกคนทำงานด้วยความสุข ตั้งใจ ซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร และอดทน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ระยะต่อไปเป็นการเตรียมการเปิดโรงงานรับแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานในการคัดกรองความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีความต้องการแรงงาน เพราะหลายอย่างรัฐบาลรับเองไม่ไหว ดังนั้นต้องช่วยกัน ได้ให้แนวทางไปแล้ว
“เราต้องเตรียมความพร้อมการรองรับคน โดยจะรับคน แต่ไม่รับโรคโควิด-19 เข้ามา หลายคนต้องช่วยกัน ทุกคนต้องติดตามมาตรการของภาครัฐ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในมาตรการของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ เพื่อลดความขัดแย้ง ใครจะทำผิดทำถูกอย่างไรประชาชนรู้ บางครั้งรัฐบาลกำชับไป ก็ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วม จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ต้องร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะมีความเสี่ยงที่จะเสียมากกว่าได้ อย่าลืมว่าวันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจพร้อมๆ กับสุขภาพ ซึ่งสุขภาพเราทำได้ดีมากในขณะนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องบริหารจัดการพื้นที่ข้างล่างร่วมกับท้องถิ่นและประชาชน เพื่อให้สิ่งต่างๆ ตรงความต้องการของประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจเหล่านี้ให้ได้ และต้องมองในส่วนของผู้ประกอบการ นักธุรกิจด้วย ไม่ใช่ว่าดูแลคนรวยคนจน มันไม่ใช่เป็นคนละมิติกัน สิ่งสำคัญต้องทำให้เกิดการจ้างงานมากยิ่งขึ้น และไม่ทำให้เขาล้มละลาย แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มีอยู่
ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงข่าวโครงการ THAILAND SMILES WITH YOU #ยิ้มให้โลกให้โลกยิ้ม ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จัดโครงการเพื่อสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เราสามารถควบคุมการติดเชื้อการแพร่ระบาดอันดับหนึ่งในโลก จนได้รับความชื่นชม ดังนั้นเป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจไปด้วยกันของคนไทย ซึ่งไม่ได้เกิดโดยรัฐบาลหรือคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นคนไทยทั้งประเทศที่ช่วยกันทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตาม ทั้งภาครัฐเอกชน ธุรกิจต่างๆ หากช่วยเหลือกันแบบนี้ โอกาสในยามยากเช่นนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราสามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างดี
"สิ่งที่ผมได้หารือใน? ศบค.ทั้งภาครัฐและเอกชน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญพร้อมกัน ในระยะแรกที่มีการติดเชื้อ ก็ต้องดูเรื่องสุขภาพ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายเราก็ต้องหามาตรการผ่อนคลายให้ทุกอย่างค่อยๆ? แย้ม ค่อยๆ ยิ้มออกมา ซึ่งวันนี้เราก็เตรียมการในระยะต่อไป สิ่งเหล่านี้เราต้องพิจารณาให้เกิดความสมดุลซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ? สังคมและสาธารณสุข วันนี้จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งออก ภาคอุตสาหกรรมและการบริการธุรกิจ อาหาร ร้านค้า นั่นคือห่วงโซ่ธุรกิจประเทศไทย" นายกฯ กล่าว
ติดเชื้ออีก 8 กลับจาก ตปท.
ขณะที่ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 8 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,269 ราย หายป่วยสะสม 3,105 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 106 ราย ผู้เสียชีวิตคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยรายที่ 1-4 เดินทางกลับมาจากอียิปต์ 2 ราย เป็นเพศชายอายุ 21 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 8 ก.ค. และเข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค. โดยทั้ง 2 รายไม่มีอาการ แต่ก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยยืนยันในเที่ยวบินเดียวกันจำนวน 15ราย ส่วนรายที่ 3 และ 4 เป็นเพศชาย อายุ 20 ปี และ 24 ปี อาชีพนักศึกษา เดินทางถึงไทยวันที่ 17 ก.ค. เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 1 ในวันที่ 21 ก.ค. ทั้ง 2 รายไม่มีอาการ แต่ก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยยืนยันในเที่ยวบินเดียวกัน 4 ราย
ส่วนรายที่ 5 และ 6 เป็นนักศึกษากลับจากซูดาน เพศชายและหญิงอายุ 20 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 10 ก.ค. พบมีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จึงมีการตรวจหาเชื้อ ณ ด่านควบคุมโรคสนามบินสุวรรณภูมิ ในขณะนั้นไม่พบเชื้อ จึงเข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี และมีการตรวจพบเชื้อในครั้งที่ 3 วันที่ 21 ก.ค. โดยก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยยืนยันในเที่ยวบินเดียวกัน 15 ราย ส่วนรายที่ 7 และ 8 เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา เป็นเพศหญิงอายุ 22 ปีและ 23 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงไทยวันที่ 18 ก.ค. เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ กรุงเทพฯ พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 21 ก.ค. อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าขณะนี้จำนวนคนที่รับเข้ามาในสถานที่กักตัวของรัฐมีเท่าไหร่ ขณะนี้มี 60,470 ราย พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 332 ราย ถือว่ามีจำนวนไม่มาก
รองโฆษก ศบค.กล่าวถึงทหารไทยที่เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาหลังจากฝึกที่ฮาวายเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้มีการตรวจคัดกรองโรคทั้งหมด 151 ราย โดย 140 รายไม่พบเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จึงเดินทางเข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐใน จ.ชลบุรี ส่วน 10 ราย พบเข้าเกณฑ์จึงส่งตัวไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อตรวจเชื้อและอยู่ระหว่างรอผลการตรวจ และอีก 1 รายมีโรคประจำตัวที่ไม่ใช่โควิด-19 ได้ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกัน ดังนั้นสถานการณ์ไม่น่ากังวลสำหรับประชาชน
วันเดียวกัน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าถอดบทเรียนการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ร่วมทีมองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ระหว่างวันที่ 20-24 ก.ค. ใน 9 เสาหลักสำคัญ ได้แก่ 1.การประสานงาน การวางแผน การติดตามและประเมินผลในระดับประเทศ 2.การสื่อสารความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน 3.การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค และการติดตามผู้สัมผัส 4.ช่องทางเข้า-ออกประเทศ 5.ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ 6.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 7.การจัดการผู้ป่วย และการแบ่งปันความรู้ นวัตกรรมและการวิจัย 8.การสนับสนุนการปฏิบัติงานและการขนส่งในห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการกำลังคน และ 9.การบำรุงรักษาด้านบริการสุขภาพที่จำเป็นระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19
"ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนการดำเนินงานจัดการปัญหาโรคโควิด-19 โดยใช้เครื่องมือที่องค์การอนามัยโลกได้พัฒนาขึ้นมาใหม่" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ไทยร่วมถอดบทเรียนโควิด
ส่วน นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเข้าร่วมการถอดบทเรียนการดำเนินงานภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานป้องกันควบคุมโรค พัฒนาระบบบริหารจัดการภายใต้ภาวะฉุกเฉิน รวมถึงพัฒนากระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ดียิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทย พร้อมรับมือกับการระบาดระลอกสองที่อาจจะเกิดขึ้น
นพ.สมบัติกล่าวว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศมาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ยังมีการรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศในสถานกักกันที่สนับสนุนโดยรัฐบาล ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นในการป้องกันโรค
"สอดคล้องกับผลการประชุมเตรียมการถอดบทเรียน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค พบประเทศไทยมีความเข้มแข็งในการป้องกันควบคุมโรคที่ดี อันเกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับพื้นที่ที่ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการและให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี รวมถึงความร่วมมือจากประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ และให้ร่วมมือในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19" นพ.สมบัติกล่าว
ที่ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง สำนักงานเขตมีนบุรี กทม. พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มอบหมายให้ พล.ท.ปราการ ปทะวานิช ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) เป็นผู้แทนเดินทางมาตรวจเยี่ยมตรวจความเรียบร้อยการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ ประจำปี 2563 ซึ่งวันที่ 23 ก.ค. ถือเป็นวันแรกที่จัดพร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หน่วยตรวจเลือกได้เตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับการตรวจเลือกอย่างเต็มที่ มีการกำหนดขั้นตอนให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองการตรวจโรคโควิด-19 จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยแพทย์ทหาร หากพบมีความเสี่ยงจะแยกการตรวจเลือกเป็นการเฉพาะ ส่วนผู้ที่ผ่านการคัดกรองนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจเลือกตามปกติ คือการเรียกชื่อ การตรวจสอบเอกสาร ก่อนพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย จากนั้นแยกประเภทบุคคล การวัดขนาดร่างกาย และการจับใบดำ-ใบแดง โดยเป็นการตรวจเลือกรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพกำหนดวันตรวจเลือกตั้งแต่ 23 ก.ค.-9 ส.ค.2563 หรือจนกว่าการตรวจเลือกจะแล้วเสร็จ โดยทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1 จะเข้าประจำการในวันที่ 1-3 ก.ย.63 และผลัดที่ 2 จะเข้าประจำการในวันที่ 1-3 พ.ย.63 ซึ่งกองทัพได้ปรับลดเวลาการฝึกทหารลงจาก 10 สัปดาห์เป็น 6 สัปดาห์ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |